TNN Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

แล้ว Bosideng ดำเนินการปรับโฉมอะไรอีกบ้าง เราไปคุยกันต่อเลยครับ ...


ในด้านช่องทางการจัดจำหน่าย Bosideng ก็พยายามขยายช่องทางที่ผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์มากขึ้น ในด้านหนึ่งก็เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่ต้องการได้อย่างเหมาะสม และในอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องการเพิ่มความสะดวกแก่ผู้บริโภคในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัท ขยายการรับรู้สินค้าซีรีย์ใหม่ที่ล้ำสมัยได้อย่างรวดเร็ว


Bosideng เดินหน้าปรับโครงสร้างช่องทางจัดจำหน่ายที่เกี่ยวข้องในหลายส่วน เพื่อให้สอดรับกับสภาพปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติโควิดและพฤติกรรมการบริโภคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา


ในส่วนแรก บริษัทปรับลดจํานวนร้านค้าปลีกออฟไลน์โดยรวมนับร้อยแห่ง โดยจำแนกเป็นการลดจำนวนร้านที่ดําเนินการด้วยตนเองลง 193 แห่งเหลือ 1,206 แห่ง และเพิ่มร้านค้าปลีกที่ดําเนินการโดยผู้จัดจําหน่ายบุคคลที่ 3 จำนวน 83 แห่งเป็น 2,107 แห่ง


ในอีกส่วนหนึ่ง Bosideng ได้ขยายช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์มากขึ้น โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของจีน เช่น Alibaba (อาลีบาบา) รวมทั้งยังหันไปให้ความสำคัญกับการขยายตลาดไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน


จากข้อมูลของสมาคมเสื้อผ้าแห่งชาติจีนระบุว่า ในปี 2020 ตลาดเสื้อกันหนาวของจีนมีมูลค่าสูงถึง 130,000 ล้านหยวน และเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี


กอปรกับกระแสความนิยมการตั้งแคมป์และการใช้ชีวิตในชนบทที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจีน รวมทั้งผลพลอยได้จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่ปักกิ่ง ก็กระตุ้นความหลงใหลในการเล่นสกีและกีฬาฤดูหนาวอื่น


ยิ่งพอสภาพอากาศในจีนที่หนาวเย็นกว่าปกติในช่วงหลัง ก็ทำให้ตลาดเสื้อกันหนาวของจีนขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น ก็เป็นเสมือน “จุดสว่าง” ที่ปลายอุโมงค์ของบริษัทในเวลาต่อมา


นอกเหนือจากการริเริ่มกิจกรรม/โครงการด้านการตลาดที่เป็นส่วนหลักของ Bosideng เองแล้ว บริษัทยังใช้จังหวะโอกาสนี้ “อ้าแขน” ออกไปโอบกอดกิจการต่างชาติที่ต้องการขยายโอกาสทางธุรกิจในจีน ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ซึ่งส่งผลให้แบรนด์ Bosideng สามารถ “ทวีกำลัง” ภาพลักษณ์กับแบรนด์ชั้นนำของต่างชาติ และเสริมสร้างรายได้และผลกำไรโดยรวมของบริษัท


อาทิ การเป็นพันธมิตรกับ Bogner (บ็อกเนอร์) ซึ่งเป็นแบรนด์กีฬาฤดูหนาวและไลฟ์สไตล์สัญชาติเยอรมนีที่มีอายุกว่า 75 ปี แบรนด์นี้โด่งดังจากการริเริ่มเป็นผู้จัดแฟชั่นโชว์เสื้อผ้ากีฬาฤดูหนาวรายแรกของโลกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2


ตอนที่ Bogner ประกาศแผนการขยายธุรกิจในจีนครั้งแรกนั้น บริษัทกำหนดเป้าหมายที่จะสร้างรายได้ในตลาดหรูหราที่เติบโตอย่างรวดเร็วในจีน เพราะเล็งเห็นว่าตลาดนักกีฬาและแฟนกีฬาฤดูหนาวที่มีใจรักแฟชั่นและกีฬาฤดูหนาวของจีนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก


ผู้บริหารระดับสูงของ Bogner กล่าวในท่อนหนึ่งว่า การเป็นพันธมิตรกับ Bosideng ถือเป็น “ก้าวย่างสําคัญในเส้นทางการเติบโตในเวทีโลกของเรา และมีส่วนสนับสนุนกลยุทธ์ความเป็นสากลของเราอย่างสมบูรณ์แบบ ...”


“... เป้าหมายของ Bogner คือ การเป็นผู้เล่นที่เป็นที่ยอมรับในตำแหน่ง “Athluxury Sports Fashion” (แฟชั่นเสื้อกีฬาหรูหรา) ในจีนแผ่นดินใหญ่ สร้างมิติใหม่ให้กับการผสมผสานระหว่างแฟชั่นและกีฬา”


ความตกลงระหว่าง Bosideng และ Bogner นำไปสู่โครงการความร่วมมือมากมาย อาทิ การจัดตั้งสถานะด้านดิจิตัล และการเปิดร้านค้าปลีกจำนวน 80 แห่งในช่วง 5 ปีหลังจากนั้น

Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก reuters 

 

ความมุ่งมั่นในการทํางานร่วมกันเพื่อสร้างยอดขายยังขยายวงไปสู่แบรนด์ “Fire+Ice” (ไฟและน้ำแข็ง) ที่จับตลาดผู้ซื้อที่อายุน้อยกว่าและขับเคลื่อนด้วยแฟชั่นมากขึ้น ซึ่งนำเสนอในห้างสรรพสินค้าสุดหรูในจีน เช่น Plaza 66 ในใจกลางนครเซี่ยงไฮ้และ SKP ในกรุงปักกิ่ง


และด้วยผลจากการปรับกลยุทธ์และการดำเนินกิจกรรม/โครงการดังกล่าว ก็ทำให้ Bosideng สามารถเพิ่มยอดขาย 20.9% เป็น 7,500 ล้านหยวน และทำกำไรในระดับที่สูงกว่า โดยเพิ่มขึ้นถึง 25% เป็นเกือบ 920 ล้านหยวนในปี 2023


นี่หากพิจารณาถึง “เทศกาลน้ำแข็งและหิมะโลก” ที่จัดได้ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จมากขึ้นโดยลำดับ และ “Harbin 2025” ที่นครฮาร์บินจะได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาวในปีหน้าด้วยแล้ว Bosideng ก็น่าจะเสริมสร้างแบรนด์และโกยเงินหยวนเข้ากระเป๋าอีกเป็นจำนวนมาก


ในตลาดต่างประเทศ บริษัทยังเดินหน้าแคมเปญ “ตะวันออกพบกับตะวันตก” โดยขยายความร่วมมือกับนักออกแบบระดับนานาชาติผ่านหลายโครงการ อาทิ “Bosideng International Designer Joint Series” ในระหว่างปี 2019-2020 โดยจับมือกับนักออกแบบเสื้อผ้าชั้นนำ 3 รายจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอิตาลี


รวมไปถึงการร่วมมือกับอดีตผู้อํานวยการฝ่ายออกแบบของ Ralph Lauren (ราล์ฟ ลอเรน) และหัวหน้านักออกแบบของสายแฟชั่น Louis Vuitton (หลุยส์ วิตอง) และ Givenchy (จิวองชี)


 นอกจากนี้ Bosideng ยังเปิดไลน์ผลิตภัณฑ์ผ่านการพัฒนาเสื้อแจ็คเก็ตขนเป็ดรุ่นใหม่กับทากาดะ เคนโซ (Takada Kenzo) และฌอง ปอล โกลติเยร์ (Jean Paul Gaultier) หนึ่งในไอคอนการออกแบบของฝรั่งเศส และอดีตทีมงานฝ่ายศิลป์ของแบรนด์ Hermes (แอร์เมส) ที่แหวกกฎแฟชั่นและนําเสนอการออกแบบแฟชั่นสู่อนาคตสําหรับผู้บริโภค


นอกเหนือจากการเข้าร่วมงานสัปดาห์แฟชั่นในจีนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นับแต่ปี 2018 Bosideng ยังขยายความร่วมมือกับสัปดาห์แฟชั่นในหัวเมืองใหญ่ของโลก อาทิ ลอนดอน มิลาน และนิวยอร์ก เพื่อจัดแสดงให้โลกเห็นถึง “แฟชั่นที่มีอัตลักษณ์ของจีน” ในเวทีระหว่างประเทศ


แถมยังกลับไปเปิดร้านค้าปลีกระดับไฮเอนด์ในอิตาลีอีกหลายร้อยแห่งในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลอนดอน และอิตาลี เพื่อสร้างการรับรู้และบริการหลังการขายแก่ผู้บริโภค


Bosideng ยังร่วมมือกับแบรนด์สินค้าแฟชั่นชั้นนำของจีนและต่างประเทศมากมาย อาทิ Saturnino (แซ็ตเทิร์นนิโน) แบรนด์แว่นกันแดดของอิตาลี Moose Knuckles (มูส นัคเคิ้ลส์) แบรนด์เสื้อผ้าของแคนาดา และ Marrknull (มาร์คนัลล์) แบรนด์เครื่องประดับที่เข้าร่วมงานสัปดาหแฟชั่นในยุโรปอย่างต่อเนื่อง


Bosideng อะไรอีกบ้างตามไปอ่านต่อตอนหน้ากันครับ ...



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง