TNN เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เพื่อพัฒนาให้จีนกลายเป็นโรงงานของโลกยุคใหม่ เฟอร์นิเจอร์ไม่ใช่อุตสาหกรรมเดียวที่จีนพยายามยกระดับอย่างแน่นอน วันนี้ผมจะชวนไปส่องการปรับโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles) กันครับ ...

ก่อนอื่น เราต้องไม่ลืมว่า จีนเป็นประเทศที่มีการนำเข้าและใช้น้ำมันดิบมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็น “ภาระ” ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ รัฐบาลจีนจึงพยายามมองหาแนวทางและวิธีการที่จะช่วยลดแรงกดดันดังกล่าวมานาน

และหากมองย้อนกลับไปปี 2000 จีนยังเป็น “ผู้ตาม” ในเวทียานยนต์โลก และไม่มีทางก้าวขึ้นผู้นำโลกได้ด้วยเทคโนโลยีระบบสันดาปและเกมส์การแข่งขันเดิม

จีนจึงมองว่าการ “เปลี่ยนเลนแซง” ในเวทียานยนต์จาก “ระบบสันดาป” ไปสู่ “พลังงานทางเลือก” (Alternative Energy) นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลกแล้ว ยังจะทำให้จีนสามารถเอาชนะผู้ผลิตเดิม และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกได้


เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์พลังงาน “สีเขียว” ยังจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคทางเดินหายใจ ซึ่งลดภาระด้านงบประมาณการรักษาพยาบาลของภาครัฐไปในตัว

ปี 2001 อาจถือเป็นปีแรกๆ ที่รัฐบาลจีนเริ่ม “คิกออฟ” บรรจุโครงการวิจัยเทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่เข้าไว้ในแผนพัฒนา 5 ปี

ภาพการส่งเสริมชัดเจนมากขึ้นเมื่อรัฐบาลจีนใส่ “ยานยนต์พลังงานทางเลือก” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตในนโยบาย “Made in China 2025” โดยซ่อนไว้ซึ่งความพยายามในการสร้างฐานการผลิตภายในประเทศที่พึ่งพาตนเองมากขึ้นของ “รถยนต์ไฟฟ้า” (EVs) และ “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” (HPVs) ควบคู่กันไป

นโยบาย MIC 2025 ดังกล่าวเริ่มดำเนินการนับแต่ปี 2015 และเดินหน้าไปอย่างจริงจัง ผ่านไปไม่ถึงทศวรรษ EVs ของจีนพัฒนารุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

จีนกลายเป็นฐานการผลิต EVs ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถึงราว 60% ของกำลังการผลิตโดยรวม และมีคลัสเตอร์ที่พร้อมสรรพผุดขึ้นในหลายหัวเมือง ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบจากความประหยัดอันเนื่องจากขนาด (Economy of Scale)

ค่ายรถยนต์ทั้งของจีนและต่างชาติรวม 200 แบรนด์ต่างกระโดดเข้าไปสู่ตลาดจีนในปัจจุบัน กอปรกับสารพัดมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลจีน ก็ทำให้ EVs ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคในวงกว้าง หลายฝ่ายคาดว่า EVs จะมีสัดส่วนราว 20% ของตลาดรถยนต์นั่งโดยรวมของจีนภายในปี 2025

สิ่งนี้ทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร “นิ่งเฉยไม่ได้” เริ่มผุดมาตรการกีดกันผ่านสงครามการค้า (Trade War) และสงครามเทคโนโลยี (Tech War) ที่นำไปสู่การแยกห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ และจีนมากขึ้นในเวลาต่อมา

แต่จีนพัฒนาอุตสาหกรรม EVs รวดเร็วเช่นนี้ได้อย่างไร? เป็นคำถามที่อยากชวนคิดกันครับ …


เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


ประการแรก รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ โดยมองลึกลงไปตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่แห่งคุณค่า

อันที่จริง นี่เป็นแนวทางที่จีนดำเนินการกับหลายอุตสาหกรรมที่จีนต้องการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเซมิคอนดักเตอร์ที่เราเคยคุยกันไปก่อนหน้านี้

ในด้านอุปทาน จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาฐานการผลิต EVs ผ่านการ “เสริมกำลังภายใน” ผ่านการต่อยอดธุรกิจเดิม และสร้างกิจการรายใหม่ และการ “ดึงกำลังภายนอก” มาประสานพลัง

โดยในส่วนของกิจการยานยนต์ภายในประเทศ จีนใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตเดิมที่มีอยู่ ด้วยการผลักดันให้กิจการระบบสันดาปเดิมขยายธุรกิจไปสู่ EVs

ยกตัวอย่างเช่น แซ็คมอเตอร์ (SAIC Motor) รัฐวิสาหกิจด้านยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่เขตอันถิง นครเซี่ยงไฮ้ และมีแบรนด์ชั้นนำมากมายอยู่ในมือ อาทิ MG. Maxus และ Roewe ถือเป็นตัวอย่างที่ดี

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา SAIC ได้ทุ่มทุนพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำ EVs ของจีนในปัจจุบัน และยังก้าวกระโดดต่อไปยังรถยนต์ไร้คนขับ (Driverless Vehicles) อีกด้วย

ขณะที่เกรตวอลล์มอเตอร์ (Great Wall Motor) ธุรกิจเอกชนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย มีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิต SUVs และรถปิกอัพรายใหญ่สุดของจีน โดยทำตลาดภายใต้แบรนด์ GWM, Haval, Wey, Tank และ Ora เป็นต้น และนำเอาบางแบรนด์เข้ามาทำตลาดในไทยแล้ว

อีกรายหนึ่งที่กำลังสนใจจะเข้ามาลงทุนในไทยก็ได้แก่ กลุ่มจีเอซี (GAC Group) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านยานยนต์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1954 ณ นครกวางโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง

“Guangzhou Automobile Group Corp.” จึงถือเป็นกิจการเก่าแก่ของจีน และติด 5 อันดับแรกของผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่สุดของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียง อาทิ Trumpchi, Aion และ Hycan รวมทั้งยังร่วมลงทุนกับหลายแบรนด์ต่างชาติ อาทิ Toyota, Honda, Jeep และ Mitsubishi

ในส่วนของธุรกิจเอกชน จีนก็มีกิจการรายใหญ่หลายรายเช่นกัน กลุ่มเจ้อเจียงจีลี่โฮลดิ้ง (Zhejiang Geely Holding Group) มีสำนักงานใหญ่ในนครหังโจว เมืองเอกของมณฑลเจ้อเจียง ที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้


เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ภายใต้แบรนด์ของตนเองมากมาย อาทิ Geely Auto, Geometry, Maple และ Zeekr รวมทั้งแบรนด์ต่างชาติ อาทิ Volvo, Polestar, Lynk & Co, Proton และ Lotus

อีกรายที่อดพูดถึงไม่ได้ก็คือ บีวายดีออโต้ (BYD Auto) ซึ่งจัดเป็นสตาร์ตอัพที่ต่อยอดจากธุรกิจแบ็ตเตอรีจนก้าวเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีนในชั่วกระพริบตา

ภายใต้สโลแกน “สร้างความฝันของคุณ” (Build Your Dream) บริษัทฯ เน้นการจับตลาดคนรุ่นใหม่ในวัยทำงาน และให้ความสำคัญกับการทำการตลาดในต่างประเทศ

นอกจากผู้ประกอบการดังกล่าว จีนยังมีแบรนด์ที่ขยายไลน์ธุรกิจไปยัง EVs หรือเป็นสตาร์ตอัพ EVs เพียวๆ อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ Chery, Chang Li, ChangAn Automobile, Leap Motor, Wuling, Neta, Nio, XPeng และ Li Auto

โดยในชั้นนี้ บางรายก็ทยอยเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว และคาดว่าจะมีอีกหลายแบรนด์ที่จะทยอยตามเข้ามาอีกมากในอนาคต

คราวหน้าผมจะพาไปส่องการดึงดูด “กำลังภายนอก” มาเสริมกับ “กำลังภายใน” และการพัฒนาคลัสเตอร์ส่วนอื่นของอุตสาหกรรม EVs ของจีนกันครับ ...




ภาพจาก รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง