TNN เมื่อมังกรพัฒนา MRI ล้ำสมัย โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรพัฒนา MRI ล้ำสมัย โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรพัฒนา MRI ล้ำสมัย โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรพัฒนา MRI ล้ำสมัย โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

การดำเนินนโยบาย “การสาธารณสุขถ้วนหน้า” กับประชากรกว่า 1,400 ล้านคนที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “อมโรค” และโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับรัฐบาลจีน จึงไม่น่าแปลกใจว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง 

ขณะเดียวกัน จีนก็ใส่ใจกับการแพทย์ที่เป็นของตนเอง โดยไม่ปฏิเสธการแพทย์สมัยใหม่ ส่งบุคลากรมากมายไปร่ำเรียนจากโลกตะวันตก จึงเห็นความพยายามในการผสมผสานระหว่างการแพทย์ตะวันตกกับการแพทย์แผนจีนเข้าด้วยกัน 

และหนึ่งในความพยายามสำคัญก็ได้แก่ การพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้นใช้ภายในประเทศ โดยอาศัยประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่รุดหน้า และการดึงดูดการลงทุนของกิจการข้ามชาติจากต่างประเทศ 

และเมื่อเร็วๆ นี้ จีนก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการประสบความสำเร็จในการผลิต MRI โดยอาศัยเทคโนโลยีของตนเอง ...

MRI มีชื่อเต็มว่า “Magnetic Resonance Imaging” เป็นเครื่องสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุความเข้มสูง ถูกคิดค้นขึ้นโดย บลอช (Bloch) และเพอร์เซลล์ (Purcell) เมื่อปี 1971 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว การค้นพบในครั้งนั้นทำให้ทั้งสองท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกัน

ด้วยความหลากหลายในการใช้งานทางการแพทย์ เครื่อง MRI ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและรวดเร็วมากในวงการแพทย์สมัยใหม่ในเวลาต่อมา โดยประเมินว่ามีเครื่อง MRI ถูกใช้งานทั่วโลกกว่า 25,000 เครื่องในปัจจุบัน 

ความนิยมใช้เครื่อง MRI ทำให้ผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องจัดสัมมนาวิชาการ หลักสูตรพิเศษ และกิจกรรมพิเศษอื่นมากมายในหลายประเทศเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาและการใช้เครื่อง MRI อย่างแพร่หลาย

รายงานหนึ่งระบุว่า ในปี 2023 ตลาด MRI โลกมีมูลค่า 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเฉียดหลัก 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2029 ขยายตัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปี

ขณะเดียวกัน ตลาด MRI ของจีนมีมูลค่าราว 370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 480 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน 5 ปีข้างหน้า ขยายตัวเฉลี่ย 5.5% ต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว

ในด้านคุณประโยชน์ โดยที่เครื่อง MRI ไม่ได้ใช้รังสีใดๆ ทำให้ช่วยเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการตรวจโรคร้ายแรงแก่คนไข้ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง แต่ท่านผู้อ่านที่มีประสบการณ์ตรวจด้วยเครื่อง MRI เป็นครั้งแรก นอกจากจะตื่นเต้นแล้ว ส่วนใหญ่ยังจะรู้สึกไม่สบายตัวและมีระดับความพึงพอใจต่ำในการใช้บริการ 

ในกระบวนการตรวจด้วยเครื่อง MRI คนไข้ต้องเตรียมตัวด้วยการฉีดสารเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็กเข้าไปในอวัยวะที่ต้องการตรวจ ขณะเดียวกัน ระหว่างการตรวจ เครื่อง MRI จะส่งเสียงดังเป็นจังหวะ คนไข้จึงต้องใส่อุปกรณ์อุดหู

ระหว่างการตรวจ คนไข้จำเป็นต้องอยู่นิ่งๆ ในพื้นที่แคบๆ เพื่อให้บันทึกภาพ เช่นเดียวกับการตรวจด้วยเครื่องเอกซ์เรย์ ลองนึกถึงคนไข้ที่ต้องนอนนิ่งๆ กระดุกกระดิกตัวไม้ได้นานนับชั่วโมง หรือถูกห้ามมิให้กลืนน้ำลายในบางขณะ

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จในการคิดค้นเครื่อง MRI ของจีนในครั้งนี้ช่วยให้แพทย์สามารถวิเคราะห์โรคภัยไข้เจ็บของคนไข้แบบรอบด้านอย่างสะดวกและรวดเร็ว สิ่งนี้ต้องยกเครดิต “เต็มๆ” ให้แก่รัฐบาลจีนและการบูรณาการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่สนับสนุนด้านการเงิน บุคลากร และทรัพยากรอื่นในระยะแรกของการพัฒนา

โดยในปี 2022 สถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเซินเจิ้น (Shenzhen Institute of Advanced Technology) ภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเครื่อง MRI สายพันธุ์มังกร ได้รับเงินสนับสนุนถึง 3,300 ล้านหยวน 

ในจำนวนนี้ ราว 17% มาจากกองทุนของหน่วยงานภาครัฐ และอีก 83% มาจากความร่วมมือทางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากในประเทศอื่น

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังเข้าไปทำงานในอาคารเดียวกันที่มีชื่อว่า “ศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมวิศวกรรมชีวภาพ (Shenzhen Engineering Biological Industry Innovation Center) ซึ่งช่วยลดช่องว่างและระยะห่างระหว่างนักวิจัยกับความต้องการของตลาด 

คณะนักวิจัยและผู้ประกอบการที่มีห้องทำงานใกล้ชิดติดกันกลายเป็น “เพื่อนบ้าน” กันไปโดยปริยาย ทำให้สามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดระหว่างกันได้อย่างสะดวก ส่งผลให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงาน และความรวดเร็วในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม

มิติด้านคุณภาพคือคำถามที่หลายคนสนใจ ภายหลังเครื่อง MRI ของจีนได้ถูกนำมาทดลองใช้ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปักกิ่งแห่งเซินเจิ้น (Peking University Shenzhen Hospital) ระยะเวลาหนึ่ง ก็พบว่า คุณภาพของภาพสแกนที่ได้มิได้ด้อยไปกว่าของเครื่อง MRI ขั้นสูงของต่างประเทศ

และเมื่อเปรียบเทียบภาพเนื้องอกที่ถ่ายจากอุปกรณ์ยุคเดิมก็พบว่า อุปกรณ์ MRI ของจีนไม่เพียงให้ภาพที่มีคมชัดและมีความละเอียดสูงเท่านั้น แต่ยังทำงานด้วยความเร็วอีกด้วย ทำให้แพทย์สามารถจับตำแหน่งของเนื้องอกได้แม่นยำยิ่งขึ้น

รองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์และสุขภาพ (Institute of Biomedical and Health Engineering) ภายใต้ SIAT ยังให้ข้อมูลด้านเทคนิคไว้อย่างน่าสนใจว่า กระบวนการ MRI แบบเก่าเหมือนกับการถ่ายภาพทีละภาพ หากเป้าหมายขยับเพียงเล็กน้อย ภาพสุดท้ายจะไม่ชัดเจน แต่ด้วยเทคโนโลยีการถ่ายภาพที่รวดเร็วเหมือนกับการสร้างภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่จึงไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับเนื้อเยื่อที่เคลื่อนไหว และยังสามารถดูได้ว่า เนื้อเยื่อมีสภาพเช่นไรเมื่อมันเคลื่อนไหว

นอกจากนี้ SIAT ยังพัฒนาเครื่องสแกนด้วยอัลตราซาวด์ที่สามารถตรวจพบความผิดปกติของตับ หน้าอก และอวัยวะอื่นได้ในระยะต้น ซึ่งทำให้สามารถรักษาให้หายได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน อุปกรณ์การตรวจระบบประสาทด้วยอัลตราซาวด์ก็ถูกพัฒนาและเริ่มทดลองใช้ ซึ่งส่วนหลังนี้เป็นประโยชน์ต่อการตรวจรักษาโรคพาร์กินสัน ลมบ้าหมู และอัลไซม์เมอร์

คำถามถัดมาก็คือ ค่าใช้จ่ายเป็นเช่นไร แม้ว่าข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่า ตลาดเครื่อง MRI มีระดับการแข่งขันสูง โดยมีผู้เล่นหลัก อาทิ Siemens Healthineers, GE Healthcare, Canon Medical Systems, และ Philips Healthcare ที่ครองสัดส่วนตลาดโลกไว้เกือบทั้งหมด 

แต่เทคโนโลยีการผลิตก็ยังมีลักษณะที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในบางประเทศเท่านั้น ทำให้เครื่อง MRI มีราคาสูง ส่งผลให้ค่าบริการตรวจ MRI ที่ผ่านมามีค่าใช้จ่ายสูงตามไปด้วย และเป็นภาระทางการเงินแก่โรงพยาบาลและคนไข้อยู่มาก ทำให้คนไข้จำนวนมากไม่อาจเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ 

แต่ภายหลังจีนได้คิดค้นและผลิตเครื่อง MRI จำนวนมากแบบ Mass Production ออกสู่ท้องตลาดก็เป็นการยุติการผูกขาดด้านเทคโนโลยีของบางประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน 

ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เครื่อง MRI สายพันธุ์มังกรที่มีราคาต่ำกว่า จะช่วยลดค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยลงได้อย่างแน่นอน นั่นหมายความว่า เครื่อง MRI ของจีนจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่คนไข้ในอนาคต 

ในกรณีของจีนและประเทศที่ดำเนินนโยบายการสาธารณสุขถ้วนหน้าหรือคล้ายคลึง รัฐบาลที่เกี่ยวข้องก็น่าจะสามารถประหยัดงบประมาณด้านการสาธารณสุข ลดระดับการพึ่งพาการนำเข้าหรือมีทางเลือกในการจัดซื้อ และขยายบริการและยกระดับความพึงพอใจแก่ประชาชนได้ในวงกว้าง 

การคิดค้นเครื่อง MRI เจนใหม่ของจีนในครั้งนี้จะก่อประโยชน์อย่างมากต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีการแพทย์ของโลก

ต้องถือว่าจีนนี่สุดยอดแห่งนักประดิษฐ์จริงๆ เพราะสามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จากรถไฟฟ้า รถไร้คนขับ เครื่องบินพาณิชย์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า สู่เครื่องมือทางการแพทย์ และผมเชื่อมั่นว่า เครื่อง MRI จะไม่ใช่สิ่งสุดท้ายอย่างแน่นอน ...


ภาพจากChinese Academy of Sciences

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง