TNN Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้อ่านหลายท่านอาจได้มีโอกาสแวะเวียนไป “ดื่มด่ำ” กับความเย็นในจีน และอาจสังเกตเห็นคนจีนเข้าไป “คราคร่ำ” เลือกเสื้อกันหนาวตัวใหม่ในร้าน “Bosideng” (โบซิเติง) กันเป็นจำนวนมาก


แม้กระทั่งล่าสุดที่ผมมีโอกาสพาผู้ประกอบการไทยไปส่องลู่ทางและโอกาสทางธุรกิจที่นครอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ซึ่งสภาพอากาศของจีนในปีนี้ดูจะเย็นกว่าปกติ ทำให้เสื้อกันหนาวที่หลายท่านเตรียมไปไม่อาจต้านอุณหภูมิที่หนาวเย็นได้


หลายคนในคณะจึงแวะเวียนเข้าไปมองหาเสื้อกันหนาวตัวใหม่ ครั้นพอเข้าไปสัมผัสเสื้อกันหนาวสุดเท่ห์และเบาสบายที่แขวนโชว์อยู่ในร้านของ Bosideng เท่านั้น ก็เหมือนต่าง “ต้องมนต์” และได้เสื้อกันหนาวกลับออกมากันคนละหลายตัวเลยครับ


แต่ผมก็เชื่อเหลือเกินว่า ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่อาจขมวดคิ้วสงสัยหรือร้องเสียงหลงเหมือนกับผมเมื่อได้ยินชื่อแบรนด์ “Bosideng” นี้เป็นครั้งแรก


แบรนด์นี้มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงสามารถเติบใหญ่ และแหกกฎการสร้างแบรนด์จนก้าวมาเป็นแบรนด์เสื้อกันหนาวชั้นนำของจีน หรือไต่สู่ระดับโลกได้ในวันนี้ ...


Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก reuters

 


 

นับแต่ต้นปีมังกร จีนมีหลายปรากฏการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ประการแรก รัฐบาลจีนต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างจริงจังเพื่อพลิกฟื้นความรู้สึกของประชาชน การท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศให้กลับสู่สภาวะปกติในยุคหลังโควิดอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดเป็น “หิมะลูกใหญ่” ในอนาคต


ประการที่ 2 สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ ปี 2025 ฮาร์บินจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาว (Asian Winter Games) ครั้งที่ 9 โดยจะถือเป็นครั้งที่ 3 ที่จีนได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพหลัง “Harbin 1996” และ “Changchun 2007”


“Harbin 2025” คาดว่าจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-14 กุมภาพันธ์ ซึ่งจงะต่อเนื่องจากงานเทศกาลน้ำแข็งและหิมะโลก (Harbin Ice and Snow World) และช่วงหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน


ดังนั้น ผมจึงเชื่อมั่นว่า “Harbin 2025” จะเป็นกิจกรรมสุดพิเศษที่ชาวเอเซียจะได้ผ่านประสบการณ์เอเชี่ยนเกมส์ฤดูหนาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา


ประการที่ 3 เนื่องจากช่วงต้นปี จีนยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว และเทศกาลใหญ่สุดก็คงหนีไม่พ้น เทศกาลน้ำแข็งและหิมะโลก” ที่เมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง ครั้นคนจีนต้องการออกมาใช้ชีวิตภายนอกบ้านในช่วงฤดูหนาวในพื้นที่ทางตอนเหนือที่อุณหภูมิติดลบ 30-40 องศาเซลเซียส ก็จำเป็นต้องเสื้อกันหนาวคุณภาพดี


หากอุปกรณ์พร้อม คนจีนก็กลับมาสู่ความคลั่งไคล้ “กีฬากลางแจ้ง” และเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและของโลกได้ เราจึงเห็นภาพการเปิดตัวเสื้อกันหนาวคอลเลกชั่นใหม่ของ 

Bosideng เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความนิยมในการเล่นสโนว์บอร์ด การปีนเขาของชาวจีน และอื่นๆ


Bosideng ... แบรนด์เสื้อกันหนาวจีนที่แหกกฎการสร้างแบรนด์โลก (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก reuters

 


Bosideng ก่อกำเนิดขึ้นในหมู่บ้านเล็กๆ ในมณฑลเจียงซู ใกล้เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 1975 หรือก่อนจีนเปิดประเทศสู่โลกภายนอกไม่นาน ตอนนั้น เกา เต๋อคัง (Gao Dekang) ได้จับมือกับชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 11 คน และต่อยอด “วิทยายุทธ” วิธีการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ได้เรียนรู้จากคุณพ่อของเขามาเริ่มต้นประกอบธุรกิจ


ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ของแบรนด์ “Warming the World” (การทำให้โลกอบอุ่น) ธุรกิจก็ค่อยๆ เติบโตโดยลำดับในเวลาต่อมา กอปรกับกระแสความนิยมเสื้อกันหนาวคุณภาพ

ในปี 1990 ก็กระตุ้นให้ Bosideng คิดพัฒนาสายผลิตภัณฑ์เสื้อแจ็คเก็ตขนเป็ดของตัวเอง และขยายสู่ตลาดต่างประเทศใน 2 ปีต่อมา


ในช่วงกลางปี 2000 เสื้อแจ็คเก็ตขนเป็ดเริ่ม “ติดลมบน” และก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดระดับกลางของจีน


อย่างไรก็ดี หลังจากการเติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าว แบรนด์กลับประสบปัญหาอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะ Bosideng พยายาม “ลองทุกอย่าง” จนผู้บริโภค “สับสน” เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของแบรนด์ และส่งผลให้การเดินทางสร้างแบรนด์ Bosideng สู่ระดับโลกไม่ราบรื่น


ในปี 2012 Bosideng ทุ่มเงินลงทุนถึง 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เปิดร้านขายปลีกในใจกลางกรุงลอนดอน แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่าและปิดตัวลงใน 5 ปีต่อมา โดยที่ผู้คนแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแบรนด์หรือเรื่องราวของแบรนด์เลย


อันที่จริง ความล้มเหลวของ Bosideng ดังกล่าวเกิดขึ้นกับหลายแบรนด์จีนที่พยายามรุกสู่ตลาดต่างประเทศ อาทิ OPPO (อ็อปโป้)


เราอาจเห็นแบรนด์สมาร์ทโฟนจีนได้ทุกที่ในจีน ตั้งแต่เมืองใหญ่ไปจนถึงเมืองเล็ก มือการตลาดที่เกี่ยวข้องอาจรวบรวมคุณค่าของแบรนด์ผ่านการนําเสนอแบบออฟไลน์ แต่ก็อาจมุ่งเน้นไปที่วิธีการดั้งเดิมในการขยายแบรนด์ อันได้แก่ การขายและการจัดจําหน่ายเป็นสำคัญ


ขณะที่แบรนด์ตะวันตก อาทิ Burberry (เบอร์เบอรี่) และ Unilever (ยูนิลีเวอร์) จะเข้าใจพลังของการสร้างแบรนด์และการเล่าเรื่องอย่างชัดเจน โดยปรับวิธีการให้สอดคล้องกับ “ความคาดหวัง” ของตลาดและผู้บริโภค


กล่าวคือ การให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องยากสําหรับแบรนด์จีนที่ใช้วิธีการเดิมๆ จะประสบความสําเร็จในตลาดตะวันตก


ในปี 2014 ยอดขายและกําไรขั้นต้นของบริษัทเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว และลดลงเป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่องกัน
Bosideng ทำอย่างไรจึงสามารถพลิกฟื้นสถานการณ์ดังกล่าวจนสามารถกลับมามีสัดส่วนทางการตลาดคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของตลาดเสื้อแจ็คเก็ตดาวน์ ซึ่งนับว่าที่ใหญ่ที่สุดในจีนเลยทีเดียว
ไปติดตามกันต่อในตอนหน้า ...



ภาพจาก reuters

ข่าวแนะนำ