TNN เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน


ในอดีต ขยะถือเป็นสิ่งที่ถูก “มองข้าม” และไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้กลายเป็น “ภาระ” ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี โลกในยุคใหม่หันมาให้ความสนใจกับการจัดการขยะและนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม


ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จีนนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมากที่สุดในโลก สถิติระบุว่า ปริมาณขยะของจีนขยายตัวกว่า 10เท่าตัวนับแต่เปิดประเทศสู่โลกภายนอก หรือในช่วงราว 45 ปีที่ผ่านมา

เราคงพอจินตนาการต่อได้ว่า หากขยะยังคงเพิ่มขึ้นเช่นนี้และไม่ทำอะไร “ขยะคงล้นจีน” และส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างไม่คาดคิดเป็นแน่


ในด้านหนึ่ง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข หรือหากการจัดการขยะจํานวนมหาศาลดังกล่าวผิดพลาดปัญหาดังกล่าวอาจใหญ่มากพอที่จะขัดขวางความก้าวหน้าของจีน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


เพราะปัญหาดังกล่าวอาจทําให้เกิดความเครียดต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนจีน อาทิ มีแหล่งน้ำปนเปื้อน ดินเสื่อมโทรม อากาศเสีย ทำให้เมืองไม่น่าอยู่และบั่นทอนความสุขทางกายและใจของภาคประชาชน 


แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากได้รับการจัดการที่ดีอย่างจริงจังและเป็นระบบ ก็อาจสร้างประโยชน์ได้มากมายในหลายด้าน รัฐบาลจีนจึงปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก “เชิงรับ” เป็น “เชิงรุก” กำหนดนโยบายและมาตรการจัดการขยะ รวมทั้งผลักดันการดำเนินงานอย่างจริงจัง จึงทำให้การแยกขยะในจีนรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว


ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจีนออกแบบและเดินหน้าพัฒนาทั้งระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกขยะ การนำขยะกลับมาใช้ใหม่ การเผาขยะ การพัฒนาถังขยะอัจฉริยะ เตาเผาขยะ บิ๊กดาต้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การคัดแยกขยะ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานก่อนนำไปผ่านกระบวนการเพิ่มมูลค่าที่มีประสิทธิภาพ แถมยังซ่อนไว้ซึ่งประโยชน์คุณูปการในหลายส่วน 


ประการแรก การคัดแยกขยะช่วยลดมลพิษทางดิน น้ำ และอากาศ ก่อให้เกิดความสะอาดในพื้นที่ชนบทและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวม การใช้ชีวิตในเมืองและหมู่บ้านที่สะอาดส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจของผู้คน 


ประการที่สอง การกําจัดขยะอย่างมีความรับผิดชอบช่วยลดการสัมผัสกับเชื้อโรค ลดการแพร่ระบาดของโรค และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชนบท 


ประการที่สาม การคัดแยกขยะยังช่วยให้สามารถรีไซเคิลและนําขยะกลับมาใช้ใหม่ อาทิ ถุงพลาสติกและกล่องกระดาษ ลดต้นทุนการครองชีพ และทําให้มีเงินเหลือสำหรับการใช้จ่ายในด้านการศึกษา โภชนาการ และความบันเทิงได้มากขึ้น


ประการสุดท้าย นอกจากประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวโดยตรงการคัดแยกขยะยังมีส่วนร่วมในสวัสดิการโดยรวมของชุมชนอีกด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ความเคารพและคำชื่นชมจากคนในชุมชน และช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่กลมกลืนกันภายในชุมชนอีกด้วย


เมื่อจีนเดินหน้าคัดแยกขยะถ้วนหน้าทั่วจีนในปี 2025 (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


ย้อนกลับไปเมื่อ4 ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนก็ประกาศดำเนินนโยบายนี้ตามสุภาษิต “การเดินข้ามลำธารโดยใช้เท้าสัมผัสหิน” โดยกำหนดให้เซี่ยงไฮ้ได้เริ่ม “นำร่อง” การคัดแยกขยะภาคบังคับเป็นเมืองแรกในจีน 


นโยบายคัดแยกขยะภาคบังคับของเซี่ยงไฮ้ถูกประกาศและมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2019 ผมจำได้ว่า ถังขยะแบบหลากสีหลายช่องนับแสนใบถูกส่งเข้าแทนถังขยะรูปแบบเดิมในชั่วข้ามคืนในตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ เรียกว่าเช้าตื่นขึ้นมา หลายคนนึกว่าเมื่อคืนนี้ใครเอาสีมาทาเมืองจนดูสดชื่นและมีสีสัน 


กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้ง “ไม้หนักและไม้นวม” อาทิ มาตรการจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ และมาตรการลงโทษ เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย และมีผลกระทบที่คาดไม่ถึงสําหรับภาคการแปรรูปขยะ


ผมเคยพูดคุยกับคนจีนและรับทราบว่า รัฐบาลท้องถิ่นของจีนให้เงินอุดหนุนการจัดซื้อถังขยะครัวเรือน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน การติดตั้งระบบปุ๋ยหมักครัวเรือนเพื่อลดปริมาณขยะเปียก และการสร้างระบบ “รับคืนผลตอบแทน” สําหรับภาชนะพลาสติก อลูมิเนียม และแก้วเพื่อกระตุ้นการรีไซเคิล 


ยิ่งในช่วงหลัง “ถังขยะอัจฉริยะ” ถูกพัฒนาและกระจายไปอยู่ตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ ใครทิ้งขยะถูกช่องก็ได้แต้มสะสมในสมาร์ตโฟน และสามารถนำแต้มสะสมเหล่านั้นไปแลกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคตามโมเดิร์นเทรดและร้านรวงที่กระจายตัวในเมืองได้


มาตรการจูงใจเหล่านี้ยังถูก “เปิดกว้าง” ให้อาจแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เพื่อความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และในทางกลับกัน ก็ยังกำหนดบทลงโทษทางการเงินสําหรับการกําจัดขยะที่ขาดความรับผิดชอบอีกด้วย เช่น การพักแต้มสะสมดังกล่าว


ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบท (Ministry of Housing and Urban-Rural Development) ก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมที่ชิงเต่า เมืองเศรษฐกิจหลักของมณฑลซานตง ด้านซีกตะวันออกของจีนเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาว่า “การคัดแยกขยะเป็นหนึ่งในลําดับความสําคัญของกระทรวงในปีนี้” 


โดยเร่งเร้าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามมากขึ้นในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างแพลตฟอร์มการจัดการขยะในครัวเรือนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และเสริมสร้างความสามารถในการเผาขยะ


รัฐบาลจีนยังเห็นชอบให้ส่งเสริมการจัด “สัปดาห์การคัดแยกขยะ” ทุกปีในช่วงสัปดาห์ที่4 ของเดือนพฤษภาคม เพื่อกระตุ้นเตือนให้การคัดแยกขยะเป็น “พฤติกรรมปกติ” ระดับบุคคล ครัวเรือน และองค์กร


รัฐบาลจีนยังได้รวบรวมและนำเอา “ผลลัพธ์” เชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการคัดแยกขยะในแง่มุมต่างๆ ไปเผยแพร่ผ่านสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง เพื่อสร้าง “ความรับรู้” และขยาย “การมีส่วนร่วม”


ทั้งนี้ การคัดแยกขยะดําเนินการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากไม่ถึง 50 เมืองในปี 2019 เป็นราว300 เมือง ณ กลางปี 2023 คิดเป็นอัตราความครอบคลุมเฉลี่ย 82.5% ในชุมชนที่อยู่อาศัย


และจนถึงปัจจุบัน ข้อบังคับเรื่องการคัดแยกขยะถูกนำไปปฏิบัติใช้ในเกือบทุกเมืองใหญ่ของจีนแล้ว โดยบรรลุเป้าหมายการคัดแยกขยะในชุมชนเมืองมากกว่า 90% ณ สิ้นปี2023 


แต่จีนก็ยังไม่หยุดเพียงแต่นั้น เพราะได้กำหนดเป้าหมายที่จะดําเนินการคัดแยกขยะใน “ทุกหัวเมือง” ภายในปี 2025


คราวหน้าเราจะไปติดตามกันต่อว่า ในความพยายามที่จะจัดการขยะในวงกว้าง รัฐบาลจีนต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง และดำเนินการอย่างไรในการจัดการขยะ ...



ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง