TNN online เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอน2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอน2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอน2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เราไปเจาะลึกกันต่อว่าผลจากการเดินทางมาเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาล่างของสหรัฐฯ ทำให้ชาวจีนมีปฏิกริยาเช่นไร รัฐบาลจีนออกอาวุธและแก้เกมอย่างไรในวิกฤติไต้หวันครั้งนี้ และปัญหาจะดำรงอยู่ในระยะยาวหรือไม่ อย่างไร ...

ก่อนอื่น เราต้องยอมรับว่า การเยือนไต้หวันของเพโลซีในครั้งนี้ก็ทำให้จีน “เสียหน้า” ไม่น้อย ซึ่งในวัฒนธรรมจีนถือเป็นสิ่งที่เสียมารยาทอย่างยิ่ง จึงไม่แปลกใจที่ “เวยปั๋ว” สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังของจีน ร้อนระอุต่อเนื่องหลายวัน และเต็มไปด้วยถ้อยคำต่อว่าด่าทอ และตั้งสมญานามใหม่ของแนนซี เปโลซี และไช่ อิงเหวิน อย่างไม่มีชิ้นดี

ชาวจีนสาย “ฮาร์ดคอร์” จำนวนมากต่างเรียกร้องให้รัฐบาลจีนออกมาตรการตอบโต้ “ขั้นเด็ดขาด” ที่รุนแรงมากขึ้นในทันที ขณะที่บางรายยังเปรยว่า วิกฤติในครั้งนี้เป็นตัวเร่งเร้าชั้นดีที่จะทำให้ “ความฝัน” ของพี่น้องชาวจีนเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดคิด

แม้ว่าจีนจะถูกยั่วยุอย่างไร้ความรับผิดชอบในครั้งนี้ แต่ก็ถือเป็นโชคสำหรับประเทศในภูมิภาค และแม้กระทั่งมวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้ รัฐบาลจีนเลือกใช้ภูมิปัญญาและความสุขุมคัมภีรภาพกำหนดแนวทางในการแก้ไขวิกฤติดังกล่าวที่ถูกต้องและเหมาะสม ถือว่า “ผ่าน” บททดสอบครั้งสำคัญในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอย่างแท้จริงในอนาคต

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

จีนเลือกดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจอย่างละมุนละม่อม และค่อยเป็นค่อยไป โดย “บีบเค้น” ไปจนถึง “ปิดจุด” ในมิติเชิงเศรษฐกิจของรัฐบาล นักการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องของไต้หวันก่อน จนทำให้ไต้หวันไม่อาจเดิน “ลมปราณ” ได้คล่องตัวดั่งเคย และเพียงมาตรการชุดแรก ก็เริ่มส่งผลให้อาการเศรษฐกิจของไต้หวัน “ติดขัด” บ้างแล้ว 

ในทางเศรษฐกิจ หลายคนจึงประเมินว่า ไช่ อิงเหวิน“สอบตกซ้ำชั้น”ตอนปลายภาค เพราะคิดแต่จะหวังผลในทางการเมือง และประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเป็นสำคัญ โดยมิได้ประเมินผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นจากการตอบโต้ของจีน ทั้งที่ จีนและไต้หวันเป็นคู่ค้าและคู่เศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ใกล้กันเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงบิน และมีรากเหง้าเชื้อสายเดียวกัน

เราเห็นรัฐบาลจีนประกาศมาตรการแซงชั่นทางการค้าในทันที สั่งระงับการนำเข้าสินค้าอาหารกว่า 2,000 รายการอาทิ ชา ผลไม้ ขนมขบเคี้ยว น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์ประมง จาก 100 ซัพพลายเออร์ที่สนับสนุนไช่ อิงเหวินในทางการเมือง 

การส่งออกอาหารของไต้หวันสู่ตลาดจีนมีมูลค่าตกปีละ 1,120 ล้านเหรียญสหรัฐฯคิดเป็นราว 20% ของการส่งออกโดยรวมในส่วนนี้ ไทยจะสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวเอาประโยชน์ได้หรือไม่ อย่างไร ก็ถือเป็น “บททดสอบ” ที่สำคัญของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่รับผิดชอบ 

ขณะเดียวกัน ในทางการเมือง การระงับการนำเข้าของจีนในครั้งนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อฐาน SMEs ที่สนับสนุนและต่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของไช่ อิงเหวิน อย่างแน่นอน

จีนยังระงับการส่งออกทรายธรรมชาติไปยังไต้หวันอย่างไม่มีกำหนด ไต้หวันใช้ทรายคุณภาพต่ำเพื่อการก่อสร้าง อาทิ การผลิตคอนกรีต ยางมะตอยและอื่นๆ ขณะเดียวกันก็นำเอาทรายคุณภาพสูง อาทิ ควอทซ์ (Quarts) ซึ่งคิดเป็น 8% ของทั้งหมด ไปคัดแยกเพื่อสกัดเอาซิลิกาก่อนนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกหลักของไต้หวันในปัจจุบัน

โดยที่ไต้หวันพึ่งพาแหล่งทรายคุณภาพสูงจากจีนถึง 90% ของการนำเข้าโดยรวม การระงับการส่งออกทรายของจีนอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ TSMC,UMC และ MediaTek การนำเข้าทรายคุณภาพจากแหล่งอื่น อาทิ เวียตนาม และสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบในด้านคุณภาพ และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

อันที่จริง จีนยังมี “ไม้ตาย” ด้านการค้าอีกหลายกระบวนท่าประการแรก ไต้หวันค้าขายกับจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของการค้าโดยรวม ดังนั้น การยุติการค้าระหว่างกันจะส่งผลกระทบต่อไต้หวันในระดับที่สูงกว่าของจีน จีนน่าจะมีความสามารถในการหาแหล่งซัพพลายเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าของไต้หวันได้ง่ายกว่าในเชิงเปรียบเทียบ

ขณะเดียวกัน เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของจีนและไต้หวันที่เชื่อมโยงคลัสเตอร์และพึ่งพาระหว่างกันที่สูงมากจีนมีอำนาจต่อรองในส่วนของต้นน้ำและปลายน้ำ อาทิ การคุมแหล่งแร่หายาก และการเป็นตลาดใหญ่ของโลก ขณะที่ไต้หวันมีบทบาทในส่วนของกลางน้ำ

ดังนั้น หากจีนตัดสินใจงัด “ไม้สอง” ระงับการส่งออก “แร่หายาก” ให้ไต้หวัน ก็จะกระทบกับการผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน ซึ่งจะกระทบเชิงลบกับความเป็น “โรงงานของโลก” ของจีนเช่นกัน

ลำพังผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMIC และ AMEC รวมทั้งอีกราว 60 บริษัทดิจิตัลในตลาดหลักทรัพย์สตาร์ (STAR) ในเซี่ยงไฮ้ คงไม่อาจเพิ่มกำลังการผลิตทดแทนการนำเข้าได้ในระยะเวลาอันสั้น

สภาพการณ์เช่นนี้จะกระทบชิ่งต่อไปยังห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมดิจิตัลคุณภาพสูงในสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไต้หวันมีบทบาทในตลาดระดับบนคิดเป็นกว่า 90% ของตลาดโลก

การตัดสินใจกำหนดมาตรการ “ไม้ตาย” ดังกล่าวอาจนำไปสู่ “วิกฤติอาหาร” และ “วิกฤติดิจิทัล” ระลอกใหม่ ทำให้สงครามเทคโนโลยี หรือ “เทควอร์” ที่สหรัฐฯ จุดไฟเอาไว้เพื่อหวัง “แยกขั้ว” ในช่วงหลายปีหลัง ครุกรุ่นอยู่เดิมลุกโชนขึ้นอีกครั้ง

ในด้านการลงทุน ธุรกิจและประชาชนจีนได้ประกาศบอยคอตไม่ร่วมสังฆกรรมกับธุรกิจไต้หวันที่ให้การสนับสนุนมูลนิธิ/องค์กรที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสรภาพของไต้หวัน และบ่อนทำลายจีน อาทิ ซวนเต๋อ เหนิงหยวน (Xuande Energy) หลิงหวังเคอจี้ (Lingwang Technology)เทียนเหลียง อีเหลียว (Tianliang Medical)และเทียนเหยียน (Tianyan Satellite Technology)

ขณะที่รัฐบาลจีนก็ขึ้น “บัญชีดำ” เจ้าของและผู้บริหารระดับสูงของกิจการเหล่านี้ไม่ให้เดินทางเข้าจีน ซึ่งก็เป็นเสมือนการบีบบังคับให้ธุรกิจเหล่านั้นต้องขายกิจการในราคาถูก ธุรกิจเหล่านี้อาจมองหาแหล่งลงทุนแห่งใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “สู่ดินแดนตอนใต้ใหม่” (New Southbound Policy) ของไต้หวันนับแต่ปี 2016 

ในมิติด้านการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวระหว่างจีนและไต้หวันมีปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกหลายประการ อาทิ ทำเลที่ตั้งที่ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ความใกล้ชิดทางสายเลือด และความคล้ายคลึงของสภาพอากาศ และวิถีชีวิต รวมทั้งระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอุปสงค์ในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

ขณะเดียวกัน จีนและไต้หวันก็พัฒนาโครงข่ายการคมนาคมข้ามช่องแคบไต้หวันมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เส้นทางบินระหว่างหัวเมือง และบริการเรือเฟอร์รี่ขนส่งผู้โดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างหัวเมืองในมณฑลฝูเจี้ยนและเกาะไต้หวัน

หากเราตัดปัจจัยด้านการสาธารณสุขจากโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนถือเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของไต้หวัน โดยมีจำนวนราว 3 ล้านคนต่อปี คิดเป็นราว 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวในไต้หวัน และเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในสาขาบริการที่ช่วยสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่ไต้หวันในสัดส่วนที่สูง

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระหว่างจีน-ไต้หวันมี “การเมือง” เป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุด ตัวเลขนักท่องเที่ยวระหว่างกันจึงแปรผันตามสถานการณ์การเมืองระหว่างกัน 

หากนโยบายของไต้หวันเดินสายกลางหรือโปรจีน ก็ทำให้รัฐบาลจีนก็จะปรับนโยบายและขยับให้บริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวจีนไปไต้หวัน หรืออนุญาตให้นักท่องเที่ยวไต้หวันเข้าจีนในจำนวนที่มากขึ้น สภาพการณ์จะพลิกผันหากนโยบายของไต้หวันเปลี่ยนเป็นอื่น

ยกตัวอย่างเช่น ภายหลังการแตะประเด็น “การแยกตัวเป็นเอกราช” ของผู้นำไต้หวันในช่วงกลางปี 2019 ก็ทำให้รัฐบาลจีนประกาศห้ามการเดินทางของนักท่องเที่ยวจาก 47 หัวเมืองในจีนไปไต้หวันลองจินตนาการดูถึงปรากฏการณ์ที่นักท่องเที่ยวจีนที่มือเติบจำนวน 8,200 คนต่อวันหดหายไปจากไต้หวันในชั่วกระพริบตา

ผมเชื่อมั่นว่า สถานการณ์การเมืองเช่นนี้จะไม่จบลงง่ายๆ รัฐบาลจีนจะใช้จังหวะนี้สอนบทเรียนแก่ผู้บริหารเกาะไต้หวัน โดยอาจปล่อยให้ธุรกิจไต้หวันที่ได้รับผลกระทบกดดันพรรครัฐบาล เราจึงน่าจะเห็นมาตรการ “ปิดกั้น” ด้านการท่องเที่ยวลากยาวข้ามปี 

นั่นหมายความว่า เมื่อผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เป็นพลวัตร (Dynamic Zero-Covid Policy) และเปิดกว้างการเข้าออกประเทศแล้วรัฐบาลจีนก็ยังจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อจำกัดการท่องเที่ยวระหว่างกันต่อไปซึ่งนั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างจีน-ไต้หวันก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก

นี่ก็อาจเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้เช่นกันในยุคหลังโควิด-19 ผมกำลังพูดถึงโอกาสทางเศรษฐกิจจากนักท่องเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันจำนวนกว่า 3 ล้านคนที่อาจมองหา “ทางเลือกใหม่”

คราวหน้าผมจะพาไปวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการซ้อมรบที่มีต่อธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์กันครับ ...


คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 1

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 2

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 3

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอนจบ)


ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง