TNN online เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอน3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอน3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอน3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

การเยือนของ "แนนซี เปโลซี" ทำให้กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งชาติจีน (People’s Liberation Army) ออกปฏิบัติการพิเศษในหลายส่วนด้วยความเข้มข้นและขยายวงกว้างขึ้นโดยลำดับ จากเดิมที่เป็นเพียงการแสดงแสนยานุภาพในวันที่ 1 สิงหาคม เพื่อฉลองวันกองทัพจีน “ปาอี้” 

ตามด้วยการซ้อมรบทั้งทางทะเลและทางอากาศด้วยกระสุนจริงใน 6 พื้นที่ชนิดประชิดแนว 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งไต้หวันต่อเนื่องอีก 4 วันระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม ที่ผ่านมา 

ก่อนสิ้นสุดการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันระลอกหลัง จีนยังได้ประกาศขยายเวลาการซ้อมรบไปอีก 1 สัปดาห์ และคาดว่าจะขยายต่อไปจนถึงวันที่ 8 กันยายน พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่ปฏิบัติการอีก 2 จุดในบริเวณอ่าวโป๋วไห่ และทะเลเหลือง ซึ่งอยู่ด้านตอนเหนือของเกาะไต้หวัน 

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

แม้ว่าจีนจะประกาศการซ้อมรบล่วงหน้าตามแนวปฏิบัติของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การขยายวงและยกระดับความเข้มข้นของปฏิบัติการของ PLA ในครั้งหลังนี้ นอกจากจะเพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งในภูมิภาคแล้ว จีนยังส่งสัญญาณไปยังประชาคมโลกว่า “ไต้หวัน” และ “หมู่เกาะ” ที่มีกรณีพิพาทคาราคาซังกันอยู่ในแถบ “ทะเลเหลือง” ใกล้คาบสมุทรเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของจีน 

นอกจากนี้ จีนยังเตรียมความพร้อมต่อ “การรุกราน” ใดๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะย่าน “คอไก่” เป็นพื้นที่เข้าสู่จุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีน ดูเหมือนจีนได้มองข้ามกองกำลังทหารของไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นไปแล้ว และส่งสัญญาณ “ก็มาซิครับ” ต่อไปยังสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรว่าพร้อมจะป้องกันประเทศ 

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

อันที่จริง การซ้อมรบครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของจีนในครั้งนี้สร้างความกังวลใจ หรือแม้กระทั่งความไม่พอใจอย่างมากให้กับไต้หวัน สหรัฐฯ และประเทศที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค แต่ก็ “ลดแรงดันก่อนหม้อระเบิด” ยอมเปิดทางให้จีนได้ตอบโต้อย่างเต็มที่

เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเลือกที่จะ “นิ่งเงียบ” ไม่ต้องการเป็นคู่กรณี อาจเพราะปัญหาที่แบกรับอยู่ก็มากพออยู่แล้ว อาทิ การระบาดของโควิด-19 ปัญหาภัยธรรมชาติ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ไต้หวันประกาศซ้อมรบ “อย่างสงบ” 

ส่วนผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ต่างกรรมต่างวาระอย่างสอดประสานกันว่า “สหรัฐฯ พร้อมดำเนินการใดๆ อย่างรับผิดชอบ” บ้าง และ “คาดหวังว่าจีนจะไม่ขยายปฏิบัติการมากกว่าที่เป็นอยู่” บ้าง โดยหลีกเลี่ยงการพูดถึงหลักการ “จีนเดียว”

ขณะเดียวกัน การซ้อมรบดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจโลจิสติกส์และผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยในระยะสั้น การซ้อมรบในช่วงที่ผ่านมาทำให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ในบริเวณช่องแคบและบริเวณรอบเกาะไต้หวัน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการพาณิชยนาวีโลก หยุดชะงักลงจนเกือบเป็นศูนย์

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

องค์กรประกันภัยร่วม หรือพีแอนด์ไอ (P&I) ต้องออกโรงมาเตือนเกี่ยวกับการให้บริการของสายเรือและสายการบินในช่วงนี้ โดยแนะนำให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก

การเดินทางของผู้คนและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยบริการเรือเฟอร์รี่ข้ามช่องแคบไต้หวันที่ลดลงไปมากในช่วงหลายปีหลัง ถูกสั่งให้ยกเลิกบริการเดินทางแก่นักท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว 

ในส่วนของการขนส่งสินค้าทางทะเล ช่องแคบไต้หวันถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่คึกคักและสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่เชื่อมภูมิภาคเอเซียตะวันออกกับสหรัฐฯ และยุโรป ประมาณว่าเกือบครึ่งหนึ่งของสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ขนส่งกันทั่วโลกล้วนต้องผ่านเส้นทางนี้ การซ้อมรบดังกล่าวทำให้การขนส่งสินค้าเข้าออกไต้หวันและท่าเรือฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ลดฮวบและง่อยเปลี้ยเสียศูนย์ไปในทันที

ไต้หวันมีท่าเรือ 15 แห่งกระจายอยู่รอบเกาะได้รับผลกระทบโดยตรง ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่สุดได้แก่ ท่าเรือเกาสง (Port of Kaosiung) ตั้งอยู่ด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของโลกในเชิงของขีดความสามารถในการให้บริการ โดยในปีที่ผ่านมา ท่าเรือแห่งนี้ให้บริการขนถ่ายสินค้าคอนเทนเนอร์ราว 10 ล้านตู้ และสินค้าอื่นรวม 18.9 ล้านตัน 

ในช่วงการซ้อมรบ ผมประเมินว่า มีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่เข้าออกไต้หวันจำนวนราว 200 ลำได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม บางสายเรือต้องยอมลอยคอกลางทะเลเพื่อหลีกเลี่ยง “ลูกหลง” ขณะที่บางส่วนเลือกที่จะชะลอหรือเปลี่ยนตารางการให้บริการชั่วคราว เช่น เอเวอร์กรีนมารีน (Evergreen Marine) บริษัทเรือรายใหญ่สุดของไต้หวัน และอันดับ 7 ของโลกในเชิงสัดส่วนทางการตลาด 

ขณะที่บางสายเรือพยายามเปลี่ยนเส้นทางเดินเรืออ้อมไปด้านซีกตะวันออกของเกาะ (ด้านฟิลิปปินส์) ซึ่งทำให้สายเรือต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินเรือมากขึ้นราว 3 วัน และค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ขยับสูงขึ้น 

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

นอกจากนี้ โดยที่ช่วงนี้ก็เป็นฤดูมรสุมที่อาจมีพายุไต้ฝุ่นเข้าในพื้นที่ การเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือดังกล่าวก็เพิ่มระดับความเสี่ยงในการเดินเรือตามไปด้วย 

ซัพพลายเออร์ก๊าซธรรมชาติบางส่วนยังได้ตัดสินใจปรับลดความเร็วและเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือไปทางตอนเหนือแทน ซึ่งทำให้การขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมต้องใช้เวลามากขึ้น 

ความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานในภูมิภาคตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งอาจทำให้ปัญหาวิกฤติพลังงานที่มีอยู่เดิมขยายวงในภูมิภาคนี้มากขึ้น 

ในส่วนของจีนแผ่นดินใหญ่ ท่าเรือในมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งอยู่ตรงข้ามเกาะไต้หวัน ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ท่าเรือเซี๊ยะเหมิน (Port of Xiamen) ซึ่งจัดอยู่ในลิสต์ท่าเรือใหญ่ 10 อันดับแรกของจีน ถือเป็นท่าเรือหลักที่รองรับความต้องการของพื้นที่หลังท่าในย่านนั้น 

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอน3) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ท่าเรือแห่งนี้ให้บริการขนถ่ายสินค้าราว 12 ล้านตู้ต่อปีในปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งทำเอาห่วงโซ่อุปทานของหลายอุตสาหกรรมแกว่งตัวตามไปด้วย ส่วนนี้ก็อาจส่งผลเชิงลบต่อไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ประเมินว่า การซ้อมรบครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น หรือมีรายได้ลดลงถึงราว 10% 

ประการสำคัญ ภายหลังจีนประกาศขยายการซ้อมรบระลอกใหม่ ความล่าช้าในการส่งมอบวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปในอนาคตอาจทำให้เกิดการกระจุกตัวของห่วงโซ่อุปทานในไต้หวันและประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้โรงงานผลิตสินค้า ผู้ประกอบการค้า และผู้บริโภคในพื้นที่ดังกล่าวมีโจทย์ที่ใหญ่กว่าให้แก้ไขเพิ่มขึ้นในอนาคต

นี่โชคดีที่สถานการณ์ “วิกฤติโลจิสติกส์” ในช่วง 2 ปีก่อนได้คลายตัวลงไปแล้ว มิฉะนั้นแล้ว หากขยายเวลาและพื้นที่การซ้อมรบในครั้งหลัง ก็อาจจุดชนวนวิกฤติโลจิสติกส์รอบใหม่ขึ้นมาได้

คราวหน้าผมจะขอไปคุยต่อเรื่องผลกระทบด้านการขนส่งทางอากาศ และการตอบโต้ต่อความอหังการของสหรัฐฯ ในครั้งนี้กันครับ ... 


คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 1

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 2

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 3

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน จบ


ภาพจาก AFP , Reuters

ข่าวแนะนำ