TNN online เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN ONLINE

คอลัมนิสต์

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ร่ายยาวมาหลายตอน วันนี้ผมจะพาแตะประเด็นผลกระทบที่มีต่อ “โลจิสติกส์” ทางอากาศในภูมิภาค และบทสรุปภาพทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ณ สิ้นปีนี้และอนาคต ...

ในส่วนของการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางอากาศข้ามช่องแคบไต้หวันก็ได้รับผลกระทบในวงกว้างไม่แพ้กัน จำนวนเที่ยวบินถูกยกเลิกจนแทบเป็นศูนย์ในระยะแรกของการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันระลอกแรก 

ซึ่งลดธุรกรรมการค้า และทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงไปสู่ตลาดจีนและประเทศอื่น อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สร้างความเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ ต่อผู้คน ธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจเป็นอันมากในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของไต้หวัน

สถานการณ์เริ่มดีขึ้นโดยลำดับในเวลาต่อมา สายการบินหลักของไต้หวันอย่างไชน่าแอร์ไลน์ (China Airlines) และอีวาแอร์ (Eva Air) หรือ เอเวอร์กรีน แอร์เวย์ (Evergreen Airways) ที่บินเชื่อมกับรวมกว่าเกือบ 200 จุดหมายทั่วโลกต่างต้องจัดตารางบินใหม่ และปรับเส้นทางบินชั่วคราว 

โดยเลือกบินอ้อมขึ้นไปทางเหนือของเกาะ ซึ่งใช้เวลาบินเพิ่มขึ้น 20-30 นาที ทำให้มีเครื่องบินเข้าออกเกาะไต้หวันราว 150 เที่ยวบินต่อวันในช่วงเวลาดังกล่าว

ขณะเดียวกัน หลายสายการบินพาณิชย์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักของจีน เช่น ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ (China Eastern Airlines) และไชน่า เซาท์เทิร์น แอร์ไลน์ (China Southern Airlines) รวมทั้งสายการบินหลักที่ให้บริการในภูมิภาคอย่างเอเอ็นเอ (ANA) ของญี่ปุ่น โคเรียนแอร์ (Korean Air) ฟิลิปปินส์แอร์ไลน์ และสายการบินไทย (Thai Airways) ได้ยกเลิกและปรับตารางเที่ยวบินเข้าออกไต้หวันในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

อย่างไรก็ดี การขยายพื้นที่และระยะเวลาการซ้อมรบครั้งใหม่สร้างความปวดหัวกับอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคในวงกว้าง จนหลายฝ่ายกังวลใจว่า เส้นทางบินชั่วคราวดังกล่าวก็อาจต้องถูกปรับเปลี่ยนอีกครั้ง 

กระแสข่าวระบุว่า มีการเจรจากันหลายรอบจนในท้ายที่สุดสรุปว่า จีนจะลดความเข้มข้นของการซ้อมรบทางอากาศลง เพื่อเปิดโอกาสให้การบินพาณิชย์กลับมาสู่สภาวะปกติ ซึ่งตามมาด้วยการประกาศเตือน “เบาๆ” ถึงความเสี่ยงในการบินผ่านพื้นที่ 

อย่างไรก็ดี แต่ละสายการบินที่ให้บริการในภูมิภาคเลือกแนวทางที่แตกต่างกันออกไป หลายสายการบินพยายามกลับมาให้บริการอย่างเป็นปกติ แต่สายการบินจีนส่วนใหญ่เลือกประกาศยกเลิกและปรับเปลี่ยนตารางบินให้ของเดือนสิงหาคมไปแล้ว

สิ่งนี้จะทำให้การเดินทางและขนส่งสินค้าทางอากาศเข้าออกไต้หวัน และประเทศใกล้เคียงมี “ทางเลือก” น้อยลง และต้องใช้เวลาและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ขณะเดียวกัน การเดินทางและการขนส่งสินค้าทางอากาศในจีนแผ่นดินใหญ่ก็ดูจะมี “ทางเลือก” ของจุดขึ้นลงและเส้นทางบินมากกว่า แต่ก็ไม่วายทำให้ผู้คนและสินค้าได้รับผลกระทบ ผู้โดยสารจำนวนมากประสบกับความยากลำบากมากขึ้นในการเดินทาง ต้องเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางและสนามบินเข้าออกกันเป็นจำนวนมาก หากไม่ใช่ช่วงที่จีนประสบวิกฤติโควิด-19 ผมก็เชื่อมั่นว่า ผลกระทบจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว

อย่างไรก็ดี การขยายความเข้มข้นในการซ้อมรบในครั้งนี้ ทำให้ผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้นเพียงในระยะสั้นเท่านั้น การออกมาตรการตอบโต้ใดๆ เพิ่มเติมจะส่งผลข้างเคียงด้านโลจิสติกส์ และด้านอื่นๆ ที่ยาวนานมากขึ้นได้ 

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

แม้กระทั่งสหรัฐฯ ก็ไม่ได้รับการยกเว้น จีนตอกย้ำว่า สหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ยั่วยุและไม่เคารพในกฎหมายระหว่างประเทศในครั้งนี้

ในระลอกแรก จีนได้ประกาศยกเลิก 8 เวทีความร่วมมือกับสหรัฐฯ อันได้แก่ การเจรจาผู้บัญชาการกองทัพ นโยบายกลาโหม การเดินเรือทหาร การส่งตัวผู้กระทำเข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศ ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีอาญา การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การปราบปรามยาเสพติด และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 

หลายฝ่ายมองว่า มาตรการตอบโต้ผ่านการ “ล้มกระดาน” เวทีความร่วมมือดังกล่าวล้วนเป็นเรื่อง “ไกลตัว” ไม่ครอบคลุมถึงด้านเศรษฐกิจ และยังไม่สะใจสาย “ฮาร์ดคอร์” ของจีนและพันธมิตร

แต่อันที่จริงแล้ว เรื่องเหล่านี้มีหลายประเด็นอ่อนไหวซ่อนอยู่ที่อาจนำไปสู่ความขัดแยแงครั้งใหญ่ของโลกได้ เพราะนับแต่นี้ไป จีนและสหรัฐฯ จะไม่มีเวทีปกติที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือเกี่ยวกับนโยบายความมั่นคง ซึ่งจะทำให้ความพยายามในการลดอาวุธหนักของสองมหาอำนาจโลก และการพัฒนาความร่วมมือทางการทหารระหว่างกันจะหยุดชะงักลง เป็นต้น

และหากเกิดความไม่เข้าใจกันด้านการทหาร หรือการละเมิดอำนาจอธิปไตยใดๆ ระหว่างกัน เช่น เรือบรรทุกเครื่องบินรบ “ยูเอสเอส เรแกน” (USS Reagan) ของสหรัฐฯ ซึ่งปกติก็ป้วนเปี้ยนอยู่ในน่านน้ำบริเวณนั้น ล่วงล้ำเข้าไปในย่านหมู่เกาะที่มีกรณีพิพาทระหว่างประเทศ ก็อาจนำไปสู่การปะทะกันทางการทหาร ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามใหญ่ได้

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

ขณะเดียวกัน หากชาวอเมริกันเดินทางเข้าจีนอย่างผิดกฎหมาย หรือเป็นคดีรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการบ่อนทำลายความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผู้ต้องหาเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย และต้องรับโทษในจีนตลอดอายุคำพิพากษา

ในกรณีของยาเสพติด สหรัฐฯ และจีนก็อยู่ในโหมด “ระหองระแหง” กันมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวหาว่าจีนไม่ยกระดับการควบคุมเข้มกับการผลิตและลักลอบการส่งออกสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์คล้ายฝิ่นไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดยาเสพติดใหญ่สุดของโลก

ความสำเร็จในด้านนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือด้านข้อมูลและปฏิบัติการระหว่างกันอย่างใกล้ชิด แต่มาถึงจุดนี้ ความร่วมมือดังกล่าวก็สิ้นสภาพไปเช่นกัน จีนเลือกที่จะปล่อยให้สหรัฐฯ ไปแก้ไขปัญหาภายในของตนเอง 

สภาพที่เราเห็น “คนไร้บ้าน” ในหัวเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ฉีดยาเข้าเส้นตามท้องถนนโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายในปัจจุบันน่าจะขยายวงกว้างขึ้น ปัญหายาเสพติดที่ระบาดหนักในสหรัฐฯ กำลังทำลายเศรษฐกิจและสังคมอเมริกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อไปยังประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

หลายคนอ่านถึงตรงนี้ก็อาจนึกย้อนภาพเหตุการณ์ในอดีตที่อังกฤษนำเอาฝิ่นเข้าไป “กล่อมประสาท” ชาวจีนจนอ่อนเปลี้ย และสามารถยึดอำนาจจีนให้อยู่ใต้อาณัติได้ในยุคราชวงศ์ หรือนี่จะเป็นการ “หลี่ตาข้าง” เพื่อเอาคืนของจีน ก็เป็นคำถามในใจของหลายคนอยู่

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

นอกจากนี้ จีนก็อาจปฏิเสธการถ่ายทอดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวให้กับสหรัฐฯ ในอนาคต แม้ว่าเรื่องนี้จะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่โปรด้านสิ่งแวดล้อมจากซีกโลกตะวันตก แต่ก็พูดโต้แย้งไม่ได้เต็มปากเต็มคำ เพราะเกรงว่าจะโดนจีนตอกกลับว่า สาเหตุสำคัญก็เป็นเพราะสหรัฐฯ ไปก้าวล่วงในอธิปไตยของจีนก่อนนั่นเอง

ผมเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า การขยายปฏิบัติการซ้อมรบ ก็เป็นเพียงอีกส่วนหนึ่งของการตอบโต้สหรัฐฯ ในระยะแรกเท่านั้น จีนจะประกาศซ้อมรบถี่ขึ้นในอนาคต และปล่อยอีกหลาย “กระบวนท่า” ตามมาเพื่อให้บทเรียนกับ “การเล่นกับไฟ” ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างในระยะยาว

ในประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันที่ท่านผู้อ่านถามกันมามากว่า “คุ้มกันไหม” นั้น หากเราพิจารณาจากการดำเนินมาตรการตอบโต้ของจีนในภาพรวม ก็อาจประเมินได้ว่า เศรษฐกิจของไต้หวันที่มีขนาดกว่า 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และกำลังฟื้นตัวดี จะชะลอตัวลงอย่างมากในครึ่งปีหลัง

ผมประเมินว่า หากจีนยังคงกดดันต่อเนื่องเช่นนี้ ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไต้หวันจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไต้หวันทั้งปี 2022 ที่เดิมนักวิเคราะห์ของหลายสำนักคาดการณ์ว่าจะขยายตัวราว 3.7-3.8% เมื่อเทียบกับของปีก่อน จะหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง หรือเติบโตในปี 2022 ราว 2% เมื่อเทียบกับของปีก่อน

นั่นหมายความว่า เฉพาะในปี 2022 ไต้หวันจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การต้อนรับประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ในครั้งนี้คุ้มค่าหรือไม่ ก็ต้องให้ท่านผู้อ่านพิจารณาดูกันครับ นี่ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไต้หวันในระยะถัดไป

เพราะภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ไต้หวันได้กลายเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากไปในทันที หากไม่มีการเจรจาและปรับท่าทีระหว่างจีนและไต้หวันในอนาคตอันใกล้ “วิกฤติไต้หวัน” ก็อาจจะขยายวงไปถึงปี 2023 หรือแม้กระทั่งในระยะยาว 

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

กิจการในไต้หวันบางส่วนที่พึ่งพารายได้หลักจากตลาดจีน มองหาโอกาสในการย้ายการลงทุนข้ามช่องแคบไปอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่กันมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายรายก็เตรียมย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ 3 เพื่อรักษาโอกาสทางธุรกิจ และลดความเสี่ยงทางการเมืองในอนาคต 

เหล่านี้จะกระทบต่อไปถึงการลงทุนของกิจการท้องถิ่นในไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs การจ้างแรงงานคุณภาพ และอื่นๆ ในระยะยาว 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันไม่เพียงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของสหรัฐฯ ภายใต้แนวคิด “สงครามตัวแทน” ที่สหรัฐฯ ใช้ในหลายพื้นที่นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นส่งผลให้ไต้หวันมีสภาพเป็นเพียง “เบี้ย” ตัวหนึ่ง 

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง วิกฤติไต้หวัน (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก Reuters

แต่ไต้หวันยังตกอยู่ใต้อาณัติเสมือน “เมืองขึ้น” ของสหรัฐฯ อีกด้วย ไต้หวันต้องทนแบกรับภาระแรงกดดันทางเศรษฐกิจอันหนักอึ้งที่นักการเมือง “หลายเบอร์” ของสหรัฐฯ เวียนกันมาทิ้ง “ระเบิด” เป็นระยะ 

การเดินทางเยือนไต้หวันของแนนซี เปโลซีในครั้งนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งถูกปั่นกระแสจนสร้างความไม่พอใจอย่างมากกับจีนแผ่นดินใหญ่ และกลายเป็น “วิกฤติ” ครั้งใหญ่ในปัจจุบัน

“แผลสด” ที่เปโลซี ทิ้งไว้ให้ไต้หวันอาจกลายเป็น “แผลติดเชื้อร้ายที่เรื้อรัง” จนกว่าจะคิดหา “หมอและยาดีใหม่” มาช่วยรักษาให้หายขาดในอนาคต ...



คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 1

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 2

เมื่อแนนซี เพโลซี จุดเพลิง "วิกฤติไต้หวัน" ตอน 3


ภาพจาก AFP , Reuters


ข่าวแนะนำ