TNN เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมได้รับเชิญให้ไปแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองเกี่ยวกับ “การแยกห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และนัยต่อเศรษฐกิจการค้าไทย” และมีหลายประเด็นที่ผมอยากนำมาแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน ...

ก่อนอื่นผมอยากพาไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเป็น “โรงงานของโลก” กันก่อนครับ

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงงานของโลก” (Factory of the World) จนมีคนพูดเป็นภาษาชาวบ้านว่า จีนผลิตสินค้าหลากหลายประเภทตั้งแต่ “สากกะเบือยันเรือรบ”

แต่สถานะดังกล่าวในยุคแรกมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรม “แรงงานไร้ฝีมือเข้มข้น” และขยับสู่ “แรงงานฝีมือเข้มข้น” ในเวลาต่อมา

เมื่อแนวทางการพัฒนาที่รออยู่ข้างหน้ามีความชัดเจน รัฐบาลจีนก็กำหนดเงื่อนไขเพื่อลดภาคการผลิตที่ “ใช้พลังงานเยอะ ปล่อยมลพิษแยะ และให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ”

และหากต้องการลงทุนในจีนต่อไป อุตสาหกรรมดั้งเดิมเหล่านั้นก็ต้องนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาต่อยอดภาคการผลิต และการเสริมสร้าง “ตราสินค้า” ควบคู่กันไป

จีนใช้หลักการเดียวกันกับการลงทุนของต่างชาติ โดยให้ความสำคัญกับความ “ไฮเทค” ในสายการผลิต ควบคู่ไปกับเงื่อนไขการแบ่งปันข้อมูลด้านเทคโนโลยีแก่ท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน ภายใต้แรงกดดันจากชาติตะวันตก ในปี 2015 รัฐบาลจีนก็คลอดนโยบาย “Made in China 2025” เพื่อผลักดันการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของ 10 อุตสาหกรรมสมัยใหม่ภายในประเทศ

แนวนโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการรักษาแรงงานฝีมือและทรัพยากรอื่นสำหรับรองรับความต้องการของฐานการผลิตยุคใหม่ ช่วยให้แรงงานคุณภาพได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น และทรัพยากรถูกใช้อย่างคุ้มค่า รวมทั้งยังสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจโดลรวมต่อประเทศในระยะยาวอีกด้วย


เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


เหนือสิ่งอื่นใด จีนมีโอกาส “เรียนลัด” และแบ่งปันเคล็ดลับทางธุรกิจ ต่อมาในยุคหลัง จีนก็ยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม “เทคโนโลยีเข้มข้น” จากฐานดิจิตัล และสู่ “นวัตกรรมเข้มข้น” ที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน จีนก็ปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านการคิดค้นผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยละทิ้ง “การลอกเลียนแบบและพัฒนา” (Copy & Development) ในยุคแรก ก้าวไปสู่ “การวิจัยและพัฒนา” (Research & Development) ในเวลาต่อมา

จีนไม่หยุดเพียงแค่นั้น แต่กำลังต่อยอดสู่ “การวิจัยและนวัตกรรม” (Research & Innovation) เพื่อให้สอดรับกับภาคการผลิตในแต่ละช่วง

ปัจจุบัน หลายอุตสาหกรรมของจีนได้ถูกยกระดับสู่ระบบการผลิตอัจฉริยะและดีต่อสิ่งแวดล้อมในสัดส่วนที่สูงขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้กิจการของจีนไต่ระดับและกลายเป็นกิจการชั้นแนวหน้าของโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งเวลาผ่านไป สินค้าจีนก็มีคุณภาพดีขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก แม้กระทั่งคนไทยต่างก็เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติและสนใจซื้อหาสินค้าของจีนมากขึ้น

รวมทั้งอยากไปติดตามศึกษาดูงานเพื่อ “เรียนลัด” เทคโนโลยี ระบบการจัดการ และอื่นๆ จากกิจการของจีนกันมากขึ้น

บ้างก็อยากไปเชื่อมโยงเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจ ส่งผลให้หัวเมืองใหญ่ของจีนที่เต็มไปด้วยกิจการชั้นแนวหน้า กลายเป็นแหล่งเยี่ยมชมดูงานสุดฮิตในยุคหลัง

อันที่จริงแล้ว การดูงานธุรกิจจีนในอดีตไม่ใช่สิ่งที่คนไทยถวิลหา แม้กระทั่งข้าราชการในหลักสูตร “นักบริหารระดับสูง” รุ่นหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนที่ถูกกำหนดให้ไปดูงานการพัฒนาในพื้นที่ปากแม่น้ำแยงซีเกียงก็เคย “ส่ายหน้า” และรู้สึก “ไม่พอใจ” เมื่อได้รับทราบว่าไม่ได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ดังเช่นรุ่นก่อนๆ

แต่ครั้นเมื่อมีโอกาสไปสัมผัสสภาพบ้านเมือง และความก้าวล้ำของธุรกิจจีน คณะก็ต้องตื่นตะลึงและเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับจีน จนเข้าใจคำกล่าวที่ว่า “ทำไมการไปดูงานเมืองจีนในยุคใหม่จึงเป็นการไปดูอนาคตของโลก”

หรืออาจกล่าวได้ว่า การไม่ไปศึกษาดูงานเมืองจีนทำให้เราเสมือนกลายเป็น “คนตกยุค” ไปโดยปริยาย

และโดยที่จีน “เปลี่ยนเล็กทุกปี และเปลี่ยนใหญ่ทุกสามปี” เรายังสามารถไปศึกษาเรียนลัดวิธีคิดที่แตกต่าง กลยุทธ์การตลาดที่นอกกรอบ และนวัตกรรมที่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมืองเดิมได้แทบทุกปี


เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


และหลายคนก็คงไม่อยากเชื่อว่า การพัฒนาที่ก้าวล้ำเหล่านี้เกิดขึ้นหลังการเปิดประเทศสู่ภายนอกเพียงราว 4 ทศวรรษ จนหลายคนเริ่มคิดใหม่กับคำว่า “ศตวรรษที่สูญหายไปของจีน” ว่าเป็นการสูญเสียโอกาสครั้งใหญ่ของโลก

โลกจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของจีนมากและเร็วขึ้นขนาดไหน หาก 100 ปีดังกล่าว จีนไม่ถูกครอบงำโดยชาวตะวันตก ความวุ่นวายกับสงครามกลางเมือง และการปิดประเทศ

คำถามสำคัญหนึ่งที่คนไทยสนใจก็คือ จีนเปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ได้อย่างไร ...

ผมเลยขอหยิบยกเอาอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งในอดีตอาจถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ไม่มีอนาคตสำหรับจีนมาเป็นตัวอย่างในการไขข้อสงสัยกัน

อุตสาหกรรมฯ ของจีนถือเป็นอุตสาหกรรมเบาที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 40% ผลผลิตโดยรวมของโลก ฐานการผลิตกระจายตัวในหลายพื้นที่ด้านซีกตะวันออกของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งมณฑลกวางตุ้ง ซานตง ฝูเจี้ยน และเจ้อเจียง

ด้วยความพร้อมของทรัพยากรธรรมชาติ แรงงานฝีมือ และอื่นๆ ทำให้อุตสาหกรรมฯ ของจีนเต็มไปด้วยศักยภาพที่จะเติบใหญ่อีกมากในอนาคต ศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งประเมินไว้ว่า อุตสาหกรรมฯ จะเติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปีจนถึงปี 2030

นอกจากการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกแล้ว จีนยังเป็นผู้บริโภคและผู้ส่งออกชั้นแนวหน้าอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยจำนวนประชากรที่มาก และเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้คนจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่สูง การพัฒนาชุมชนเมือง และการอาศัยในที่พักแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วจีน ส่งผลให้มีความต้องการเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้นอยู่ตลอด

ขณะที่ช่องทางจัดจำหน่ายในจีนก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เฟอร์นิเจอร์มอลล์ขนาดใหญ่ และการค้าออนไลน์ที่มีรูปแบบการนำเสนอและการขายแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง (Livestreaming) และโชว์รูมโลกเสมือนจริง (Virtual Showroom) ที่สะดวกและน่าสนใจ

เมื่อมังกรปรับจูนสู่โรงงานของโลกยุคใหม่ (ตอน 1) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 

นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้รายใหญ่สุดของโลก ด้วยขีดความสามารถด้านการผลิตที่สูงและตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ ทำให้เฟอร์นิเจอร์จีนมีความได้เปรียบด้านราคาจากความประหยัดอันเนื่องจากขนาด

เมื่อผนวกกับความพยายามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ทำให้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คราวหน้าเราจะไปพูดคุยกันว่า จีนพัฒนาความได้เปรียบในเชิงคุณภาพได้อย่างไรกันครับ ...





ภาพจาก รอยเตอร์


ข่าวแนะนำ