TNN เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อการปั้น “เงินหยวน” เพื่อเป็นสกุลเงินหลักใหม่ไม่อาจ “ฝ่าวงล้อม” ของเงินสกุลหลักหน้าเดิมอย่างเงินเหรียญสหรัฐฯ ไปได้ง่ายและเร็วทันใจมากพอ คำถามที่ตามมาก็คือ จีน รัสเซีย และประเทศพันธมิตรจะ “แก้เกมส์” อย่างไร ...

แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญการเงินระหว่างประเทศเห็นพ้องว่า ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ลดการพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ มาโดยลำดับ โดยข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่า บทบาทเงินเหรียญสหรัฐฯ ในเวทีเศรษฐกิจโลกลดจาก 73% ในปี 2001 เหลือ 55% ในปี 2020

ประการสำคัญ แนวโน้มดังกล่าวดูเหมือนจะเร็วขึ้น โดยลดลงเหลือเพียง 47% นับแต่การประกาศแซงชั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่อรัสเซีย

ขณะเดียวกัน หากประเมินว่าเงินหยวนจะเพิ่มสัดส่วนในเวทีเศรษฐกิจโลกเฉลี่ยปีละ 1% ก็เท่ากับว่าในปี 2035 เงินหยวนจะมีบทบาทอยู่ราว 20% ซึ่งคาดว่าจะแซงหน้าเงินยูโรหรือเงินปอนด์สเตอร์ลิง


เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


แต่อาจไม่เพียงพอที่จะก้าวขึ้นทาบชั้นเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยังสามารถเกาะระดับ 40% บนต้นทุนความเสี่ยงของเงินยูโร เงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ และเงินเยนของญี่ปุ่น ซึ่งนั่นเท่ากับว่า หากใช้แนวทางเดิม ณ ปี 2035 เงินเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าจะยังคง “บทบาทนำ” ในเวทีการเงินโลก

เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จีนจึงคิดหา “วิธีการใหม่” โดยเริ่มจากการจับมือกับมิตรประเทศ “ที่ไร้ขอบเขต” อย่างรัสเซียที่ต้องการฟันฝ่าเอาชนะการแซงชั่นทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกอยู่เป็นทุนเดิม

จีนและรัสเซียเห็นพ้องว่าจะร่วมกันผลักดันให้สมาชิก BRICS และพันธมิตรสร้าง “เงินสกุลร่วม” (Common BRICS Currency) ของตนเองขึ้น

โดยเงินสกุลใหม่จะอาศัยพื้นฐานของ 5 เงินสกุลของสมาชิกก่อตั้งของ BRICS “5Rs” เป็นสำคัญ อันประกอบด้วย เหรินหมินปี้ (Renminbi) ของจีน รูเบิ้ล (Ruble) ของรัสเซีย รูปี (Rupee) ของอินเดีย เรียลของบราซิล และแรนด์ (Rand) ของแอฟริกาใต้

โดยกระแสข่าวระบุว่า อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ “ตอบรับ” เชิงบวกต่อแนวทางดังกล่าว เพราะประเทศเหล่านั้นก็อยากเห็นเงินสกุลท้องถิ่นของตนเองที่มักต้องเผชิญวิกฤติ “ค่าเงิน” อยู่เนืองๆ ได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศเช่นกัน

ทั้งนี้ โครงการ “เงิน BRICS” นี้คาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นหารือในรายละเอียดและอาจบรรลุความตกลงได้ในการประชุมสุดยอดของกลุ่มที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2023 ณ แอฟริกาใต้

นอกจากนี้ จีนและรัสเซียยังผลักดันให้ BRICS เพิ่มจำนวนสมาชิกใหม่ภายใต้แนวคิด “BRICS Plus” โดยอาศัยผลพวงจากกรอบความร่วมมือของ New Development Bank ที่มีอยู่เป็นทุนเดิม

ในชั้นนี้ สมาชิก BRICS Plus ที่แสดงความสนใจจะเข้าร่วมสหภาพ BRICS มีความหลากหลายมาก ไล่ตั้งแต่ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อียิปต์ แอลจีเรีย ไนจีเรีย เซเนกัล เม็กซิโก นิการากัว อาร์เจนตินา คาซักสถาน และอินโดนีเซีย บางแหล่งข่าวยังระบุว่า ไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่สนใจเข้าร่วมมือด้วย

การมี “พลังเสริม” จากบราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ รวมทั้งสมาชิกใหม่ที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็น่าจะช่วยให้ระบบการชำระเงิน BRICS ใหม่นี้มีความต้องการใช้สูงขึ้น

 ทั้งนี้ การค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิก BRICS มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีหลัง และประเมินว่าอยู่ราวปีละ 500,000 และ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

ขณะที่ในบรรดาสมาชิกใหม่ ซาอุดิอาระเบียน่าจะเป็นประเทศที่ “ทรงพลัง” ทางเศรษฐกิจมากที่สุด ประการสำคัญ ซาอุดิอาระเบียยังมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกับกลุ่ม BRICS โดยเฉพาะกับพี่เบิ้มอย่างจีน


เมื่อ BRICS ทะยานคับฟ้า (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 

ปัจจุบัน จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของซาอุดิอาระเบีย โดยจีนส่งออกสินค้าไปยังตลาดซาอุดิอาระเบียในมูลค่ากว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี คิดเป็นถึง 18% ของมูลค่าการนำเข้าโดยรวมของซาอุดิอาระเบีย

ขณะเดียวกัน จีนก็นำเข้าสินค้าจากซาอุดิอาระเบียจำนวนมหาศาลในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบที่จีนนำเข้าถึง 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน!!!

ในการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียของสี จิ้นผิง เมื่อปลายปี 2022 จีนและซาอุดิอาระเบีย (รวมทั้งประเทศในกลุ่ม GCC) ยังได้บรรลุความตกลงใช้ “เปโตรหยวน” อย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นเสมือนการยกเลิก “เปโตรดอลล่าร์” ที่ใช้กันมากว่า 4 ทศวรรษ ไปโดยปริยาย

ยิ่งหากมองในภาพใหญ่ ซาอุดิอาระเบียก็ส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลก 7-8 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่าราว 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน และคาดว่าซาอุดิอาระเบียจะเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของจีนและโลกต่อไปในอนาคต

นั่นเท่ากับว่า อุปสงค์เงินหยวนและเงิน BRICS จากการค้าพลังงานระหว่างกันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าให้แล้ว

ขณะเดียวกัน ซาอุดิอาระเบียก็มีบทบาทสำคัญในด้านการท่องเที่ยว และการลงทุนในเวทีโลก ในทางกลับกัน ผลจากการดำเนินนโยบาย BRI ก็ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในซาอุดิอาระเบียมากที่สุดนับแต่ปี 2021

ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับซาอุดิอาระเบียที่แนบแน่นยิ่ง และแนวโน้มสดใสในอนาคต ก็ทำให้สามารถประเมินได้ว่า ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่ประเทศที่เกี่ยวข้อง

หลายฝ่ายคาดว่า ด้วยฐานประชากรและเศรษฐกิจใหญ่ที่กำลังเติบโตแรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกที่สูงขึ้น จะเป็นพลังสำคัญที่เพิ่มความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและภาคประชาชน

ในด้านหนึ่ง เงิน BRICS จะถูกใช้เพื่อทดแทนเงินเหรียญสหรัฐฯ ในเวทีการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงาน

ขณะเดียวกัน เราต้องไม่ลืมว่า นับแต่ปี 1944 เงินเหรียญสหรัฐฯ ได้ถูกใช้เป็นสกุลเงินหลักในทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods Agreement) ทำให้เงินเหรียญสหรัฐฯ มี “อุปสงค์เทียม” จำนวนมหาศาลในแต่ละปี

สมาชิกกลุ่ม BRICS Plus นับเป็นประเทศที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศติด 10 อันดับแรก ของโลก ไล่ตั้งแต่จีน (1) อินเดีย (4) รัสเซีย (5) ซาอุดิอาระเบีย (9) และบราซิล (10) ซึ่งนั่นอาจสะท้อนภาพว่า “เงิน BRICS” จะมี “ที่ยืน” และได้รับ “ความนิยม” ในระยะยาว

โดยหัวใจสำคัญที่จะเกิดขึ้นก็ได้แก่ การพัฒนาระบบการชำระเงิน BRICS หรือ “BRICS Pay” สำหรับการชำระเงินการค้าปลีกและธุรกรรมระหว่างประเทศสมาชิก คล้ายกับที่จีนและรัสเซียได้เริ่มใช้ระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนระหว่างกันไปก่อนหน้านี้ ทดแทนระบบสวิฟต์ (SWIFT) ที่ยึดโยงอยู่กับสหรัฐฯ

ธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย และการผลักดันให้ใช้เงิน BRICS ในทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศดังกล่าว จะนำไปสู่การลดการพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่เร็วและแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มอุปสงค์การใช้เงิน BRICS เวทีเศรษฐกิจในโลก รวมทั้งเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของชาติสมาชิกอย่างไม่ต้องสงสัย

ผมประเมินว่า หากโมเมนตัมดำเนินไปเช่นนี้ และสามารถต่อยอดเป็นเงิน BRICS ดิจิตัลได้ ก็คาดว่า เงิน BRICS จะมีก้าวขึ้นทาบชั้นเงินเหรียญสหรัฐฯ ในเวทีโลกได้ภายในปี 2035 ...



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง