TNN online เปิดรายละเอียดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือครองประเภทไหน อัตราจัดเก็บเท่าไหร่

TNN ONLINE

Wealth

เปิดรายละเอียดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือครองประเภทไหน อัตราจัดเก็บเท่าไหร่

เปิดรายละเอียดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือครองประเภทไหน อัตราจัดเก็บเท่าไหร่

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปี 2565 เปิดรายละเอียดถือครองประเภทไหน อัตราที่จัดเก็บเท่าไหร่

วันนี้ (8ธ.ค.64) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการตามร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... (ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ) สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

โดยเหตุที่ต้องเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฯ เนื่องจากพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) ได้กำหนดอัตราเพดานของภาษีไว้ตามมาตรา 37 และกำหนดอัตราภาษีที่จะจัดเก็บไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 94 แต่ให้ใช้อัตราตามบทเฉพาะกาลได้เพียง 2 ปี (ปี 2563 - 2564) ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และเมื่อพ้นระยะเวลาจะต้องประกาศอัตราภาษีที่จะจัดเก็บโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแทน 

ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ ยังคงกำหนดอัตราภาษีที่จะจัดเก็บไว้คงเดิม กล่าวคือ

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ให้ใช้อัตราภาษีตามประเภทการใช้ประโยชน์และจัดเก็บภาษีตามมูลค่าที่ดินและ/หรือสิ่งปลูกสร้างในลักษณะขั้นบันได (อัตราก้าวหน้า) ได้แก่

1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมอัตราภาษีร้อยละ 0.01 - 0.1 

2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยอัตราภาษีร้อยละ 0.02 - 0.1 

3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นอัตราภาษีร้อยละ 0.3 - 0.7

4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพอัตราภาษีร้อยละ 0.3 – 0.7

ทั้งนี้ วานนี้ (7ธ.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดิม ตามบทเฉพาะกาล ม.94 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปีภาษี 2565 และอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... 

โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายหลังการใช้อัตราภาษีตามร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวไปแล้ว 2 ปี ในปีภาษี 2567 เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 กำหนดให้ 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปีภาษี 2563-2564 ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษีที่จะใช้อยู่ในปัจจุบันจะครบกำหนดระยะเวลาในปีภาษี 2564 ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรึจึงมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... เพื่อเป็นการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปีภาษี 2565 เป็นต้นไป 

โดยคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.การประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.01-0.1

2.ที่อยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.02-0.1

2.1 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.03-0.1

2.2 สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.02-0.1

2.3 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจาก 2.1 และ 2.2 อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.02-0.1

3. การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.3-0.7

4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน ร้อยละ 0.3-0.7

ทั้งนี้ การคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 ไปอีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กับผู้เสียภาษี และเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการชำระภาษีในอัตราที่แท้จริง




ข้อมูลจาก กระทรวงการคลัง / แถลงผลประชุมครม.

ภาพจาก กระทรวงการคลัง / AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง