‘หุ้นฮ่องกง’ กับ ‘หุ้นจีน’ ฝาแฝดแห่งโลกลงทุน
กองทุนรวมที่ไปลงทุนในจีนนับเป็นจุดหมายปลายทางลำดับที่ 3 ของเงินบาทไทย สะท้อนว่าการลงทุน ‘หุ้นจีน’ รวมไปถึง ‘หุ้นฮ่องกง’ ไม่ได้ไกลตัวพวกเราเลยครับ
ระหว่างตลาดหุ้นฮ่องกงกับตลาดหุ้นจีน นักลงทุนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่มีพอร์ตลงทุนผ่านกองทุนรวม FIF (Foreign Investment Fund) ตามกระแสลงทุนหุ้นจีนหรือหุ้นฮ่องกงในรอบ กว่า 10 ปีที่ผ่านมา
เม็ดเงินลงทุนผ่านกองทุนรวม FIF ไทย ณ สิ้นปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 1.12 ล้านล้านบาท ประมาณ 30% ของมูลค่ากองทุนรวมไทยทั้งหมด 3.71 ล้านล้านบาท เป็นเงินลงทุนใน ‘หุ้นจีน’ 149,743 ล้านบาท และ ‘หุ้นฮ่องกง’ 8,261 ล้านบาท
กองทุนรวมที่ไปลงทุนในจีนนับเป็นจุดหมายปลายทางลำดับที่ 3 ของเงินบาทไทย สะท้อนว่าการลงทุน ‘หุ้นจีน’ รวมไปถึง ‘หุ้นฮ่องกง’ ไม่ได้ไกลตัวพวกเราเลยครับ
‘หุ้นฮ่องกง’ ต้นแบบของ ‘หุ้นจีน’
แม้ว่า ตลาดหุ้นฮ่องกง (HKEX) ในปัจจุบันไม่ได้เป็นจุดหมายหลักของนักลงทุนไทย เมื่อเทียบกับจีน หรือตลาดหุ้นอื่น ๆ อย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม และเกาหลีใต้ แต่ตลาดหุ้นฮ่องกงก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่า เป็นตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (developed market) เนื่องจาก เขตบริหารพิเศษฮ่องกงเคยเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ก่อนจะถูกส่งมอบดินแดนให้กับจีนในปี 2540 แน่นอนว่า วิวัฒนาการ มาตรฐานและกฎเกณฑ์ด้านตลาดเงินตลาดทุนของฮ่องกงได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษเต็ม ๆ ครับ
ตลาดหุ้นฮ่องกง ก่อตั้งในปี 2434 อยู่มานานจนเรียกได้ว่า เป็นศูนย์กลางการเงินการลงทุนในภูมิภาคเอเชียเลยครับ ปัจจุบันมาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นฮ่องกงอยู่อันดับที่ 9 ของโลก มูลค่า 3.98 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566 เป็นรองสหรัฐอเมริกาที่มีตลาดหุ้น 2 แห่ง (NYSE และ Nasdaq) จีน มีตลาดหุ้น 2 แห่ง (SSE และ SZSE) อินเดียที่มีตลาดหุ้น 2 แห่ง เช่นกัน (NSE และ BSE) สหภาพยุโรป (Euronext) และญี่ปุ่น (TSE)
ถึงแม้ว่า ฮ่องกงจะเป็นส่วนหนึ่งของจีนแล้ว แต่ยังได้รับสถานะเป็นเขตการปกครองตนเอง ภายใต้หลักการหนึ่งประเทศ 2 ระบบ ดังนั้นระบบตลาดเงินตลาดทุนของฮ่องกงยังคงเหมือนเดิม สกุลเงินที่ใช้ซื้อขาย คือ ดอลลาร์ฮ่องกง ดัชนีตลาดหุ้น คือ ดัชนีฮั่งเส็ง หรือ Hang Seng Index (HSI) ครับ
ก่อนที่ระบบตลาดหุ้นจีนจะเกิดขึ้นมาภายหลัง บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน ก็มาจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงมากมาย ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะถูกจัดกลุ่ม H-share เริ่มเข้าตลาดหุ้นฮ่องกงเมื่อปี 2536 ปัจจุบันมีหุ้นจีน H-share อยู่ 323 บริษัท มาร์เก็ตแคปรวม 5.21 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง จากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 2,609 บริษัท มาร์เก็ตแคปรวม 21.42 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง เรียกได้ว่า เกือบ 1 ใน 4 ของตลาดหุ้นฮ่องกง ถูกขับเคลื่อนโดยหุ้นจีน H-share ถ้านึกถึงบริษัทจีนที่อยู่ในตลาดหุ้นฮ่องกง ก็เช่น ธนาคาร China Construction บริษัท PetroChina บริษัท Haier Smart Home และบริษัท Tsingtao Brewery หุ้น H-share ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นจีนควบคู่ (dual listing) กันไปด้วย เช่น ธนาคาร ICBC บริษัท Ping An Insurance บริษัท BYD และบริษัท Great Wall Motor
ตลาดหุ้นจีน มาทีหลัง แต่ดังกว่า
ขณะที่การก่อตั้งตลาดหุ้นจีน มีวิวัฒนาการมานานไล่เลี่ยกับตลาดหุ้นฮ่องกง แต่ด้วยสงครามจีนและญี่ปุ่น จนนำมาสู่การสังหารหมู่หนานจิง และสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กำเนิดตลาดทุนในจีนแผ่นใหญ่ได้เปิดซื้อขายหุ้นจริง ๆ จัง ๆ ก็เข้าสู่ช่วงทศวรรษ 90 เข้าไปแล้ว โดยตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ (SSE) ก่อตั้งในปี 2533 และตลาดหุ้นเซินเจิ้น (SZSE) ก่อตั้งในปี 2534
ปัจจุบันตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ มีบริษัทจดทะเบียนราว 2,270 บริษัท มาร์เก็ตแคปเป็นอันดับ 3 ของโลก อยู่ที่ 8.15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รองจากตลาดหุ้น NYSE และ Nasdaq ของสหรัฐอเมริกา ส่วนตลาดหุ้นเซินเจิ้น มี 2,848 บริษัท มาร์เก็ตแคปเป็นอันดับ 6 ของโลก อยู่ที่ 6.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้านับรวมมาร์เก็ตแคปของทั้ง SSE และ SZSE อยู่ที่ 14.37 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ตลาดหุ้นจีนมีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้น Euronext และญี่ปุ่น เป็นรองแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น เรียกได้ว่า สามารถไต่มาเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกได้ใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปี แต่สถานะยังเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (emerging market)
ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ (SSE) และตลาดหุ้นเซินเจิ้น(SZSE) มีหุ้นหลายกลุ่ม แต่เป้าหมายของนักลงทุนไทย คือ A-share เป็นบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อตั้งในจีน ซื้อขายด้วยเงินหยวนจีน และเปิดให้นักลงทุนต่างชาติซื้อขายได้ภายใต้เงื่อนไข Qualified Foreign Institutional Investor (QFII) หรือ RMB Qualified Foreign Institutional Investor (RQFII) และโปรแกรม Stock Connect B-share เป็นบริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อตั้งในจีนเช่นเดียวกัน ซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ สำหรับ SSE และเงินดอลลาร์ฮ่องกง สำหรับ SZSE เปิดให้นักลงทุนต่างชาติโดยตรง
นอกจากนี้ยังมีหุ้นกลุ่มย่อย ๆ อย่าง N-share เป็นบริษัทจีนที่ก่อตั้งนอกประเทศ ซื้อขายในตลาดหุ้น NYSE หรือ Nasdaq ส่วน Red Chip เป็นบริษัทจีนที่รัฐบาลถือหุ้น ก่อตั้งนอกประเทศ ซื้อขายในตลาดหุ้นฮ่องกง และ P Chip คือ บริษัทเอกชนจีน ก่อตั้งนอกประเทศ ซื้อขายในตลาดหุ้นฮ่องกง
ส่วน ADR (American Depositary Receipt) คือ บริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อตั้งในจีน แต่ซื้อขายในตลาดหุ้น NYSE หรือ Nasdaq ที่รู้จักกัน ได้แก่ บริษัท Alibaba บริษัท NetEase บริษัท Baidu บริษัท JD และบริษัท Trip.com
สำหรับดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น คือ SSE Composite Index และ SZSE Composite Index แต่ถ้ารวมหุ้น A-share ทั้ง 2 ตลาดหุ้น จะใช้ดัชนี CSI 300 ครับ
‘หุ้นฮ่องกง’ กับ ‘หุ้นจีน’ เลือกอะไรดี
ถ้าพูดถึงตลาดหุ้นฮ่องกงและจีน ต้องบอกว่าทั้ง 2 ตลาดจะมีความเกี่ยวข้องกันสูง ถ้าจีนมีข่าวลบกดดันตลาดหุ้น ฮ่องกงจะลงตามกัน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient) ระหว่าง 2 ตลาดหุ้นนี้ แทบจะใกล้ +1.0 เลยครับ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะได้ยินข่าวว่า ตลาดหุ้นจีนเผชิญแรงกดดันมากมาย โดยเฉพาะระเบิดลูกใหญ่ คือ วิกฤตหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ เริ่มจากรายใหญ่อย่าง China Evergrande ที่มีหนี้ท่วม 3 แสนล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยบริษัทเล็กใหญ่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ส่งผลให้ภาคการเงินการธนาคารประสบปัญหาตามมา จากความกังวลด้านหนี้เสีย
นอกจากนี้ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่กดดันตลาดหุ้นจีน เช่น การตรวจสอบธุรกิจเทคโนโลยีจีน การจำกัดเวลาเล่นเกมของเยาวชนจีน การเฝ้าระวังข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหลในแอปพลิเคชันส่งอาหาร และการหายตัวไปของผู้ก่อตั้งบิ๊กอีคอมเมิร์ช Alibaba อย่าง Jack Ma ส่งผลให้ทั้งหุ้นจีนและฮ่องกง ราคาลดลง
ในปี 2566 เป็นช่วงตลาดหุ้นจีนขาลง ยิ่งตลาดหุ้นฮ่องกงปรับลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 15 ปี ผมมองว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นรับรู้ปัจจัยลบเหล่านี้ไปเยอะแล้ว ต่อให้ยังมีความกังวลต่อหนี้ภาคอสังหาฯ คำสั่งศาลให้ชำระบัญชีหนี้คงค้าง หรือการล้มละลายของบริษัทจดทะเบียน แต่ในแง่มาร์เก็ตแคปของหุ้นกลุ่มนี้หดตัวลงมามากแล้วจริงๆ
จนถึงวันนี้ ผมเชื่อว่า นักลงทุนหลายคนเริ่มทำใจกับช่วงไซเคิลขาลงของ 2 ตลาดหุ้นนี้แล้ว แต่ก็ยังตั้งคำถามว่า จะเห็นภาพหุ้นจีนพลิกฟื้นเมื่อไร
ส่วนตัวผมมองว่า ถึงแม้ที่ผ่านมา ช่วงที่ภาวะหุ้นขาลง ความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลกหดหายไป ท่าทีของรัฐบาลจีนก็พยายามออกมาตรการเป็นระยะๆ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ทีละขั้น ป้องกันไม่ให้บริษัทที่มีปัญหาล่มสลาย สร้างวิกฤตเป็นโดมิโน เพื่อกำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุนแต่ทั่วโลกก็มองว่าจีนทำชุดเล็กไป ควรจะจัดมาตรการชุดใหญ่ออกมาให้ส่งแรงกระเพื่อมตลาดได้
จ้บสัญญาณ หุ้นดีในขาลง แต่โอกาสกลับตัวเด้งแรง
คำถามที่ว่า ภาพหุ้นจีนที่ลงมาแรงในช่วงหลายปี แล้วปี 2567 จะมีโอกาสไหลลงแรงอีกไหมหรือตอนนี้หุ้นจีนลงสุดหรือยัง?
ผมประเมินว่า เราน่าจะเห็นภาพซอฟต์แลนดิงของทั้ง ‘หุ้นฮ่องกง’ กับ ‘หุ้นจีน’ ที่ชัดเจนขึ้น หลังจากฝุ่นตลบตลอดปีที่แล้วกันเพราะปีนี้ ฝั่งสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะเห็นการใช้นโยบายการเงินที่นิ่งขึ้น ตลาดคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้จีนมีช่องว่างมากขึ้นในการใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องเม็ดเงินไหลออกฉับพลัน
ขณะที่บริษัทที่มีปัญหาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนราคาหุ้นลงไปมาก ผมคิดว่าแทบจะไม่มีผลต่อตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงแล้วครับ ยิ่งพอมีข่าวดี ๆ เช่น ธนาคารกลางจีนประกาศลด (Required Reserve Ratio : RRR) ลงอีก 0.5% และยังอนุโลมบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้สามารถกู้ยืม โดยใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้สินและหุ้นกู้ แถมยังสนับสนุนให้กองทุน Central Huijin Investment ของรัฐบาลจีนเตรียมเข้าซื้อ ETF และหุ้นในตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงมากขึ้น ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นขึ้นเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีครับ
ถ้าวิเคราะห์ความถูกแพงของ ‘หุ้นฮ่องกง’ กับ ‘หุ้นจีน’ ผมมีข้อมูลจากทีมงาน Jitta Wealth ที่น่าสนใจมาให้ดูกันครับ ถ้าจะดูหุ้นถูกหรือแพงผ่านค่า Forward P/E (Price-to-Earnings) ratio ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่า ตลาดหุ้นฮ่องกง โดย Hang Seng Index มีค่า Forward P/E อยู่ที่ 8.04 เท่า ส่วนตลาดหุ้นเซียงไฮ้ SSE Composite Index อยู่ที่ 12.88 เท่า และตลาดหุ้น เซินเจิ้น หรือ SZSE Composite Index อยู่ที่ 16.25 เท่า ผมคิดว่า ราคาหุ้นถูกมากเมื่อเทียบกับมูลค่ากิจการ (Valuation) ที่ควรจะเป็น
หากพิจารณาลงทุนระหว่างตลาดหุ้นฮ่องกงและจีน ถึงจะมีความใกล้ชิดกันมาก แต่มีความแตกต่างในด้านกฎระเบียบ การกำกับดูแล มาตรฐานทางบัญชี และสถานะของตลาดหุ้น
ปัจจุบัน Forward P/E ของตลาดหุ้นฮ่องถูกกว่าชัดเจน ถ้าเข้าลงทุนในช่วงนี้ จะเห็นผลตอบแทนที่เร็วกว่า และมีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้ง่ายกว่า แต่ศักยภาพตลาดหุ้นฮ่องกงอาจจะไม่เติบโตสูงมากเหมือนเมื่อก่อนครับ
ถ้ามองในแง่ศักยภาพ หุ้นจีนมีโอกาสเติบโตในระยะยาว เพราะขนาดเศรษฐกิจใหญ่ มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นมากกว่าตลาดหุ้นพัฒนาแล้วประเทศอื่น ๆ
ดังนั้นหากคุณมีพอร์ตลงทุนในหุ้นจีนอยู่แล้ว คุณลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตอยู่แล้ว มองภาพระยะยาวเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไปได้ ก็แนะนำเลือกลงทุนได้ทั้ง 2 ตลาดหุ้นครับ อยู่ที่จริตของคุณว่า เชื่อมั่นใน ‘หุ้นฮ่องกง’ หรือ ‘หุ้นจีน’ มากกว่ากัน เพราะไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นไหน ก็มีทั้งหุ้นดีและหุ้นแย่ปะปนกันไป และในภาวะวิกฤต ก็มีบางอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะหุ้นดีอยู่ที่งบการเงินและคุณภาพกิจการ ที่จะพาพอร์ตลงทุนเติบโตในระยะยาวครับ
หากคุณเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจอยากกระจายลงทุนหุ้นหุ้นจีนกับหุ้นฮ่องกง คุณสามารถสร้างพอร์ตลงทุนหุ้นรายตัวได้โดยตรง แต่ถ้าไม่รู้จะเลือกหุ้นตัวไหนดีก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลหุ้นจีนดีๆ ใน Jitta.com ที่มีการจัดอันดับ (Ranking) ไว้ให้แล้วครับ สามารถดูได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
ผมบอกเลยว่านาทีนี้หุ้นจีนน่าสนใจอย่างแรงเลยครับ ซึ่งข้อมูลที่ทางทีมงานผมเคยทำผลตอบแทนย้อนหลัง (back test) ในช่วง 10 ปี (ปี 2557-2566) ไว้ สำหรับแผนการลงทุนส่วนบุคคล Jitta Ranking หุ้นจีน มีผลตอบแทนเฉลี่ย 10.68% ส่วน Jitta Ranking หุ้นเทคโนโลยีจีน ผลตอบแทนเฉลี่ย 13.34% ซี่งจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับดัชนี CSI300 TR ในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 6.32%
ส่วน Jitta Ranking หุ้นฮ่องกง ที่เพิ่งเปิดให้ลงทุนล่าสุด ผลตอบแทนย้อนหลังเฉลี่ย ปี 2557-2566 อยู่ที่ 19.68% เมื่อเทียบกับดัชนี HSI TR มีผลตอบแทนเฉลี่ย 0.57% นี่แค่ผลตอบแทนย้อนหลังนะครับ หากลงทุนในช่วงที่ราคาหุ้นต่ำๆ แบบนี้เชื่อว่าในอนาคต โอกาสที่จะเห็นพอร์ตเด้งหลายเท่ามีแน่นอนครับ
ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ ผมอยากบอกว่า จริงๆ ตลาดหุ้นขาลง ถือเป็นโอกาสลงทุนในหุ้นดี ราคาถูก เพียงแต่ต้องใช้เวลาพอสมควรรอรอบขาขึ้นตามวัฎจักรครับ และถ้าคุณเชื่อมั่นว่า กำลังสร้างพอร์ตลงทุนที่แข็งแกร่ง หากหุ้นที่ลงทุนเป็นธุรกิจมีอนาคตดี มีรายได้เติบโต ธุรกิจมีกำไร ผู้บริหารมีฝีมือดี และกระบวนภายในองค์มีความโปร่งใส เป็นต้น หุ้นดีๆเหล่านี้ จะฝ่าวิกฤตไปได้ครับ และจะพาพอร์ตของคุณเติบโตทบต้นในระยะยาวได้ครับ
ขอให้คุณมีความสุขทุกการลงทุนนะครับ
‘หุ้นฮ่องกง’ กับ ‘หุ้นจีน’ ฝาแฝดแห่งโลกลงทุน
โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO จาก Jitta Wealth
#จิตตะ #ภาษีจากการลงทุนหุ้นต่างประเทศ #ตลาดหุ้นไทย #CapitalGainTax #สิงคโปร์ #ฮ่องกง #นักลงทุน #กระจายความเสี่ยง #สร้างผลตอบแทน #การลงทุนไร้พรมแดน #สร้างผลตอบแทน #การจัดเก็บภาษี #การกระตุ้นเศรษฐกิจ #NetCapitalGain #พอร์ตโฟลิโอ #Portfolio #ขาดทุน #กำไร
ติดตามข่าวหุ้นและการลงทุนทางไลน์
• Line @TNNWEALTH : https://bit.ly/3tCKmiD
———————————————————————
ติดตาม TNN Wealth ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่
• Youtube : https://bit.ly/TNNWealthYoutube
• TikTok : https://bit.ly/TNNWealthTikTok
หรือดูรายการ Live ได้ทาง https://bit.ly/3HmUu4O
ข่าวแนะนำ
-
ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวน
- 25/7/67