TNN online เปิดประวัติ หน้ากากอนามัย เซฟชีวิตหมอ-ผู้ป่วยมานานนับร้อยปี

TNN ONLINE

Social Talk

เปิดประวัติ หน้ากากอนามัย เซฟชีวิตหมอ-ผู้ป่วยมานานนับร้อยปี

เปิดประวัติ หน้ากากอนามัย เซฟชีวิตหมอ-ผู้ป่วยมานานนับร้อยปี

หมอมนูญเปิดประวัติความเป็นมาของหน้ากากอนามัยช่วยชีวิตหมอ-คนไข้มานับร้อยปี แนะคนไทยมีจิตสำนึกช่วยกันใส่ป้องกันโรคระบาด

วันนี้ ( 27 พ.ค. 63 ) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยความเป็นมาของหน้ากากอนามัย โดยระบุข้อความว่า 


“ประวัติของหน้ากากทางการแพทย์และหน้ากากอนามัยหมอผ่าตัดเริ่มใส่หน้ากากครั้งแรกขณะผ่าตัดเมื่อ 123 ปีที่แล้ว เดิมทีหมอผ่าตัดส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากาก (ดูรูป) จนกระทั่งเมื่อ 115 ปีก่อน นักเรียนแพทย์ที่นั่งอยู่ในมุมหนึ่งของห้องผ่าตัด มองเห็นภายใต้แสงไฟ ละอองน้ำลายของหมอผ่าตัด ขณะพูดกับหมอผู้ช่วย และพยาบาลส่งเครื่องมือ กระเด็นลงในแผลผ่าตัด ทำให้แผลผ่าตัดติดเชื้อ หมอผ่าตัดทั่วโลกจึงเริ่มใส่หน้ากาก สมัยนั้นหน้ากากทำด้วยผ้า


เมื่อ 102 ปีก่อนมีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปนไปทั่วโลก ประเทศไทยมีคนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เดือน ต.ค.2461 สิ้นสุด มี.ค.2462 ราว 2 ล้าน 3 แสนคน เสียชีวิตประมาณ 8 หมื่นราย จากพลเมืองสยามเวลานั้น มีทั้งหมด 8 ล้าน 4 แสนคน ป่วยทั้งประเทศ 27% ตายเกือบ 1% ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน คนใส่หน้ากากผ้ากันทั่วโลก


ประเทศไทยช่วง 100 ปีก่อน มีการระบาดของวัณโรคร่วมด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขไทยได้ทรงนิพนธ์บทความให้รู้วิธีป้องกันวัณโรคไม่ให้แพร่เชื้อไปติดคนอื่น เวลาไอจาม ต้องปิดปากด้วยผ้า มือเปื้อนต้องล้างมือเมื่อปีพ.ศ.2463 จุดประสงค์ของการใส่หน้ากากสมัยนั้นเพื่อป้องกันผู้อื่นมากกว่าเพื่อป้องกันตนเอง


การใส่หน้ากากผ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนไทยไม่คุ้นเคย เมื่อ 19 ปีก่อนผมได้ดูแลผู้ป่วยเป็นวัณโรคดื้อยา ผมขอร้องให้เขาใส่หน้ากาก แต่เขาปฏิเสธ กลัวถูกคนอื่นรังเกียจ สมัยนั้นไม่มีใครใส่หน้ากากเดินในที่สาธารณะ หรือเวลามารพ. 


ผมเกิดความคิดที่จะรณรงค์ให้คนไทยมีจิตสำนึก เมื่อตนเองป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ วัณโรค หรือโรคติดเชื้อใหม่ที่อาจเกิดขึ้นใน อนาคต ให้ใส่หน้ากาก และล้างมือเมื่อมือเปื้อนน้ำมูกเสมหะ เพื่อป้องกันไม่ให้ไปติดผู้อื่น ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม 


สมัยนั้นคนไทยเรียกหน้ากากว่า หน้ากากผ่าตัด หรือหน้ากากปิดปากปิดจมูก ผมจึงตั้งชื่อใหม่ว่า”หน้ากากอนามัย”เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ในการรณรงค์ลดการแพร่เชื้อทางเดินหายใจให้ผู้อื่นด้วยการใส่หน้ากากอนามัย


เมื่อเริ่มรณรงค์ 18 ปีที่แล้วภายใต้ทุนวิจัยวัณโรคดื้อยาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราขนครินทร์ ศิริราชมูลนิธิ ซึ่งผมเป็นประธาน โดยมีคุณเบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ คุณนิโคล เทริโอ และศิลปินเด็กแกรมมี่ในขณะนั้นมาช่วยเป็นพรีเซนเตอร์ เราแจกฟรีทั้งหน้ากากผ้า แอลกอฮอล์เจล 


ระยะแรกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยเห็นด้วย แต่หน่วยงานของรัฐ สมาคมที่ทำงานด้านวัณโรค และโรคปอดเห็นต่าง ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นด้วย (ดูรูป) สมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่กล้าใส่หน้ากาก


หลังจากเริ่มรณรงค์ก็มีโรคระบาดใหม่ๆเกิดขึ้นตามมา โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก โรควัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) คนไทยใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น และเริ่มติดปากคำว่าหน้ากากอนามัย


เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา คนไทยตื่นตัว กลัวฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว PM 2.5 เราจึงเห็นคนไทยใส่หน้ากากมากขึ้นอีกในวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน แต่จุดประสงค์ของการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันตนเองจากการหายใจฝุ่นพิษเข้าร่างกาย การใส่หน้ากากจึงกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจอีกต่อไป


ปัจจุบันเมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่น่ากลัว ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน วิธีป้องกันดีที่สุดคือ ใส่หน้ากากอนามัยทุกคนไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้าหรือหน้ากากสีเขียวสีฟ้า หมั่นล้างมือก่อนเอามือมาแคะจมูก ขยี้ตา และเว้นระยะห่าง

คนไทยให้ความร่วมมือดีมากใส่หน้ากากเพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่น ขอให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่างต่อไป”



เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com  

facebook : TNNThailand 

twitter : @TNNThailand 

Line : @TNNThailand 

Youtube Official : TNNThailand


ข่าวที่เกี่ยวข้อง