TNN online ขึ้นภาษี "บิ๊กไบค์" ส่งผลกระทบ "นักบิด" แค่ไหน?

TNN ONLINE

สังคม

ขึ้นภาษี "บิ๊กไบค์" ส่งผลกระทบ "นักบิด" แค่ไหน?

ขึ้นภาษี บิ๊กไบค์ ส่งผลกระทบ นักบิด แค่ไหน?

มาตรการขึ้นภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ คิดตามการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ดีเดย์ปีหน้า คาดกระทบกลุ่ม "บิ๊กไบค์" 1,000 ซีซี ขึ้นไป จะต้องเสียภาษีเพิ่มคันละประมาณ 1 แสนบาท

จากมาตรการขึ้นภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ ที่จะคิดตามการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ซึ่งจะเริ่มปีหน้า แม้ทางโฆษกกรมสรรพสามิต จะยืนยันว่า นโยบายนี้จะส่งผลดีต่อการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ แต่ก็สร้างความวิตกกังวลให้ผู้ประกอบการ และผู้ใช้รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ เพราะกลุ่มนี้จะมีการขึ้นภาษีสูงสุดถึงคันละ 1 แสนบบาท 

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จะมีการเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์รูปแบบใหม่ จากเดิมเก็บตามขนาดเครื่องยนต์ มาเป็นตามการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ CO2  โดยนโยบายนี้ ครม. รัฐบาลที่ผ่านมาได้เห็นชอบตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2562  โดยภาษีใหม่จะเริ่มเก็บกับรถที่นำออกจากโรงงานหรือนำเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

สำหรับอัตราภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ จะทำให้รถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 150 ซีซี ที่มีการใช้เป็นส่วนใหญ่ 90% ของรถทั้งหมดในประเทศ มีภาษีเพิ่มขึ้นคันละประมาณ 100 กว่าบาทเท่านั้น เพราะจากเดิมเสียภาษีในอัตรา 2.5% มาเสียภาษี 3% ของราคาขายปลีกหรือราคานำเข้า

ขณะที่ รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ตั้งแต่ที่เครื่องยนต์เกิน 1,000 ซีซี ขึ้นไป หรือ บิ๊กไบค์ จะต้องเสียภาษีเพิ่มคันละประมาณ 1 แสนบาท เนื่องจากกินน้ำมันมีการปล่อย CO2 มาก ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น และรถมีราคาแพงคันละกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งบิ๊กไบค์ในประเทศไทยได้รับความนิยมในประเทศไทยมากขึ้น มีสัดส่วน 2-3%

สำหรับอัตราภาษีรถจักรยานยนต์ประกอบด้วย 3% 5% 9% และ 18% ตามการปล่อย CO2 โดยหากผู้ประกอบการไม่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้มีการปล่อย CO2 ลดลง จะทำให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นปี 500-700 ล้านบาท

ส่วนสาเหตุที่มีการเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามการปล่อย CO2  รองโฆษกกรมสรรพสามิต ระบุว่า จะทำให้เกิดการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม รถบิ๊กไบค์มีทั้งจากค่ายยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะมีการปรับเทคโนโลยีให้ทันสมัยเพื่อให้เสียภาษีเพิ่มขึ้นน้อยลง  

ข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2562 ยอดขายรถจักรยานยนต์จะทำได้ประมาณ 1,755,000 คัน หรือหดตัว 2% จากที่เคยทำได้ 1,788,323 คัน ในปี 2561 สาเหตุจากตลาดอยู่ในภาวะอิ่มตัว ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ และสถานการณ์แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าว มันสาปะหลัง ยางพารา ปาล์ม อ้อย ที่ยังไม่ฟื้นตัวอันเป็นผลจากอุปทานล้นตลาดโลก  ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อรายได้ผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อรถจักรยานยนต์ และยังมีปัจจัยเรื่องการอนุมัติปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น  

ส่วนในปี 2563 ที่รถจักรยานยนต์ต้องปรับไปใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 4 และปรับวิธีคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ทำให้ค่ายรถจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายรถจักรยานยนต์ตามต้นทุนที่เปลี่ยนไป โดยขนาดเล็กเครื่องยนต์ไม่เกิน 125 ซีซี ซึ่งสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของตลาด น่าจะปรับราคาเพิ่มขึ้น 2-3%  แต่คาดว่าไม่กระทบกับผู้บริโภคมากนัก 

ส่วนรถจักรยานยนต์ขนาดกลางเครื่องยนต์ 126-250 ซีซี อาจปรับราคาขึ้น 10% และขนาดใหญ่เครื่องยนต์ 215-1,000 ซีซี ปรับขึ้น 16% และขนาดใหญ่กว่า 1,000 ซีซี ปรับขึ้น 7% จึงอาจทำให้เกิดการเร่งซื้อรถจักรยานยนต์ขนาดกลางขึ้นไปตั้งแต่ กลางปีถึงปลายปีนี้ จากผู้บริโภคที่มีความตั้งใจจะซื้ออยู่แล้ว และอาจส่งผลต่อยอดขายในปีหน้าที่อาจจะลดลงมากอย่างแน่นอน   

การขึ้นภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ในครั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มผู้ขี่รถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือที่เราเรียกว่า บิ๊กไบค์ ซึ่งเป็นรถมอเตอร์ไซค์ ที่มีขนาด 400 ซีซี ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะราคาอยู่ในหลักแสน เริ่มตั้งแต่หลักแสนต้นๆ ไปจนถึงถึงหลักล้านบาท การขึ้นภาษีสูงสุดถึง 1 แสนบาทในรถกลุ่มนี้ แม้ภาครัฐจะมองว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อรถในราคาสูง และมีจำนวนไม่มากหากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับรถประเภทอื่นๆ 

เมื่อมาดูตัวเลขตลาดรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ ถือว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ยอดขายรถบิ๊กไบค์รวม 5 ปีล่าสุด

ปี 2555 ขายได้ 6,206 คัน

ปี 2556 ขายได้ 13,423 คัน

ปี 2557 ขายได้ 16,603 คัน

ปี 2558 ขายได้ 19,962 คัน

ปี 2559 ขายได้  23,985 คัน

ปี 2560 ประมาณ 34,000 คัน

ส่วนในปี 2561 ตลาดรถบิ๊กไบค์ จะมีอัตราลดลงราว 5% หรืออยู่ที่ 3 หมื่น 3 คัน  ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ของตลาดรถบิ๊กไบค์ที่ติดลบหรือไม่เติบโต ในรอบ 10 ปี ทำให้ผู้ผลิตหันมาผลิตรถบิ๊กไบค์ในระดับราคาต่ำกว่า 4 แสนบาท เพื่อเป็นตัวช่วยในการพยุงตลาดไว้ และยังเป็นการขยายฐานตลาดไปยังกลุ่มผู้มีกำลังซื้อระดับรายได้ปานกลาง

ในปีนี้ยอดขายบิ๊กไบค์ อาจเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน เพราะผู้ที่ตั้งใจจะซื้ออยู่แล้วอาจจะรีบซื้อบิ๊กไบค์ก่อนขึ้นภาษี ส่วนในปีหน้าน่าจะส่งผลให้ยอดขายลดลงอยากมาก เพราะกลุ่มผู้มีกำลังซื้อระดับรายได้ปานกลาง อาจหันไปซื้อรถมอร์เตอร์ไซต์แบบอื่นๆ แทน รวมไปถึงผู้ผลิตที่ต้องปรับเทคโนโลยี เพื่อลดการปล่อย CO2 ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของบิ๊กไบค์สูงขึ้นไปอีก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักบิดอ่วม! เตรียมเก็บภาษีบิ๊กไบค์เพิ่มอีกคันละ1แสน



เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง