TNN online วิกฤต! 'เขื่อนอุบลรัตน์' เผชิญภัยแล้งหนักสุดในรอบ 53 ปี

TNN ONLINE

ภูมิภาค

วิกฤต! 'เขื่อนอุบลรัตน์' เผชิญภัยแล้งหนักสุดในรอบ 53 ปี

วิกฤต! 'เขื่อนอุบลรัตน์' เผชิญภัยแล้งหนักสุดในรอบ 53 ปี

'เขื่อนอุบลรัตน์' ประสบปัญหาภัยแล้งหนักสุดในรอบ 53 ปี ต้องนำน้ำก้นอ่างขึ้นมาใช้

วันนี้( 19 ม.ค.63) สถานการณ์ภัยแล้งยังคงส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ โดยระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ลดระดับลงต่ำสุดในรอบ 53 ปี จนเห็นซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถวัดวุฒิศิลป์ชัย บ้านโคกใหญ่ หลังเก่าอายุร่วม 100 ปี โผล่ขึ้นมาหลังก่อสร้างเขื่อนเมื่อปี 2507 ก่อนที่ชาวบ้านจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปตั้งบ้านใหม่ ปล่อยให้น้ำท่วมบริเวณดังกล่าว 

นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ขณะนี้ไม่เหลือน้ำกักเก็บที่สามารถใช้การได้ ต้องนำน้ำก้นอ่างขึ้นมาใช้ คาดว่าจนถึงเดือนกรกฏาคม จำเป็นต้องนำน้ำก้นอ่างมาใช้ประมาณ 180 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้ถือได้ว่าเขื่อนอุบลรัตน์ประสบปัญหาภัยแล้งหนักสุดในรอบ 53 ปี 

ขณะที่แม่น้ำยม รวมถึงคลองสาขาต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อยู่ในสภาพแห้งขอดบางพื้นที่ แม้จะเหลือน้ำขังเป็นแอ่ง ๆ แต่ก็มีเครื่องสูบน้ำของชาวนา สูบน้ำขึ้นไปใส่นาข้าว ซึ่งพบว่าสภาพพื้นที่โดยรวมของอำเภอบางระกำ เต็มไปด้วยนาข้าวอายุ 1-2 เดือน ที่ยังเขียวขจี เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ เลือกที่จะทำนาดีกว่าปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าโดยมีบ่อน้ำบาดาลเป็นของตัวเอง เพื่อดึงน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงนาข้าว 

สำหรับสถานการณ์แม่น้ำยม ขณะนี้ถือว่าค่อนข้างวิกฤต โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดพิจิตร  พิษณุโลก ทำให้ชาวนาริมแม่น้ำยม ที่ต้องพึ่งน้ำใช้เพื่อการเกษตร เริ่มขาดน้ำ ส่วนใหญ่ต้องลงทุนขุดบ่อบาดาล เพื่อสูบน้ำมาเลี้ยงต้นข้าว ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่บอกถึงความจำเป็นต้องลงทุนเจาะบ่อบาดาลไว้ แม้จะต้องใช้เงินมากถึง 2 หมื่นบาท เพราะปีนี้ชลประทานประกาศงดส่งน้ำ เนื่องจากน้ำในเขื่อนเหลือน้อย ชาวบ้านที่ยึดอาชีพทำนามานาน และยังมีหนี้สิน ถ้าไม่ทำนารอบนี้ก็จะไม่มีเงินส่งดอกเบี้ย และส่งเงินต้นให้กับธนาคาร จึงต้องฝืนทำนา เพราะหากจะให้ไปทำอาชีพอื่นก็ทำไม่ไหวและไม่ชำนาญ

ส่วนภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้สระน้ำดิบที่ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง เนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาผลิตน้ำประปาส่งให้ชาวบ้านได้  ทำให้ชาวบ้านเกือบ 100 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ต้องรอเทศบาลตำบลใหม่ นำรถบรรทุกน้ำมาเติมลงในโอ่งน้ำตามหมู่บ้าน ชาวบ้าน เล่าว่า สระน้ำแห่งนี้ไม่เคยแห้งเช่นนี้มาก่อน เพราะทุกปีปริมาณน้ำตามคลองน้ำต่างๆ ยังสามารถสูบน้ำมาเติมในสระน้ำได้ แต่ปีที่ถือว่าแล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี จากภาวะฝนทิ้งช่วงและฝนตกน้อย จึงอยากวอนภาครัฐเร่งหาทางช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน 

สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ยังคงขยายวงกว้าง โดยภาพที่เห็นอยู่ในขณะนี้เป็นภาพคลองส่งน้ำ ขวา 1 โครงการชลประทานบรมธาตุ เชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ 3 อำเภอใน 2 จังหวัด คือ อำเภอเมือง อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ปัจจุบันมีสภาพแห้งขอด เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดต่ำ ไม่สามารถไหลเข้าคลองตามปกติได้ 

ก่อนหน้านี้ นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยข้อมูลว่า มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 20 จังหวัด มีประชาชน ได้รับความทเดือดร้อน 4,600 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และพะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา และสกลนคร ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง 



เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง