TNN online โลกส่อเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดทำลายสถิติในปี 66-67 ผลพวงจากเอลนีโญ

TNN ONLINE

Earth

โลกส่อเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดทำลายสถิติในปี 66-67 ผลพวงจากเอลนีโญ

โลกส่อเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดทำลายสถิติในปี 66-67 ผลพวงจากเอลนีโญ

โลกมีแนวโน้มเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดทำลายสถิติในปีนี้ หรือปีหน้า ซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนและกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ

วันนี้ ( 21 เม.ย. 66 )นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ แถลงว่า โลกอาจทำลายสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยใหม่ในปี 2566 หรือ 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการกลับมาของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ตามที่คาดการณ์ไว้ โดยรูปแบบของสภาพอากาศ มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น หลังจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในมหาสมุทรแปซิฟิกผ่านมา 3 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบอากาศที่อุณหภูมิทั่วโลกลดต่ำลงเล็กน้อย โลกก็จะเผชิญกับการกลับมาของเอลนีโญ สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นในปลายปีนี้ 

ระหว่างปรากฏการณ์เอลนีโญ กระแสลมที่พัดไปทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นศูนย์สูตร จะพัดช้าลง และน้ำอุ่นจะถูกผลักไปทางทิศตะวันออก ทำให้อุณหภูมิเหนือพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น

คาร์โล บวนเทมโป ผู้อำนวยการสำนักงานบริการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “โคเปอร์นิคัส” ของสหภาพยุโรป หรืออียู เปิดเผยว่า ปกติแล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญเกี่ยวข้องกับการทำลายสถิติของอุณหภูมิในระดับโลก สิ่งนี้จะเกิดขึ้นในปี 2566 หรือ 2567 หรือไม่ยังไม่รู้ แต่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้มากกว่า

แบบจำลองอากาศ บ่งชี้ว่า การกลับมาของเอลนีโญในช่วงปลายฤดูร้อน และมีความเป็นไปได้ของเอลนีโญที่รุนแรง จะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี 

จนถึงขณะนี้ ปีที่ร้อนที่สุดของโลกอยู่ในปี 2559 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้กระตุ้นให้อุณหภูมิสูงขึ้น แม้ในช่วงหลายปีที่ไม่มีปรากฏการณ์นี้ก็ตาม

ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เป็น 8 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่จะเกิดภาวะโลกร้อนนานขึ้น จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ฟรีดไรค์ ออตโต วิทยากรอาวุโสที่สถาบันแกรนแธม ของวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า อุณหภูมิที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง ซึ่งประเทศต่าง ๆ กำลังประสบ รวมทั้งคลื่นความร้อนรุนแรง, ภัยแล้งและไฟป่า 

ออตโต กล่าวว่า หากเอลนีโญพัฒนาขึ้น ก็มีโอกาสดีที่ในปี 2566 จะเป็นปีที่ร้อนกว่าปี 2559 เมื่อพิจารณาว่า โลกยังคงร้อนขึ้นต่อไป เนื่องจากมนุษย์ยังคงเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล 

บรรดานักวิทยาศาสตร์ของโคเปอร์นิคัส เผยแพร่รายงานชิ้นหนึ่งในวันพฤหัสบดี ซึ่งประเมินความรุนแรงของสภาพอากาศที่โลกได้เผชิญเมื่อปีที่แล้ว เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยยุโรปเผชิญกับฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 ขณะที่ ฝนตกหนัก ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งหายนะในปากีสถาน และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระดับน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติก ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 

โคเปอร์นิคัส ระบุว่า ขณะนี้ อุณหภูมิทั่วโลกเฉลี่ย สูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.2 องศาเซลเซียส แม้ว่าบรรดาประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ให้คำมั่นว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเป็นศูนย์ แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ยังคงสูงอยู่ 

ภาพจาก :  AFP 

ข่าวแนะนำ