TNN online หมอธีระ เตือน " 3 แรง" ที่อาจมาพร้อมกันหากป้องกันโควิดไม่ดีพอ!

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอธีระ เตือน " 3 แรง" ที่อาจมาพร้อมกันหากป้องกันโควิดไม่ดีพอ!

หมอธีระ เตือน  3 แรง ที่อาจมาพร้อมกันหากป้องกันโควิดไม่ดีพอ!

หมอธีระ โพสต์เตือน " 3 แรง" ที่อาจมาพร้อมกันหากป้องกัน "โควิด" ไม่ดีพอ พร้อมอัปเดตแนวทางรักษาไวรัสของ WHO

วันนี้( 22 เม.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat

"22 เมษายน 2565 ทะลุ 507 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 779,573 คน ตายเพิ่ม 3,207 คน รวมแล้วติดไปรวม 507,605,202 คน เสียชีวิตรวม 6,235,307 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 79.99 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.2

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 24.23 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 17.3 

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก

ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 23.24% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

...อัพเดตแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ของ WHO

ล่าสุด 22 เมษายน 2565 มีการอัพเดตแนวทางการรักษาโควิด-19 เป็นการทบทวนครั้งที่ 10 โดยอิงหลักฐานวิชาการแพทย์จากงานวิจัยต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับ

สาระสำคัญคือ การแนะนำอย่างมั่นใจ (strong recommendation) ให้ใช้ Paxlovid (Nirmatrelvir/ritonavir) ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ยาอื่นๆ ที่มีคำแนะนำในระดับอ่อนลงมาคือ Molnupiravir, Remdesivir ฯลฯ 

จึงเป็นข้อมูลระดับสากลที่ประเทศไทยควรนำมาใช้จัดบริการดูแลรักษาประชาชน ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหรืออื่นๆ ที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผ่านขั้นตอนการศึกษาวิจัยตามมาตรฐานสากล 

หรือยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์

...สามแรง...ที่อาจมาพร้อมกันหากป้องกันไม่ดีพอ

แรงแรก...จากการระบาดต่อเนื่องจากเดิมทั้งในกลุ่มเสี่ยง คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมถึงที่ฉีดแล้วแต่ไม่ป้องกันตัว หนุนเสริมการระบาดมากขึ้นหลังช่วงเทศกาลที่ผ่านมา น่าจะเริ่มส่งผลให้เห็นได้ราวปลายเดือนนี้แต่จะต่อเนื่องไปในพฤษภาคม

แรงที่สอง...จากการติดเชื้อซ้ำในหมู่คนที่เคยติดมาก่อน ทั้งที่ได้หรือไม่ได้วัคซีน แต่ไม่ได้ป้องกันตัว

แรงที่สาม...จากสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ที่อาจเข้ามา เช่น BA.4 และ BA.5 ซึ่งมีคุณสมบัติหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เพิ่มขึ้นกว่า BA.2 เดิม และอีกสายพันธุ์ที่น่าจับตาคือ BA.2.12.1

สุดท้ายแล้วที่จะเป็นปัญหาระยะยาวคือ สึนามิจาก Long COVID ดังนั้นนโยบายและมาตรการระดับชาติจึงไม่ควรผลีผลาม ประชาชนในสังคมก็ควรตระหนักถึงสถานการณ์จริงว่าไม่ปลอดภัย ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด...

อ้างอิง

A living WHO guideline on drugs for covid-19. BMJ. 22 April 2022."





ภาพจาก AFP/รอยเตอร์/Thira Woratanarat 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง