TNN online หมอธีระเปิดข้อมูลไฟเซอร์-โมเดอร์นา ต่อการป้องกันโอมิครอน BA.2

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอธีระเปิดข้อมูลไฟเซอร์-โมเดอร์นา ต่อการป้องกันโอมิครอน BA.2

หมอธีระเปิดข้อมูลไฟเซอร์-โมเดอร์นา ต่อการป้องกันโอมิครอน BA.2

หมอธีระเปิดข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์-โมเดอร์นา ต่อการป้องกันโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ BA.2

วันนี้( 17 ก.พ.65 ) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า อัพเดตเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนในสหราชอาณาจักรต่อ Omicron

UK HSA ได้เผยแพร่รายงาน COVID-19 Vaccine Surveillance Report วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญคือ

หนึ่ง หากดูประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในสหราชอาณาจักร (Astra 2 เข็มและกระตุ้นด้วย Pfizer หรือ Moderna, หรือ mRNA vaccines 3 เข็ม) จะพบว่ามีประสิทธิภาพในการลดโอกาสป่วยจนต้องนอนรพ.และลดโอกาสเสียชีวิตได้ดี แต่ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ(ป้องกันการป่วย)ได้ไม่มากนักคือราว 50-75% ในช่วงสามเดือนแรกหลังฉีดเข็มกระตุ้น และเหลือ 40-50% หลังจากฉีดไป 4-6 เดือน (รูปที่ 1)

สอง หากดูเปรียบเทียบผลระหว่าง Omicron สายพันธุ์ดั้งเดิมคือ BA.1 กับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้นคือ BA.2 จะพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนต่อทั้งสองสายพันธุ์นี้ดูจะไม่แตกต่างกัน (รูปที่ 2)

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน แต่ที่สำคัญมากกว่าคือ การป้องกันตัวในระหว่างที่ดำเนินชีวิตประจำวัน 

แม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ป่วยได้ และเสียชีวิตได้เช่นกัน

การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น มีข้อมูลวิชาการแพทย์มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่ติดเชื้อ รักษา แล้วจะจบ แต่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะอาการคงค้างระยะยาว หรือ Long COVID ได้ 

โดยมีถึง 20-40% ของผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมดที่อาจเกิดภาวะนี้ 

นอกจากนี้ยังเกิดได้กับทั้งคนที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย หรือมีอาการรุนแรง

ป่วยรุนแรงเสี่ยงกว่าป่วยไม่รุนแรง ผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก ผู้หญิงเสี่ยงกว่าผู้ชาย แต่เน้นย้ำว่าทุกเพศ ทุกวัย ทุกความรุนแรงเกิดได้หมด

เชื่อกันว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิด Long COVID เพราะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบต่อเนื่องระยะยาวในระบบต่างๆ ของร่างกาย หรืออาจเกิดภาวะภูมิต้านทานตนเอง (autoantibody) 

Long COVID ในปัจจุบันมองว่าเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ถึง 200 อาการ เกิดได้ทั้งในระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ผิวหนัง ส่งผลทั้งต่อสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน สมรรถนะในการทำงานของผู้ป่วย และเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวทั้งต่อบุคคล ครอบครัว และสังคมได้

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

...สถานการณ์ไทยเรา การระบาดยังรุนแรง กระจายทั่ว และยังเป็นขาขึ้น

ใส่หน้ากากนะครับ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม


ข้อมูลจาก :  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก :  AFP

ข่าวแนะนำ