TNN online หมอธีระ มองภาพอนาคตถัดจากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก?

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

หมอธีระ มองภาพอนาคตถัดจากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก?

หมอธีระ มองภาพอนาคตถัดจากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก?

หมอธีระ อัปเดตข้อมูลไวรัสโควิด-19 มองภาพอนาคตถัดจากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก

วันนี้( 23 เม.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า

"23 เมษายน 2565 ทะลุ 508 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 656,588 คน ตายเพิ่ม 2,366 คน รวมแล้วติดไปรวม 508,404,105 คน เสียชีวิตรวม 6,238,724 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.11 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.05

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 28.31 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 24.97 

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 21.65% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

...มองแนวโน้มรายสัปดาห์

ข้อมูลจาก Worldometer ชี้ให้เห็นว่าทั่วโลกจำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 27% และจำนวนเสียชีวิตลดลง 22%

ในขณะที่ทวีปเอเชียนั้นจำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 34% และจำนวนเสียชีวิตลดลง 26%

ส่วนไทยเรานั้นจำนวนติดเชื้อใหม่ ไม่รวม ATK ลดลง 19% (โดยหากรวม ATK ไปด้วยจะพบว่าลดลง 11.65%) แต่กลับมีจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงถึง 22% จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะดูจากทั้งจำนวนติดเชื้อใหม่และจำนวนเสียชีวิต เรายังมีสถานการณ์ระบาดที่สวนกระแสโลก

เน้นย้ำให้เราทราบสถานการณ์จริง และมีสติในการใช้ชีวิต ป้องกันตัวให้ดี

...มองภาพอนาคต

หากพิจารณาตามข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบัน และลองวิเคราะห์บนสมมติฐาน 3 ข้อคือ สายพันธุ์ Omicron ครองการระบาดไปเรื่อยๆ โดยแตกหน่อต่อยอดเป็นสายพันธุ์ย่อย มีอิทธิฤทธิ์ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก รวมถึงเรื่องวัคซีนและยาที่มีนั้น ก็มีประสิทธิภาพเพียงระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะจัดซื้อจัดหาของที่มีคุณภาพมาให้ประชาชนของตนเองอย่างเพียงพอและทันเวลาหรือไม่ กระแสของประเทศต่างๆ พยายามเปิดประเทศ เสรีการใช้ชีวิต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

อนาคตถัดจากนี้ไปจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักคือ

-หนึ่ง ลักษณะการระบาดของแต่ละประเทศ ว่าจะคุมได้เพียงใด หรือจะปล่อยให้ติดกันไปตามมีตามเกิด

-สอง Long COVID ซึ่งตอนนี้ทั่วโลกต่างชัดเจนว่าคือของจริง และทำให้เกิดปัญหาระยะยาว แต่รอความรู้อีกเรื่องว่า การติดเชื้อ Omicron นั้นจะทำให้เกิดภาวะ Long COVID มากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ

ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นจึงแปรเปลี่ยนไปตามสองปัจจัยข้างต้น คงจะดีมาก หากคุมการระบาดในประเทศได้ดี มีการติดเชื้อน้อย และ Long COVID จาก Omicron น้อยกว่าสายพันธุ์เดิมๆ 

แต่หากติดเชื้อกันไปเรื่อยๆ จำนวนมาก และ Long COVID จาก Omicron นั้นเท่ากับหรือสูงกว่าสายพันธุ์เดิมๆ ก็คงจะทำให้ระยะยาว ประชาชนในสังคมนั้นมีสถานะสุขภาพไม่ดี 

และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพและค่าใช้จ่ายต่างๆในระยะยาว ทางเลือกที่เราทำได้คือ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก"





ภาพจาก รอยเตอร์/Thira Woratanarat  

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง