TNN จีนเปิดตัวแพลตฟอร์มส่งเลือดด้วยโดรนไร้คนขับ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

จีนเปิดตัวแพลตฟอร์มส่งเลือดด้วยโดรนไร้คนขับ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนเปิดตัวแพลตฟอร์มส่งเลือดด้วยโดรนไร้คนขับ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนเปิดตัวแพลตฟอร์มส่งเลือดด้วยโดรนไร้คนขับ โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะนับแต่ปีใหม่ ผมต้องแวะเวียนไป “โรงหมอ” บ่อยหรืออย่างไรมิทราบได้ เลยนึกอยากเขียนถึงนวัตกรรมด้านการแพทย์ของจีนมากหน่อย วันก่อน อ่านพัฒนาการการใช้โดรน (Drone) เพื่อการจัดส่งเลือดของจีนแล้ว เลยอยากนำมาแลกเปลี่ยนกันครับ ...


เมื่อต้นปี 2024 จีนได้เปิดตัวแพล็ตฟอร์มบริการส่งเลือดด้วยโดรนไร้คนขับเป็นครั้งแรกที่ศูนย์เลือดเซินเจิ้น เมืองแห่งศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีนในมณฑลกวางตุ้ง เพื่ออํานวยความสะดวกในการจัดส่งตัวอย่างเลือดทั่วเมือง


บริการดังกล่าวถือเป็นการปฏิวัติวงการโลจิสติกส์ทางการแพทย์ผ่านโดรนขนส่งเลือดที่ขับเคลื่อนด้วย AI ครั้งแรกของจีน 


บริการนี้เป็นผลพวงมาจากความร่วมมือของศูนย์เลือดกลางเซินเจิ้นเป่าอัน (Shenzhen Bao'an Central Blood Center) กับไชน่าเทเลคอม สาขาเซินเจิ้น (China Telecom Shenzhen Branch) ซึ่งถือเป็นการก้าวกระโดดครั้งสําคัญในการสร้างความมั่นใจในการส่งมอบวัสดุและอุปกรณ์ช่วยชีวิตมนุษย์ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่ง


ในการ “เบิกร่อง” การทดลองดังกล่าว ทีมงานได้ออกแบบภารกิจครั้งแรกให้โดรนไร้คนขับที่บรรทุกตัวอย่างเลือดบินจากศูนย์เลือดกลางเซินเจิ้นเป่าอันไปยังโรงพยาบาลการแพทย์แผนจีนเซินเจิ้น

นอกเหนือจากเส้นทางดังกล่าว โครงการในระยะแรกยังครอบคลุมเส้นทางบริการไปยังสถานพยาบาลอื่นในเซินเจิ้น อันได้แก่ โรงพยาบาลประชาชนเขตหลัวหู และโรงพยาบาลสาขาที่ 8 ของมหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น


การทดลองส่งตัวอย่างเลือดด้วยโดรนในครั้งนี้เลือกใช้โดรนที่มีความสามารถในการบรรทุกได้สูงสุด 10 กิโลกรัม โดยแต่ละตัวขนส่งเลือด 1,200 มิลลิลิตรในภาชนะเทอร์โมสตัทสีน้ําเงินที่ควบคุมอุณหภูมิตลอดเส้นทางการขนส่ง


ในด้านเทคนิค ความสำเร็จในการทดสอบการบินดังกล่าวยังอาศัยการผนวกเทคโนโลยีระบบ 5G และปัญญาประดิษฐ์เข้าด้วยกัน โดยหัวใจด้านทางเทคโนโลยีนี้ก็คือ “5G Intelligent Air Harbor” ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อระบบ 5G ความเร็วสูงเข้ากับความสามารถของอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ให้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถของระบบที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง


สิ่งนี้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประหยัดเวลาและความแม่นยำในการขนส่งได้เป็นอย่างมาก 


การขนส่งเลือดในเมืองใหญ่ของจีนต้องเผชิญตัวแปรสำคัญได้แก่ สภาพการจราจรทางถนน ขณะเดียวกัน เซินเจิ้นถือเป็นเมืองใหญ่ที่มีความพลุกพล่าน ทำให้การขนส่งเลือดทางถนนไปยังเป้าหมายภายในเวลาที่เหมาะสมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ทำให้ยากต่อการบริหารจัดการด้านลอจิสติกส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนและช่วงเวลาฉุกเฉิน


ยกตัวอย่างเช่น โดยอาศัยการขนส่งด้วยโดรนจากศูนย์เลือดกลางฯ ดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ที่ส่วนใต้สุดของเขต และอยู่ห่างจากโรงพยาบาลเซินเจิ้นราว 30 กิโลเมตร การจัดส่งจะลดเวลาไปกลับเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่งเมื่อเทียบกับการจัดส่งด้วยยานพาหนะแบบดั้งเดิม



ขณะที่เวลาที่ใช้ในการขนส่งจากศูนย์เลือดกลางฯ ไปยังโรงพยาบาลประชาชนเขตหลัวหู (Luohu) ลดลงจาก 60 นาทีเหลือเพียง 9 นาที ซึ่งอาจช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยในช่วงเวลาฉุกเฉินได้

การเปิดตัวแพล็ตฟอร์มโดรนขนส่งเลือดในครั้งนี้จึงมีความสําคัญยิ่งในหลายมิติ บริการนี้เป็นการตอกย้ำตำแหน่งของเซินเจิ้นในความเป็นผู้นําด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน และเป็นฐานการผลิตโดรนชั้นนำของจีน อาทิ DJI ผู้ผลิตโดรนรายใหญ่สุดในโลก ซึ่งมาเปิดสาขาที่เมืองไทยเมื่อหลายปีก่อนแล้ว 


ขณะเดียวกัน บริการดังกล่าวยังสามารถตอบสนองความต้องการด้านโลจิสติกส์ในด้านการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมให้เซินเจิ้นเป็นต้นแบบในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อยกระดับบริการสาธารณะ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความก้าวหน้าในแง่ของการช่วยชีวิตและเศรษฐกิจระดับความสูงในเซินเจิ้นอีกด้วย


นอกจากนี้ โครงการระยะถัดไปยังมีแผนจะเพิ่มสถาบันการแพทย์อื่น และขยายเส้นทางเพิ่มเติมอีก 4 เส้นทางในอนาคต เพื่อใช้ประโยชน์จาก “จุดแข็ง” ของโดรนในการครอบคลุมพื้นที่ตามเส้นทางที่กำหนดได้อย่างรวดเร็ว 


จากข้อมูลของศูนย์ฯ แพล็ตฟอร์มดังกล่าวเสร็จสิ้นการทดลองใช้งานกว่า 200 ครั้งนับแต่เดือนสิงหาคม 2023 ก่อนเปิดตัวให้สาธารณชนได้รับรู้ในวงกว้าง โดยในระหว่างการทดสอบ แพล็ตฟอร์มได้ขนส่งเลือด 434 กิโลกรัม รวมภึงเซลล์เม็ดเลือดแดง พลาสมา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเลือดอื่นๆ


ยิ่งหากเราพิจารณาจากภายใต้แนวคิด “เดินข้ามลำธารโดยใช้เท้าสัมผัสหิน” ของจีน หลังจากที่โมเดลการริเริ่มบริการนี้ “ตกผลึก” แล้ว จีนก็จะนำเอาต้นแบบของแพล็ตฟอร์มนี้ไปประยุกต์ใช้นอกเมืองเซินเจิ้นต่อไปในระยะถัดไป และกระจายออกไปใช้ในหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศในวงกว้าง เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสังคม


เพราะจากกระแสข่าวพบว่า แม้ว่าจีนได้เปิดตัวแพล็ตฟอร์ม ณ เมืองเซินเจิ้น ศูนย์กลางของระเบียงเศรษฐกิจ GBA (Greater Bay Area) เป็นเมืองแรกของจีนเมื่อต้นปี 2024 แต่หลายหัวเมืองของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้และหางโจว ได้ดําเนินการทดลองส่งเลือดด้วยโดรนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วเช่นกัน


ในด้านการสาธารณสุข แพลตฟอร์มนี้ยังไม่เพียงรับประกันการตรวจสอบการขนส่งเลือดแบบเรียลไทม์เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยของห่วงโซ่ความเย็น ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญในการรักษาความสมบูรณ์ของเลือดและอนุพันธ์


จากภาพภายในศูนย์เลือดกลางเซินเจิ้นเป่าอัน ถุงเลือดพร้อมกับอุปกรณ์ตรวจสอบถูกวางไว้ในตู้อบขนส่งเลือดอย่างพิถีพิถัน อุปกรณ์นี้มีบทบาทสําคัญในการรักษาสภาพการจัดการที่เหมาะสมและการควบคุมอุณหภูมิตลอดเส้นทางขนส่ง


ระบบควบคุมแบบปิดอัจฉริยะของแพล็ตฟอร์มดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลกระบวนการขนส่งทั้งหมด ตั้งแต่การจัดส่ง และการจัดการเส้นทาง ไปจนถึงการประสานงานการตอบสนองฉุกเฉินและการรับของโรงพยาบาล


มองออกไปข้างหน้า โดรนไร้คนขับในจีนน่าจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในอีกหลายด้านในอนาคต ...


ข้อมูลจาก: สำนักข่าวซินหัว

ภาพจากสำนักงานข่าวซินหัว 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง