TNN จีนดึงเทสลาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ "บิ๊กเบิ้ม" ในจีน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

จีนดึงเทสลาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ "บิ๊กเบิ้ม" ในจีน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนดึงเทสลาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ บิ๊กเบิ้ม ในจีน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนดึงเทสลาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ “บิ๊กเบิ้ม” ในจีน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เมื่อเดือนก่อนหน้านี้ ผมมีโอกาสให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุ102.5 “ฟ้าใส by ศิริวรรณ” และเกริ่นไว้ว่า ลีออนมัสก์ (Elon Musk) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ “เทสลา” (Tesla) แบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าอัจริยะชื่อดังจากค่ายสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลเซี่ยงไฮ้เกี่ยวกับเงื่อนไขการลงทุนระลอกใหม่ ...

ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมาก็มีข่าวใหญ่ว่า เทสลาได้บรรลุความตกลงในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่ใช้ชื่อเท่ห์ๆ ว่า “เมกะแพ็ค” (Megapack) ในเขตพิเศษหลินกั่ง (Lingang Special Area) นครเซี่ยงไฮ้

โดยแบตเตอรี่ที่จะเป็นผลิตขึ้นดังกล่าวเป็นแบบลิเธียม-ไอออนเพื่อจัดเก็บพลังงาน (Energy-Storage Batteries) ที่มีขนาดใหญ่และกำลังไฟสูงเป็นพิเศษ 

“Megapack” ถูกออกแบบเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้แก่จีนและตลาดโลก โดยแต่ละยูนิตจะสามารถซัพพลายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ 3,600 หลังคาเรือนได้เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง

ตามแผนในระยะแรก โรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตถึง 10,000 ชิ้นต่อปี และจะถูกจำหน่ายในตลาดจีนและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศซึ่งเท่ากับว่า แบตเตอรี่จำนวนดังกล่าวจะมีความสามารถในการเก็บกระแสไฟฟ้าได้เกือบ 40 กิ๊กกะวัตต์ (GWh) เลยทีเดียว

จีนดึงเทสลาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ บิ๊กเบิ้ม ในจีน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


โรงงานผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวจะตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า “Gigafactory” ที่บริษัทฯ เริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างโรงงานเมื่อต้นปี2019และใช้เวลาก่อสร้างโรงงานเพียง 10 เดือนก็เริ่มเดินสายการผลิตได้แล้ว

พูดถึงการก่อสร้างโรงงานที่รวดเร็วดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งใน “จุดเด่น” ของจีนที่กิจการต่างชาติอาจคาดไม่ถึง ในกรณีของเทสลา “ความเร็วของจีน” (China Speed) ทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ของบริษัทฯ ในจีนต่ำกว่าของสหรัฐฯ ถึง 35% 

และเพียงไม่กี่ปีหลังการเดินสายการผลิต โรงงานดังกล่าวก็ก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังทำให้ภาพของเซี่ยงไฮ้ในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกโดดเด่นยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน โรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตรถยนต์22,000 คันต่อสัปดาห์โดยในปี 2022แม้ว่าบริษัทฯ ต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์ในช่วงวิกฤติโควิดเป็นเวลานานนับเดือน แต่ก็ยังผลิตรถยนต์ไฟฟ้า“Model 3” ได้ถึงราว 711,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของผลผลิตโดยรวมทั่วโลก 

อย่างไรก็ดี นับแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 ตลาดรถยนต์ในจีนก็เริ่มชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกมาตรการอุดหนุนของรัฐบาลจีนที่ดำเนินการมา 13 ปี ส่งผลให้เทสลาต้องหันไปใช้ “กลยุทธ์ราคา” มากขึ้น โดยลดราคาถึง 2 ครั้งในรอบเพียงไม่กี่เดือน เพื่อหวังกระตุ้นยอดขายและลดระดับสินค้าคงคลังที่มีอยู่

จีนดึงเทสลาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ บิ๊กเบิ้ม ในจีน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


สถิติของสมาคมรถยนต์โดยสารแห่งชาติจีน (China Passenger Car Association) ระบุว่า สถานการณ์ของเทสลาในตลาดจีนในเดือนมีนาคม 2023ดูจะกระเตื้องขึ้นมาก โดยมียอดขาย 88,869 คัน เพิ่มขึ้นราว 35% ของปีที่ผ่านมา เป็นอันดับที่ 2 ตามหลังผู้นำตลาดอย่าง BYD ซึ่งมียอดขายเกือบ 206,090คัน

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังคาดการณ์ว่า ด้วยโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการบริโภคภายในประเทศของจีนในปีนี้ ทำให้ยอดขายรถยนต์โดยรวมของจีนในปี 2023 จะเพิ่มขึ้นเป็น 23.6 ล้านคัน จาก 20.5 ล้านคันเมื่อปีก่อน 

โดยในจำนวนนี้ คาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมียอดจำหน่ายที่ระดับ 8.5 ล้านคัน คิดเป็นถึง 36% ของยอดจำหน่ายรถยนต์โดยรวมในจีน และครองตำแหน่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป

แน่นอนว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตแรงดังกล่าวทำให้ความต้องการแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นเทสลาประกาศเดินหน้าการลงทุนดังกล่าว 

ประการสำคัญ การลงทุนดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนแม่บทของบริษัทฯ ที่กำหนดว่าจะพัฒนาธุรกิจนี้สู่ “พลังงานยั่งยืน” และตั้งเป้าขยายธุรกิจไปแตะระดับ 100% ภายในปี 2050 ซึ่งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่เซี่ยงไฮ้ดังกล่าวจะเป็นหนึ่งใน “ก้าวย่าง” สำคัญตามแผนแม่บทดังกล่าว

ขณะเดียวกัน หากเราถอดรหัสความคิดของลีออนมัสก์ ก็พบว่า นายใหญ่ของเทสลาประเมินโอกาสและศักยภาพทางธุรกิจของแบตเตอรี่ว่าสูงพอๆ กับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเสมือน “เครื่องมือขุดทอง” ของตนเองในปัจจุบัน

นักวิเคราะห์ในวงการยังเชื่อมั่นว่า ตลาดแบตเตอรี่จัดเก็บกระแสไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จะขยายตัวได้อีกมาก และน่าจะใหญ่กว่าตลาดแบตเตอรี่ผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต

ในชั้นนี้ เทสลามีกำหนดการจะเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไตรมาสที่ 3 ของปี2023 และคาดว่าจะเดินสายการผลิตได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024

จีนดึงเทสลาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ บิ๊กเบิ้ม ในจีน โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

งานนี้ก็ต้องบอกว่า “ความเร็วของจีน” ที่จะใช้เวลาก่อสร้างโรงงานราว 9 เดือน จะช่วยลดต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาในเวทีโลกไปอีกระดับ

ขณะเดียวกัน การขยายการลงทุนดังกล่าวก็ทำให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนที่เข้มแข็งอยู่เดิม แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีกรวมทั้งยังจะช่วยสนับสนุนนโยบาย “สีเขียว” และเป้าหมายความเป็นกลางด้านคาร์บอนในปี 2060 ควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งนี้จะเป็นโรงงานที่ 2 ของโลกหลังจากที่เทสลาลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งแรกที่เมืองเลโธรป (Lathrop) มลรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีกำลังการผลิต 10,000 ยูนิตต่อปีเช่นกัน

การประกาศลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งของความสำเร็จในการดำเนินการตามนโยบาย “การปฏิรูปและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ” และ “การพัฒนาคุณภาพสูง” ของรัฐบาลจีนที่ยืนยันการเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศควบคู่ไปกับการยกระดับห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ต่อไป

นับแต่ปลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นกระแสข่าวการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ของบริษัทข้ามชาติในจีนมาอย่างต่อเนื่อง ไล่ตั้งแต่ BMW, Volkswagen และ 3Mจนผมแอบอิจฉาว่า จีนมีความพร้อมและวิธีการสานต่อ “นโยบาย” ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ

แถมข่าวการลงนามความร่วมมือในการลงทุนของเทสลาในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่แอร์บัส (Airbus) ประกาศขยายกำลังการผลิตเครื่องบินพาณิชย์รุ่น A320 ณ โรงงานผลิตในเทียนจินอีกถึง 2 เท่าตัว ภายหลังจีนลงนามสั่งซื้อเครื่องบินชุดใหญ่ถึง 150 ลำจนเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงในโอกาสเยือนจีนของประธานาธิบดีแอมานุแอลมาครง

ต้องมาลุ้นกันต่อว่ากิจการข้ามชาติใดจะเป็นรายถัดไปที่จะประกาศขยายการลงทุนระลอกใหม่ เสริม “การพัฒนาคุณภาพสูง” ของจีน แต่ที่ชัดเจนก็คือ จีนได้กลายเป็น “ผู้นำ” ในการเปลี่ยนเกมส์การแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์จากระบบสันดาปสู่รถยนต์พลังงานทางเลือกในครั้งนี้ ...



ภาพจาก reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง