TNN online ธุรกิจยังไม่มีสัญญานฟื้นตัว ส่อแววปลดคนงาน-ปิดกิจการเพิ่ม

TNN ONLINE

Wealth

ธุรกิจยังไม่มีสัญญานฟื้นตัว ส่อแววปลดคนงาน-ปิดกิจการเพิ่ม

ธุรกิจยังไม่มีสัญญานฟื้นตัว ส่อแววปลดคนงาน-ปิดกิจการเพิ่ม

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจ พ.ค.64 ทรงตัว จากแรงกดดันกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ เพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ เริ่มเห็นสัญญาณปลดพนักงาน-ปิดกิจการเพิ่มในบางธุรกิจ

วันนี้( 1 มิ.ย.64) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ จากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย ระหว่างวันที่ 1-24 พ.ค. 64 ระบุว่า ในเดือน พ.ค.64 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวมทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ซึ่งถูกกดดันจากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ และผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย.ที่ขยายวงกว้าง โดยเฉพาะภาคที่มิใช่การผลิตได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคต่อเนื่องจากเดือนก่อน อาทิ ขอความร่วมมืองดออกนอกเคหสถาน ขยายเวลาปิดกิจการที่มีความเสี่ยงชั่วคราว รวมถึงปรับเวลาให้บริการร้านค้าและร้านอาหาร เป็นต้น ขณะที่ภาคก่อสร้างเริ่มได้รับผลกระทบเชิงลบจากการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในแคมป์คนงาน


โดยระดับกิจกรรมทางธุรกิจที่ทรงตัวจากเดือนก่อน ส่งผลให้ระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งจำนวนแรงงาน ชั่วโมงการทางานเฉลี่ย และรายได้เฉลี่ยต่อคน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่มีการใช้นโยบายสลับกันมาทำงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน  ขณะที่ธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตมีการใช้นโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ ลดชั่วโมงทำงาน และ Leave without Pay อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการปลดคนงานในธุรกิจโรงแรม และร้านอาหารเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตยังสามารถฟื้นตัวได้ตามคำสั่งซื้อที่ทยอยกลับมา โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่เริ่มเห็นในบางธุรกิจ อาทิ ยานยนต์ รวมถึงการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน


อย่างไรก็ตาม แต่ละธุรกิจมีมุมมองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกเดือน เม.ย.เมื่อเทียบกับระลอกแรกเดือน มี.ค.63 และระลอกสองเดือน ม.ค.64 ที่แตกต่างกัน โดยภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะถูกกระทบมากที่สุด และมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าทั้ง 2 ระลอกก่อนหน้า จากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและเข้ามาซ้าเติมกิจกรรมทางธุรกิจให้แย่ลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการค้าที่ได้รับผลกระทบมากรองลงมาจากกำลังซื้อที่ลดลง ขณะที่ภาคการผลิตคาดว่าได้รับผลกระทบน้อยสุดสอดคล้องกับการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ทำได้มากกว่าธุรกิจอื่น


ในส่วนของผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงต่อเนื่องตามการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายนที่รุนแรงขึ้น  อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังเชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะปรับดีขึ้นในอีก 3 เดือนจากผลของการเร่งกระจายวัคซีน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคแย่ลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมากจากการระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อที่ส่งผลต่อทั้งรายได้และความกังวลของผู้บริโภครวมถึงมาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวดในหลายพื้นที่นอกจากนี้ร้อยละ41 ของผู้ตอบแบบสำรวจได้ปรับลดการจ้างงานลงและมีแนวโน้มที่รายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงานและค่าธรรมเนียมขายลดลงและร้อยละ39 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีสภาพคล่องไม่เกิน6เดือน 


ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมพบว่า ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมากขึ้นจากเดือนก่อนและคาดว่าผลกระทบจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายนโดยอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับต่ำมากทำให้มีการตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราวมากขึ้น



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง