TNN online "สมาร์ทซิตี้" การพัฒนาเมืองที่มาพร้อมกับรถไฟความเร็วสูง (ตอน 8)

TNN ONLINE

TNN Exclusive

"สมาร์ทซิตี้" การพัฒนาเมืองที่มาพร้อมกับรถไฟความเร็วสูง (ตอน 8)

สมาร์ทซิตี้ การพัฒนาเมืองที่มาพร้อมกับรถไฟความเร็วสูง (ตอน 8)

การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน นอกจากจะเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์แล้ว ผลต่อเนื่องยังก่อให้เกิดการพัฒนา“สมาร์ทซิตี้”ที่รัฐต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเกิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกเชื่อมโยงการเดินทางระหว่าง 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ด้วยระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร ที่แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จะขนานไปกับแนวเส้นทางรถไฟที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สอดรับระบบการเดินรถ รถไฟความเร็วสูง แต่ละสถานีจะมีการออกแบบ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง ความสะดวกของผู้ใช้บริการ คาดว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ สร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่แน่นอน

แม้ว่าโครงการจะอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อยอดในด้านอื่นๆ โดยเพราะการเริ่มต้นพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ในอนาคตอันใกล้จะมีการเกิดเมืองใหม่ตามนโยบายของ EEC โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงจะกลายเป็นศูนย์กลางของระบบการขนส่งของเมืองนั้นๆ ที่จะสนับสนุนและเชื่อมเมืองให้สอดรับกับการพัฒนา ภายใต้แนวคิด Smart City หรือ "เมืองอัจฉริยะ" 

สมาร์ทซิตี้ การพัฒนาเมืองที่มาพร้อมกับรถไฟความเร็วสูง (ตอน 8) (ภาพประกอบ :www.bankokbanksme.com)

ตั้งเป้าพัฒนา "เมืองอัจฉริยะ" 100 เมือง ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ภายในปี 2565 

ซึ่งแนวคิด Smart City  ตามนิยามของ สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) กำหนดไว้ก็คือ  เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข  อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายจะพัฒนา "เมืองอัจฉริยะ" ให้ได้ 60 เมือง ใน 30 จังหวัดภายในปี 2564 และเพิ่มเป็น 100 เมือง ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพฯ ภายในปี 2565 

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกระตุ้นเมืองอัจฉริยะคึกคัก

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน คือการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ซึ่งตามแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือเปิดให้ใช้บริการช่วงปี 2566-2567นั้น

ไม่เพียงแต่เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทย ในการเปิดเสียงหวูดเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ใหญ่สุดในโครง EEC แล้ว ยังช่วยกระตุ้นทุกภาคทุกธุรกิจเกี่ยวเนื่องคึกคักขึ้น รวมทั้งโครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ท ซิตี้ ที่บรรดาภาคเอกชนต่างๆได้มองเห็นโอกาสและเริ่มปักหมุดเดินหน้าพัฒนาโครงการอย่างเต็มตัว 

 

สมาร์ทซิตี้ การพัฒนาเมืองที่มาพร้อมกับรถไฟความเร็วสูง (ตอน 8) (ภาพประกอบ :ธนาคารแห่งประเทศไทย)

ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  เลือกให้เป็นเมืองอัจฉริยะ เช่นเดียวกับ ชลบุรี และระยอง โดยในส่วนของฉะเชิงเทราเองก็จะเน้นการออกแบบที่ดี รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหารจัดการของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวฉะเชิงเทราให้ดีขึ้น  สมาร์ทซิตี้ การพัฒนาเมืองที่มาพร้อมกับรถไฟความเร็วสูง (ตอน 8) " เมืองอัจฉริยะ" เป็นโครงการที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงหรือใช้เทคโนโลยีไฮเทคชั้นสูงสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ แต่การพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะที่ถูกต้อง คือการออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของประชาชนให้ได้ตรงจุด ซึ่งการจะเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่สมบูรณ์แบบได้จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 7 อย่างต่อไปนี้ 

-    Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ

-    Smart Community ชุมชนอัจฉริยะ

-    Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ

-    Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ

-    Smart Governance การปกครองอัจฉริยะ

-    Smart Building อาคารอัจฉริยะ

-    Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ

สมาร์ทซิตี้ ต้องเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตรงจุด

จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี คาดว่าจะทำให้มีผู้คนเดินทางสัญจรไปมาระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง หนาแน่นมากกว่าเดิม แต่ต้องยอมรับว่าการกระจายตัวของระบบขนส่งแบบกระจุกตัวดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดการณ์ว่าภายในอีก 5-10 ปีข้างหน้าในพื้นที่อีอีซี จะเกิดการพัฒนาแหล่งที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับคนนับล้านคนย้ายถิ่นฐานมาอาศัย ดังนั้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจึงเป็นโจทย์ของผู้พัฒนาที่จะต้องทำได้ตรงจุด 

ซึ่งการพัฒนาพัฒนาสมาร์ทซิตี้บริเวณ จ.ฉะเชิงเทรา มีกลุ่มเอกชนจากประเทศจีนแสดงความสนใจ โดยมีแนวคิดที่จะเข้ามาพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial center) ซึ่งโครงการนี้จะผลักดันเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า เอกชนที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะจะมีกรอบการพัฒนาที่ภาครัฐกำหนด 7 ด้าน คือ คน ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ พลังงาน หน่วยงานรัฐ สิ่งแวดล้อมและคมนาคม ซึ่งต้องมีการเตรียมพื้นที่สีเขียว 30% ของพื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งมีการขนส่งเชื่อมต่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน และต้องอยู่ในระยะ 30 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้เข้าองค์ประกอบของการเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก

นอกจากนี้ สกพอ.มีแผนส่งเสริมการลงทุนพัฒนาสมาร์ทซิตี้หลายพื้นที่ เพื่อให้เป็นโครงการต่อเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่อีอีซี เช่น โครงการเมืองการบินภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา นอกเหนือจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  

สมาร์ทซิตี้ การพัฒนาเมืองที่มาพร้อมกับรถไฟความเร็วสูง (ตอน 8)

(ภาพประกอบ :ธนาคารแห่งประเทศไทย)

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นตามมาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะการหยิบเอาเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางจากสถานีรถไฟความเร็วสูงในแต่ละจุดให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยสูงสุด จะเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญให้ประเทศไทยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการเมือง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน  ทั้งด้านที่อยู่อาศัยและการเดินทาง นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า เป็นสังคมที่พัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนในอนาคต




ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง