TNN online รัฐ-เอกชน มองโอกาสดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญของเอเชีย

TNN ONLINE

Wealth

รัฐ-เอกชน มองโอกาสดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญของเอเชีย

รัฐ-เอกชน มองโอกาสดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญของเอเชีย

รัฐ-ผู้ประกอบการธุรกิจเรือสำราญ หารือระดมความคิดเห็น ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญของเอเชีย

วันนี้( 31 พ.ค.65) นายวัฒนา  โชคสุวณิช  กรรมการคณะกรรมการการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หอการค้าไทย และนายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจเรือสำราญไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจเรือสำราญไทย จัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง การท่องเที่ยวเรือสำราญโอกาสและความพร้อมของไทยในมุมมองผู้ประกอบการเรือสำราญนานาชาติ โดยเชิญผู้มีประสบการณ์จริงในธุรกิจเรือสำราญที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาแชร์ความคิดเห็นในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญที่สำคัญของเอเชีย โดยได้รับเกียรติจากนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมให้มุมมองการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำของเอเชียจากการพัฒนาเมืองท่าต้นทาง  


โดยในการสัมมนามีนักธุรกิจผู้มีประสบการณ์ตรงในการบริหารสายเรือสำราญระดับโลก  Carnival Cruise Line  Royal Caribbean Cruise Line ซึ่งเป็นสมาคมเรือสำราญนานาชาติที่มีสายเรือสำราญเป็นสมาชิกมากกว่า 90%  และ“CLIA”  ผู้บริหารท่าเรือสำราญ Marina Bay Cruise Centre “MBSCC” จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสถาปนิกที่พัฒนาโครงการท่าเรือสำราญสำคัญๆ มาแล้วเกือบทั่วโลก และ Bermello Ajamil “BA” รวมทั้ง Regional Director  จากบริษัท Destination Asia ซึ่งเป็นตัวแทนการท่องเที่ยวเรือสำราญในหลายประเทศ 


“การสัมมนาในวันนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะมาแลกเปลี่ยนความเห็นถึงความพร้อมและโอกาส ของประเทศไทย  ในการขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของเอเชีย อาทิ การพัฒนาท่าเรือต้นทาง (Home Port) การเลือกที่ตั้งของท่าเรือต้นทาง  การกำหนดขนาดของท่าเรือและอาคารผู้โดยสาร ซึ่งเมืองท่าต้นทางต้องมีอัตลักษณ์มีความโดดเด่น สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด และต้องการผู้ที่มีความรู้จริง มีประสบการณ์ในการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญมาอย่างมากมายเพื่อให้ท่าเรือสำราญของไทยสามารถรองรับเรือสำราญทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างน้อยอีก 10-20 ปี” นายวัฒนา กล่าว


สำหรับการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย นั้น จังหวัดภูเก็ตมีเรือสำราญเข้ามาท่องเที่ยวกว่า 200 เที่ยวเรือ ในปี 2561 เป็นลำดับที่ 7 ในขณะที่ภูเก็ตยังไม่มีท่าเทียบเรือสำราญและอาคารผู้โดยสารที่ได้มาตรฐานเลยก็ตาม ดังนั้นการสร้างท่าเรือสำราญที่พัทยาจะทำให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพได้อย่างรวดเร็วและได้สะดวกมากยิ่งขึ้น จากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากโครงสร้างพื้นฐานด้าน การขนส่งที่รัฐบาลได้วางเอาไว้แล้ว ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 3 ของประเทศที่มีเรือสำราญเข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุดของเอเชีย ทำให้เห็นได้ว่าเมืองท่าเรือสำราญของไทยได้รับความสนใจและการยอมรับจากสายเรือสำราญอยู่แล้ว การสร้างความร่วมมือกับสายการเดินเรือสำราญในการพัฒนาเมืองท่าเรือสำราญจะทำให้ ประเทศไทยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดมากยิ่งขึ้น นำรายได้จากการท่องเที่ยวที่ได้จากปริมาณและคุณภาพของนักท่องเที่ยวเรือสำราญ  บรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ได้อย่างเป็นจริง  


สัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม จากภาครัฐ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไทย กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมควบคุมโรค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมทั้งหน่วยงานราชการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา สตูล สุราษฎร์ธานี และชลบุรี  ภาคเอกชน ประกอบไปด้วย หอการค้าจังหวัดภูเก็ต พังงา สตูล สุราษฎร์ธานี ชลบุรี  และสภาอุตสหากรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจเรือสำราญสมาคมการค้าและสถาบันการศึกษา  ดังนั้น คาดว่าการจัดสัมมนาในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  นำข้อมูลที่ได้รับไปวิเคราะห์ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ  ของเอเชีย ให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้นี้


ข้อมูลจาก : หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 

ภาพจาก : พีอาร์ หอการค้าไทย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง