TNN online TNN Exclusive : APEC 2022 นับถอยหลังประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค โอกาสไทยเปิดประเทศบนเวทีโลก

TNN ONLINE

TNN Exclusive

TNN Exclusive : APEC 2022 นับถอยหลังประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค โอกาสไทยเปิดประเทศบนเวทีโลก

TNN Exclusive : APEC 2022 นับถอยหลังประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค  โอกาสไทยเปิดประเทศบนเวทีโลก

งวดเข้ามาทุกทีกับการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ขณะที่ผู้นำประเทศต่างๆ ก็ยืนยันร่วมงานกันคึกคัก ส่วนจุดไฮไลท์การประชุมมีอะไรบ้างนั้น และไทยจะเสนอในประเด็นความร่วมมืออะไรบ้างตามไปดูกันเลย

ใกล้เปิดฉากขึ้นแล้วสำหรับเวทีการประชุม เอเปค หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานครั้งที่ 29 ในวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งมุ่งหมายที่จะให้การประชุมรอบนี้ เป็นการโชว์ศักยภาพไทยให้ประจักษ์สายตากับทั่วโลก 


ตลอดจนแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านต่างๆ อันจะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค โดยล่าสุดมีผู้นำยืนยันมาร่วมงานด้วยตนเอง 18 ประเทศแล้ว


หากมองย้อนกลับไปถึงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งเอเปค เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2532 ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ก็เพื่อส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก ด้วยการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศ โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้า นอกจากนี้ยังส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเงินการคลังในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ


สมาชิกเอเปค มีทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มี GDP รวมกัน มูลค่า 52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 62% หรือ 2 ใน 3 ของ GDP โลก



ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีมูลค่า 12.2 ล้านล้านบาท (385 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็น 71.52% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 6.1 ล้านล้านบาท (195 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปคมูลค่า 6 ล้านล้านบาท (190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)


ขณะที่ในช่วง 9 เดือน ของปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) การค้าระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 10.7 ล้านล้านบาท (314 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 10.65% โดยไทยส่งออกไปเอเปคมูลค่า 5.2 ล้านล้านบาท (155 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปค 5.4 ล้านล้านบาท (158 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)


ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพประชุมเอเปกมาแล้วรวมทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2535 จุดเด่นคือ การออกแถลงการณ์ประกาศจัดตั้งสำนักเลขาธิการเอเปก (APEC Secretariat) ที่สิงคโปร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการการประชุมและประสานงานเรื่องต่างๆ และครั้งที่สองเมื่อปี 2546 เป็นการสนับสนุนให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบโดฮาภายใต้องค์การการค้าโลก และการการต่อต้านการก่อการร้ายที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ


สำหรับครั้งนี้ ถือเป็นการเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 3 ของไทย  ส่วนจุดที่จะเป็นไฮไลท์ด้านต่างๆ ในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย


- ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน


ไทยจะผลักดันการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ MSMEs ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจผ่านการ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และการส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายการค้า ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP หลังยุคโควิด-19


- การคลัง


ไทยจะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) เพื่อให้สอดรับกับการผลักดัน BCG Economy ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และภารกิจของรัฐบาลในการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับทุกภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเป็นสังคมดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

   

- การท่องเที่ยว

ไทยจะนำเสนอ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเปกให้มีอนาคตที่ดีกว่าเดิม : การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (APEC Policy Recommendations on “Tourism of the Future: Regenerative Tourism”) โดยแนวคิดนี้สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก ทั้งระบบอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เกิดการท้าทายแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)  ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกมานานหลายทศวรรษ


- การเกษตร

ไทยจะผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ควบคู่กับนโยบาย ‘3S’ ได้แก่ Safety ความปลอดภัยของอาหาร Security ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และ Sustainability ความยั่งยืนของภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในเอเปก


- ป่าไม้

ไทยจะผลักดันการใช้นวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และเปลี่ยนข้อได้เปรียบให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน กระจายรายได้สู่ชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรป่าไม้ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจ BCG พร้อมผลักดันการจัดทำเครื่องมือที่เหมาะสมในการส่งเสริมการค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย และต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและการค้าที่เกี่ยวข้อง


- กิจการสตรี

ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจของสตรีในยุคหลังโควิด-19 และยุคดิจิทัล โดยจะนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตที่สมดุลและครอบคลุม มุ่งเน้นการดำเนินงานด้านสตรีที่ยึดโยงกับแนวทางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลา เซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth) นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันการสร้างเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการ BCG ไทยไปขยายผลในเอเปก เพื่อส่งเสริมบทบาท  และสร้างโอกาสให้กับสตรีผู้ประกอบการ BCG ของไทยในระดับภูมิภาค


-  สาธารณสุข

ไทยจะขยายการสร้างสัมพันธ์กับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการแพทย์  และสาธารณสุข และผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ควบคู่กับการส่งเสริมประเด็นการเพิ่มการลงทุนด้านความมั่นคงทางสุขภาพ (health security) และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข (digital health) เพื่อลดผลกระทบของภัยคุกคามทางสุขภาพต่อเศรษฐกิจ


 สรุปภาพรวมของผลที่จะได้จากการประชุมครั้งนี้ นอกจากเป็นกลไกส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้ประเทศต่างๆ ได้ปรับตัวและพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสภาวะปัจจัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นแล้ว ก็ยังน่าจะช่วยลดปัญหากฏระเบียบเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้าการลงทุนระหว่างกันด้วย หลังจากที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดมาหลายปี และกำลังเริ่มกดปุ่มกลับมาเปิดประเทศกันอย่างคึกคักอีกครั้ง 


ในส่วนของไทยเอง การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะแสดงถึงศักยภาพและวิสัยทัศน์ของไทยในด้านต่างๆ ที่พร้อมจะกลับมามีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าและเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง




ภาพประกอบ  AFP,เก็ตตี้อิมเมจ,พิกซาเบย์

ข่าวแนะนำ