TNN online ทลายขบวนการผลิตดอลล่าร์ปลอม-แนะ 4 ข้อสังเกตุธนบัตรจริงปลอม

TNN ONLINE

สังคม

ทลายขบวนการผลิตดอลล่าร์ปลอม-แนะ 4 ข้อสังเกตุธนบัตรจริงปลอม

ทลายขบวนการผลิตดอลล่าร์ปลอม-แนะ 4 ข้อสังเกตุธนบัตรจริงปลอม

ตำรวจ PCT จับขบวนการผลิตเงินดอลล่าร์ปลอม ยึดแท่นปั๊มเงิน ธนบัตร USD 10,000 ฉบับ มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ด้านผู้ช่วยทูตแนะ 4 ข้อสังเกตธนบัตรปลอม

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 11.35 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT พร้อมด้วยพล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้ช่วยผบ.ตร. พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วยผบ.ตร. พล.ต.ต.ฉัตรชัย นันทมงคล ผบก.พฐก.สพฐ.ตร. พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผบก.สส.ภ.8 พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รองผบช.น. และ นายคริสโตเฟอร์ โรห์ดี้ (Mr.Christopher Rohde) ผู้ช่วยทูต/หัวหน้าสำนักงาน U.S. Secret Service ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ ร่วมกันแถลงผลการสืบสวนขยายผลการจับกุมขบวนการผลิตธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาปลอม โดยสามารถจับกุมนายทุนและผู้ร่วมขบวนการ พร้อมยึดแบงค์ดอลล่าร์ปลอมได้กว่า 10,000 ฉบับ คิดเป็นเงินไทย กว่า 30,000,000 บาท พร้อมบุกทลายโรงพิมพ์ได้อีก 1 แห่ง


พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้  ตำรวจ PCT และตำรวจนครบาล ได้ร่วมกันจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายธนบัตร USD ปลอม และขยายผลไปตรวจค้นโรงงานผลิตที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม จับกุมเจ้าของโรงงาน ยึดธนบัตรปลอมได้กว่า 36,000 ฉบับ คิดเป็นเงินไทยกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งกำชับมาว่า ให้ขยายผล จับกุมผู้ร่วมขบวนการที่ยังเหลือทั้งหมด ซึ่งจากการสืบสวนทางโซเชียลมีเดียจนรู้ตัวนายทุนและช่างพิมพ์ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับจากศาล และในวันที่ 11 พ.ย.64 นำกำลังเข้าตรวจค้น 2 จุด 


ผลการตรวจค้นจุดที่ 1 ได้ตรวจค้นและจับกุมนายทองมาก หรือช่างแม็ค (สงวนนามสกุล) ได้ที่บริเวณ ถ.พระราม 3 โดยช่างแม็คทำหน้าที่เป็น "ผู้ควบคุมการผลิตธนบัตรปลอม" จากนั้นได้พาตัวไปตรวจค้นบ้านพักที่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี พบเครื่องพิมพ์ 4 เครื่องและอุปกรณ์การพิมพ์ที่คาดว่าเตรียมไว้ใช้ผลิตธนบัตรปลอมได้อีกจึงได้ตรวจยึดไว้ตรวจสอบ จุดที่ 2 ตรวจค้นและจับกุมตัว นายบุญช่วย หรือป๋าลี ขณะอยู่ที่บ้านพักในเขตห้วยขวาง กทม. โดยป๋าลีเป็น "นายทุนจัดหาเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์" ให้แก่โรงงานที่ อ.บางเลน และต่อมา วันที่ 12 พ.ย.64 ได้ขยายผลจับกุมตัว นายกิจพัฒน์ หรือโปรจี (สงวนนามสกุล) พร้อมธนบัตร USD ปลอมกว่า 10,000 ฉบับ คิดเป็นเงินไทยกว่า 30,000,000 บาท 


จากการสอบสวนนายโปรจี รับว่า นายสิรภพ หรือเฮียเกรียง (สงวนนามสกุล) เป็นผู้นำธนบัตรปลอมมาให้จำหน่าย โดยมีป๋าลี (คนลาว) เป็นนายทุนให้เฮียเกรียง เช่าอาคารหลังหนึ่งใน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งน่าเชื่อว่าจะเป็นแหล่งผลิตธนบัตรปลอมอีกแห่งหนึ่งของขบวนการนี้  จากนั้นจึงได้ขออนุมัติหมายศาลไปตรวจค้นสถานที่ดังกล่าว พบเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์หลายรายการ ซึ่งมีร่องรอยหลักฐานการพิมพ์ธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐปลอมหลงเหลืออยู่ จึงได้ตรวจยึดไว้ และจะได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายจับผู้ร่วมกระทำความผิดในข้อหา “ร่วมกันผลิตทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้" ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต


พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ในการจับกุมขบวนการปลอมธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ หน่วย U.S.Secret Service ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประจำสถานฑูตสหรัฐอเมริกา ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และตรวจสอบธนบัตรปลอม ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า ธนบัตรปลอมที่ผลิตจากโรงงานที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีความเชื่อมโยงกับธนบัตรปลอมที่ผลิตจากโรงงานที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี สอดคล้องกันกับข้อมูลทางการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มขบวนการเดียวกัน ทั้งนี้จากการสืบสวนของศูนย์ PCT เชื่อว่า อาจจะยังมีกลุ่มผู้ลักลอบผลิตและจำหน่ายธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐปลอมหลงเหลืออยู่ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้เฝ้าระวังและสืบสวนติดตามเพื่อจับกุมมาดำเนินคดีตามกฎหมายจนกว่าขบวนการนี้จะหมดไป 


รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า สำหรับการจับกุมคดีธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐปลอมที่ผ่านมาในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 40 คดี ธนบัตรของกลางที่ตรวจพบโดยส่วนใหญ่จะเป็นธนบัตรรุ่นปี 2006 และจะมีรุ่นปี 2006A (รุ่นของธนบัตร) เป็นส่วนน้อย ลักษณะการตรวจพบความผิด คือ 1.การล่อซื้อผู้ลักลอบจำหน่าย  2.การนำเงินไปแลกที่ธนาคาร/ร้านค้า และ 3.การผลิตธนบัตรปลอม ซึ่งจับกุมตรวจค้นโรงงานผลิตได้เพียงครั้งเดียวเมื่อปี พ.ศ.2559 ที่เขตสายไหม กทม.

 

นายคริสโตเฟอร์ กล่าวว่า กว่า 30 ปี ที่สำนักงาน United States Secret Service ได้ทำงานร่วมกันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสืบสวนอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการปลอมแปลงธนบัตร การโกงธนาคาร และล่าสุด การฉ้อโกงในรูปแบบอาชญากรรมทางไซเบอร์ เมื่อเร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ประสบความสำเร็จจากการสืบสวนจนพบแหล่งผลิตธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐฯ ปลอม ที่มีการนำไปใช้แพร่หลายทั้งในไทยและในต่างประเทศ อันเป็นแหล่งผลิตใหญ่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย จากการสืบสวนได้นำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหา 8 รายด้วยกัน และสามารถยึดแท่นพิมพ์ที่ใช้ในการผลิตได้อีกหลายแท่น ผมอยากจะขอขอบคุณเพื่อนผู้บังคับใช้กฎหมายของเรา ที่ทำงานในเชิงรุก อย่างเข้มแข็ง จนนำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำความผิด เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป


นายคริสโตเฟอร์ ยังมีข้อแนะนำ 4 จุด ในการสังเกต ธนบัตรจริงกับธนบัตรปลอม ดังนี้ 1.กระดาษที่ใช้ผลิตธนบัตรของจริง จริงๆ แล้วไม่ใช่กระดาษแต่คือผ้าผืนหนึ่ง ทำให้ระยะเวลาการใช้งานจะอยู่ได้นานกว่า และการสัมผัสธนบัตรปลอมจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หากนำไปใส่ในเครื่องซักผ้าธนบัตรจริงจะยังคงสภาพเดิม แต่ธนบัตรปลอมจะไม่เหลือสภาพของธนบัตรเลย 2.หากยกธนบัตรขึ้นส่องจะพบลายน้ำด้านขวามือ ในธนบัตรจริงลายน้ำจะเป็นรูปของเบนจามิน แฟรงคลินซึ่งมีความคมชัดและมีความสวยงามมากกว่า ขณะที่ธนบัตรปลอมคุณภาพจะด้อยลง 3.หากยกธนบัตรส่องด้านซ้ายมีแถบใยใสป้องกันการปลอมแปลงอยู่ ในธนบัตรจริงในแถบใยใสจะเขียนว่า USA100 ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ ส่วนธนบัตรของปลอมที่ยึดได้จะไม่พบรอยพิมพ์ USA100ในแถบใยใส 4.สังเกตได้ง่ายจากตัวเลข100 มุมล่างด้านขวา หากมีการพลิกธนบัตรสีของตัวเลขจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีดำในธนบัตรของจริง ส่วนของปลอมจะไม่สามารถเปลี่ยนสีได้หรือหากมีความพยายามปลอมแปลงสีให้เหมือนของจริง คุณภาพของธนบัตรปลอมจะไม่ดีและเห็นได้ไม่ชัดเหมือนของจริง


พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ความผิดเกี่ยวกับการปลอม หรือการแปลงเงินตรา ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน หลังจากนี้จะได้แจ้ง ปปง. ให้ตรวจสอบเพื่อยึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาและผู้ที่เกี่ยวข้องและดำเนินคดีฐานฟอกเงินต่อไป ฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการร้านค้า ให้ใช้ความระมัดระวังในตรวจสอบแบงค์ดอลล่าห์เหล่านี้ หากพบเบาะแส หรือเกรงจะตกเป็นเหยื่อ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ สายด่วน PCT 1599 ตลอด 24 ชม. หรือสายตรง 081-8663000 หรือ www.pct.police.go.th

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง