TNN online ล้างทัศนคติแง่ลบ "ฆ่าตัวตาย" ≠ "ซึมเศร้า"

TNN ONLINE

สังคม

ล้างทัศนคติแง่ลบ "ฆ่าตัวตาย" ≠ "ซึมเศร้า"

ล้างทัศนคติแง่ลบ ฆ่าตัวตาย ≠ ซึมเศร้า

ทำไมสังคมจึง “โยนบาป” เกือบทุกครั้งที่เกิดคดีการฆ่าตัวตาย ว่า พวกเขาเหล่านั้นต้องเป็น “ซึมเศร้า”

ทำไมสังคมจึง “โยนบาป” เกือบทุกครั้งที่เกิดคดีการฆ่าตัวตาย ว่า พวกเขาเหล่านั้นต้องเป็น “ซึมเศร้า”

แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วนั้น มีเพียง 9-10% เท่านั้นที่ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นโรคซึมเศร้า..

หากพูดถึงข่าวคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์ปีนี้ พบว่า เกิดการฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆ และในหลายเคสมักสรุปคดีว่า เกิดจาก “โรคซึมเศร้า” ทั้งคนบันเทิงไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนักศึกษาก่อเหตุสังหารแม่ก่อนยัดศพลงในตู้เย็น จากนั้นทำการปลิดชีวิตตัวเองตามไป

จากข่าวคราวดังกล่าวนั้น ทำให้ “โรคซึมเศร้า” ถูกพูดถึงบนหน้าสื่อขึ้นมาอีกครั้ง

ล้างทัศนคติแง่ลบ ฆ่าตัวตาย ≠ ซึมเศร้า

คนที่ฆ่าตัวตาย 90% ไม่ได้เป็น “โรคซึมเศร้า”

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพ ไขความเข้าใจที่ถูกต้อง TNN ว่า สถิติการฆ่าตัวตายสำเร็จ ปัจจัยที่พบบ่อยที่สุด 60-70% คือ เรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด การทะเลาะเบาะแว้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัว การน้อยใจ การถูกตำหนิ ดุด่า เป็นปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นส่วนมาก

นอกจากนี้ ยังพบปัจจัยที่เกิดจากการป่วยโรคเรื้อรังทางกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไต โรคเส้นเลือดในสมอง เรื่องการใช้สุรา ยาเสพติด ปัญหาทางสังคมอื่นๆ เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวนี้ พบว่า ไม่เคยมีสาเหตุที่ทำให้ฆ่าตัวตายเพียงปัจจัยเดียว ทุกครั้งจะพบหลายปัจจัยร่วมกันเสมอ

ขณะที่ กลุ่มอายุที่พบว่ามีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุด ในเรื่องของอัตราคือ “ผู้สูงอายุ” แต่ในแง่ของจำนวน จะเป็น “วัยทำงาน” เนื่องจากผู้สูงอายุประชากรมีน้อยกว่าวัยทำงาน พอคำนวนเป็นอัตราจึงสูงกว่า ขณะที่ วัยทำงาน มีฐานประชากรมาก อัตราจึงยังไม่เท่าผู้สูงอายุ

ล้างทัศนคติแง่ลบ ฆ่าตัวตาย ≠ ซึมเศร้า

ภาพโดย Лечение Наркомании จาก Pixabay

10-12% ของคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ไม่ได้กระทำครั้งแรก!

นพ.ณัฐกร กล่าวต่อว่า ได้มีการประมาณการณ์ว่า แต่ละปีมีคนไทยมีการ “พยายามฆ่าตัวตาย” ประมาณ 53,000 คน โดยคนหนึ่งอาจจะมากกว่า 1 ครั้ง และในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 4,000-4,100 คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ขณะที่ จำนวนที่เหลือ 49,000 คนมีการพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ และมีความเสี่ยงที่จะกระทำซ้ำ ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวอาจจะเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ก็ได้ 

นอกจากนี้ ยังพบว่า คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,000-4,100 คน มี 10-12% เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำครั้งแรก หมายความว่า หากสามารถป้องกันผู้ที่ทำร้ายตัวเองและไม่สำเร็จ เพื่อไม่ให้กลับมาทำซ้ำได้ทุกคนในประเทศไทย น่าจะสามารถลดการตายจากการฆ่าตัวตายได้ปีละ 400-500 คน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการเฝ้าติดตามคนที่พยายามฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้กลับมาทำซ้ำ เพราะการกลับมาทำซ้ำ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสำเร็จมากขึ้น

สำหรับวิธีการทำอัตวิบากกรรมประมาณ 70-80% คือ การแขวนคอ รองลงมา เป็นการกินสารกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ส่วนอื่นๆ จะเป็นกินสารเคมีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าแมลง การใช้ปืน และการกระโดดที่สูง

สถานการณ์ฆ่าตัวตายอยู่ที่ปีละ 4,000 คน

นพ.ณัฐกร คาดการณ์สถานการณ์การฆ่าตัวตาย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6-6.5 ต่อประชากรแสนคน หรือราวๆ ปีละ 4,000-4,100 คน ขณะที่ ปีหน้าหรือปีถัดๆ ไปคิดว่า จะคงอยู่ในอัตราดังกล่าว แต่มองว่าสังคมให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี 

ที่ผ่านมา 1 ปี พบว่า ประชาชนเข้าใจในสิ่งที่กรมสุขภาพจิตสื่อสารมากขึ้น และในหลายปีที่ผ่านมาพยายามบอกกับประชาชนให้ตระหนักรู้ถึงอาการซึมเศร้า ภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย การเตือนในการฆ่าตัวตาย ซึ่งบางครั้งพบว่าข้อมูลที่อยากบอกประชาชนเยอะมาก แต่ 1 ปีที่ผ่านมา เน้นการฟังคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง พบว่าประชาชนเข้าใจข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว

“ไม่อยากให้สังคมคิดว่า การฆ่าตัวตายทุกกรณีจะมีโรคซึมเศร้านำมาก่อนทุกรายไป ในสังคมไทยการฆ่าตัวตายยังมีปัจจัยบริบทที่หลากหลายที่นำมาสู่การตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง”

ล้างทัศนคติแง่ลบ ฆ่าตัวตาย ≠ ซึมเศร้า

ภาพโดย Ulrike Mai จาก Pixabay

ข่าวดี! คนไทยกล้าเดินไปพบจิตแพทย์มากขึ้น

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยซึมเศร้า 1,900,000 คน ยังเทียบไม่ได้กับ 5% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่ในระบบสาธารณสุขมากขึ้นกว่าในอดีต แต่นับเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากยิ่งพบผู้ป่วยมาก นั่นเท่ากับว่า คนไทยตระหนัก เข้าใจ และกล้าเข้ามาพบจิตแพทย์มากขึ้น

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ชำนาญการและโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ TNN ถึงสถานการณ์โรคซึมเศร้าในปีนี้ว่า ประชาชนให้ความสนใจและพูดถึงเรื่องโรคซึมเศร้ามากขึ้น มีผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษามากขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าจากอดีตถึงปัจจุบันตัวเลขไม่ได้แตกต่างกัน

ในสมัยก่อนคนไม่ได้มาหาหมอเพราะไม่รู้ว่ามีโรคนี้ และบางคนสงสัยแต่ไม่กล้ามาเพราะยังกลัวการพบจิตแพทย์ แต่ว่าปัญหาเหล่านี้เริ่มหมดไป โดยตัวเลข 10 ปีหลัง พบว่า คนไทยไม่ค่อยกลัวการพบจิตแพทย์แล้ว และการประชาสัมพันธ์ของสื่อทำให้รู้ว่าอาการดังกล่าวเป็นอาการป่วยจากโรคซึมเศร้าและสามารถรักษาหายได้ ทำให้คนเข้ามารักษามากขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ป่วยที่เข้ามารักษา มาด้วยอาการที่เป็นไม่มาก หากเทียบกับ 10 กว่าปีก่อนที่มาโรงพยาบาลต้องอาการหนักมาก ผ่านการพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว แต่ปัจจุบันคนไข้มาด้วยอาการที่น้อย ทำให้การรักษาง่าย และโอกาสหายขาดสูงขึ้นมาก

ล้างทัศนคติแง่ลบ ฆ่าตัวตาย ≠ ซึมเศร้า

“ซึมเศร้า” น่าเห็นใจ ไม่ใช่โรคประหลาด! 

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีประมาณ 5% ดังนั้น ใน 100 คน จะพบผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า 5 คน ขณะที่ ในยุโรปมีหลายการศึกษา ระบุว่า มีได้ 10% ซึ่งโรคซึมเศร้าพบได้บ่อย ไม่ใช่โรคแปลกประหลาด และในอนาคตตัวเลขที่พบอาจจะมากขึ้น แต่เป็นเพราะทำความเข้าใจได้จนทำให้มีคนเข้ามารักษามากขึ้น

โรคซึมเศร้า เป็นได้ทุกเพศทุกวัย ได้ทุกอาชีพ กรณีที่เกิดจากพันธุกรรมจะพบได้ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้นจะพบได้เยอะสุด แต่สามารถแสดงอาการได้จนถึงวัยผู้สูงอายุ และในผู้หญิงอาจจะมีโอกาสเป็นซึมเศร้าได้มากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจจะมีเรื่องฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

นอกจากนี้ มีหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดโรคได้ ส่วนการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม สังคม ก็มีผลด้วยเช่นกัน แต่เชื่อว่าคนที่มีพันธุกรรมอยู่แล้ว และมีสุขภาพจิตไม่ดี มีความเครียดสูง และมีการใช้สารเสพติดเข้ามาร่วมด้วย ทำให้โอกาสพันธุกรรมกำเริบจะเร็วและหนักกว่า

ล้างทัศนคติแง่ลบ ฆ่าตัวตาย ≠ ซึมเศร้า

ภาพโดย OyeHaHa จาก Pixabay

“ซึมเศร้า” กับการก่อ “อาชญากรรม”

ตั้งแต่อดีตคนในสังคมมักมีทัศนคติว่า “ผู้ป่วยจิตเวช” จะต้องเป็นตัวปัญหาที่ “ก่อความรุนแรง” ในสังคม ซึ่งหากพูดถึงโรคซึมเศร้านั้น ไม่ใช่ทุกคนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือไปก่อความรุนแรงกับบุคคลอื่น 

จากสถิติคนที่เป็นโรคซึมเศร้าและไปก่อเหตุอาชญากรรมนั้น คนไข้ที่เป็นซึมเศร้าจะมีสถิติที่สูงกว่าคนทั่วไป คือ “การทำร้ายตัวเอง” หรือ “การฆ่าตัวตาย” ส่วนการไปทำร้ายคนอื่นยังไม่เคยมีการศึกษาไหนบ่งบอกว่ามีอัตราการทำร้ายมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งกรณีของการก่อความรุนแรงสามารถพบเจอได้ในคนที่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชมากกว่า

“คนที่เป็นซึมเศร้าจะดูไม่ค่อยมีแรง ไม่อยากทำอะไร โอกาสที่จะเกิดการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายมากกว่า จึงเป็นโรคที่น่าเห็นใจ แต่หากพบว่าคนที่เป็นซึมเศร้าแล้วไปทำร้ายคนอื่น จะต้องดูเป็นกรณีๆ ไป จะไปฟันธงว่ามาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งไม่ได้ เพราะในหนึ่งคนมีปัจจัยหลายอย่าง แต่จากการศึกษาทั่วโลกไม่ได้บ่งบอกว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะทำร้ายคนอื่น” โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าว

คาดการณ์ “โรคซึมเศร้า” ปี 63

นพ.อภิชาติ คาดการณ์ว่า อนาคตจะมีผู้ป่วยเดินเข้ามาพบหมอมากขึ้น ไม่ใช่ว่าคนป่วยมากขึ้น เพียงแต่เข้าใจโรค และรีบมาหาหมอได้เร็วขึ้น ดังนั้น จึงเชื่อว่าสถิติเหมือนกันทั่วโลก และเมื่อได้รับการรักษาเร็วโรคซึมเศร้าก็จะเป็นโรคที่น่ากลัวน้อยลง คนเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น และสามารถหายขาดได้ 

สำหรับแผนรับมือโรคซึมเศร้า อยากให้เล่าหรือปรึกษาคนใกล้ตัวที่ไว้ใจได้ เพื่อที่จะลดความเครียดลง เป็นการระบายความเครียดอย่างหนึ่ง ในกรณีที่ไม่รู้จะปรึกษาใครดี สามารถโทรมาได้ที่เบอร์ 1323 หรือพบหมอ และถ้ารู้สึกตัวว่าดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอจากการใช้สารเสพติดสามารถปรึกษาหมอได้ และอยากให้ท่องเอาไว้ว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ทุกอย่างมีทางออก” มีคนที่จะคอยช่วยเหลืออยู่ ดังนั้น อย่ากลัวที่จะไปพบหมอ

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง