TNN online 'คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต' 3 สารเคมีอันตราย ชื่อนี้ทำไมต้องแบน!

TNN ONLINE

สังคม

'คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต' 3 สารเคมีอันตราย ชื่อนี้ทำไมต้องแบน!

'คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต' 3 สารเคมีอันตราย ชื่อนี้ทำไมต้องแบน!

สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ที่หลายฝ่ายกำลังเร่งผลักดันให้ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย นั้นคืออะไร ลองไปทำความรู้จักกัน

วันนี้ (9 ต.ค.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทางคณะทำงานเพื่อ พิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภครวม 4 ฝ่าย ที่มี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่งหัวโต๊ะในการประชุมพิจารณา ได้ทำการพิจารณาต่อกรณีการเสนอ ยกเลิกสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร จำนวน 3 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้แบนสาร 3 ชนิดนี้นั้น

เรามาทำความรู้จัก สารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ว่ามีสรรพคุณอย่างไร ร้ายแรงแค่ไหนทำไมหลายฝ่ายจึงออกมาผลักดันให้ยกเลิก

'คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต' 3 สารเคมีอันตราย ชื่อนี้ทำไมต้องแบน!

พาราควอต (Paraquat)

เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช หรือยาฆ่าหญ้าที่นิยมใช้ทั่วโลก เพราะราคาไม่แพง และใช้ปริมาณไม่มากก็สามารถกำจัดวัชพืชได้ เพราะพาราควอตจัดเป็นสารเคมีเป็นพิษที่ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่แพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อไม้ โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทย อนุญาตให้ใช้สารพาราควอตกับพืชเศรษฐกิจหลักของไทย 6 ประเภท คือ อ้อย ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น  ด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนที่ต่ำจึงทำให้เกษตรกรนิยมใช้พาราควอตอย่างกว้างขวาง โดยในปี 2560 ไทยนำเข้าพาราควอตถึง 44,501 ตัน มูลค่า 3,816 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย

สาเหตุผลที่หลายประเทศสั่งแบนพาราควอตก็เพราะอันตรายต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างรุนแรง โดยพาราควอตส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่นทำให้เกิด อาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อที่สัมผัส  และในกรณีที่ได้รับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายแม้เพียง 1-2 ช้อนชา ก็ทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้  นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่า พาราควอตสามารถเข้าสู่สมองและมีฤทธิ์ทำลายสมอง เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน รวมทั้งส่งผลต่อเด็กและหญิงตั้งครรภ์ หากเด็กได้รับสารพาราควอตก็อาจทำให้สมองไม่เติบโตตามพัฒนาการ

ส่วนผลการสำรวจสารตกค้างจากพาราควอต  ในพื้นที่ต้นแม่น้ำน่าน พบ สารพาราควอตปนเปื้อนมากถึง 64 ตัวอย่าง จาก 65 ตัวอย่าง  น้ำใต้ดินก็พบพาราควอตถึง 13 แห่ง จากตัวอย่าง 15 แห่ง  รวมถึงผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ต  ก็พบสารพาราควอตเกินมาตรฐานสูงถึง 38 ตัวอย่างจาก 76 ตัวอย่าง ซึ่งการสะสมของพาราควอตในผักผลไม้ไม่สามารถล้างออกหรือต้มก็กำจัดไม่ได้ เพราะจุดเดือดของพาราควอตสูงถึง 300 องศาเซลเซียส เราทุกคนจึงมีโอกาสรับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคพืชผักผลไม้เหล่านี้

'คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต' 3 สารเคมีอันตราย ชื่อนี้ทำไมต้องแบน!

ไกลโฟเซต (Glyphosate)

ป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า “ราวด์อัพ” สารเคมีชนิดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กได้ ซึ่งสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติภายใต้องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่รายงานในปี 2558 โดยกำหนดให้ไกลโฟเซตเป็น “สารที่น่าจะก่อมะเร็ง” ในมนุษย์ เนื่องจากมีหลักฐานเพียงพอว่าก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และหลักฐานที่หนักแน่นว่าก่อให้เกิดความผิดปกติของสารพันธุกรรม (ทำลายยีน-โครโมโซม) และยังพบว่า มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิด เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ และทำให้ รกได้รับความเสียหาย 

ในประเทศไทยพบ “ไกลโฟเซต” ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร พบการตกค้างของไกลโฟเซตในน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผลิตในจังหวัดน่านเฉลี่ย 10.1 ไมโครกรัมต่อลิตร และพบในน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค 11.26 ไมโครกรัมต่อลิตร โดยมีระดับการตกค้างในหลายตัวอย่างที่เกินค่ามาตรฐานของบางประเทศ การตกค้างของไกลโฟเซตในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของแม่และทารกเป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากมีงานวิจัยชี้ว่าการตกค้างแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อได้

'คลอร์ไพริฟอส พาราควอต ไกลโฟเซต' 3 สารเคมีอันตราย ชื่อนี้ทำไมต้องแบน!

คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)

เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกหนึ่งชนิดที่ส่งผลกระทบต่อแม่และเด็กโดยมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่ระบุว่า สารเคมีชนิดนี้ ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้มีอาการสมาธิสั้น ไปจนถึงปัญหาด้านความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ได้

มีงานวิจัยตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกัน โดยพบว่าคลอร์ไฟริฟอสเป็นสารเคมีที่ตกค้างมากที่สุดในกลุ่มสารกำจัดแมลง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ยัน 3 หน่วยงานกำกับดูแล เสียงไม่แตก แบน 3 สารเคมี




เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง