สทนช. ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง 3 จังหวัด ชี้ปีนี้ไม่ได้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา
สทนช. ประชุมประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พบหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ขณะนี้มีพื้นที่ ประกาศภัยแล้งอยู่ราว 4 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กาญจนบุรี และ สมุทรสาคร
สทนช. ประชุมประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พบหลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ขณะนี้มีพื้นที่ ประกาศภัยแล้งอยู่ราว 4 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กาญจนบุรี และ สมุทรสาคร
นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ว่า ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ไม่ได้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีมาตรการเฝ้าระวังในการดำเนินการเชิงรุก ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการสำรวจพื้นที่เสี่ยงและเข้าไปแก้ปัญหา
โดยขณะนี้มีพื้นที่ ประกาศภัยแล้งอยู่ราว 4 อำเภอ 3 จังหวัด ซึ่งแบ่งเป็นภัยแล้งที่เกิดจากการทำนาปีต่อเนื่องในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ส่วนที่ จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง ได้แก่ อำเภอเลาขวัญ อำเภอพนมทวน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปลูกมันสำปะหลังที่กำลังขาดแคลนน้ำ หรือพื้นที่ของ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่มีปัญหาจากการถูกน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลกระทบต่อน้ำจืดในพื้นที่
สำหรับพื้นที่ที่คาดการณ์ว่า เป็นพื้นที่เสี่ยงนาปรังรอบ 2 นั้น ได้มีการรับข้อมูลว่าอยู่ที่บริเวณ จ.พิจิตร ที่จะมีการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร โดยขณะนี้เกษตรกรได้มีการซื้อน้ำไปทำนาปรัง ซึ่งตรงจุดนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการแจ้งชาวบ้านแล้วว่า มีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ แต่ชาวนาก็ยังคงทำนาปรังอยู่
นอกจากนี้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย และมีการปลูกพืชและไม้ผลทางเศรษฐกิจ เช่น ทุเรียน ทำให้เกิดการแย่งใช้น้ำบริเวณต้นน้ำ
ส่วนประปาที่มีการรายงานมาในขณะนี้ มีการรายงานมาแล้วจำนวน 8 สาขา ซึ่งพบว่าบางพื้นที่เริ่มมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ เช่น พื้นที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ , อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือพื้นที่ เกาะพะงัน เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ในขณะนี้ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งก็ได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการซื้อน้ำไปช่วยให้ประชาชนในเกาะสีชัง เพื่อเป็นการระงับยับยั้งปัญหาของจังหวัดในเบื้องต้น
ภาพจาก AFP
ข่าวแนะนำ
-
"กรดไหลย้อน" ภัยสุขภาพไม่ควรมองข้าม
- 14:18 น.