TNN online วันพืชมงคล 2566 เปิดความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

TNN ONLINE

สังคม

วันพืชมงคล 2566 เปิดความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

วันพืชมงคล 2566 เปิดความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

วันพืชมงคล 2566 เปิดความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีความสำคัญอย่างไร

วันพืชมงคล 2566 ตรงกับวันพุธที่ 17 พ.ค. 2566 แรม 13 ค่ำ เดือนหก (6) ปีเถาะ โดยได้กำหนดให้วันอังคารที่ 16 พ.ค. 2566 เป็นวันสวดมนต์การพระราชพิธีพืชมงคล และวันพุธที่ 17 พ.ค. 2566 เป็นวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


ความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยโบราณ  คงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนเกษตรกรให้ปลูกพืชผลโดยเฉพาะการทำนา เพราะข้าวเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิต  พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศจึงเป็นผู้นำลงมือไถนาและหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่าง  เพื่อเตือนราษฎรว่าถึงเวลาทำการเพาะปลูกแล้ว

ต่อมา เมื่อพระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศมีพระราชภารกิจอื่น จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ให้ไปปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ไถนาและหว่านธัญพืช พระมเหสีหรือพระชายาที่เคยร่วมไถนาหว่าน ก็เปลี่ยนเป็นท้าวนางในราชสำนัก ออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนา เรียกว่า เทพี

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีชนหลายเชื้อชาติที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ได้แก่ อินเดีย จีน และกัมพูชา สำหรับประเทศไทยนั้น มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและได้ปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์


วันพืชมงคล 2566 เปิดความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ภาพจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 



พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่กระทำในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแต่พิธีพราหมณ์ตามแบบสมัยอยุธยา ไม่มีพิธีสงฆ์

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ร่วมในพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำมาตั้งในมณฑลพิธี ก่อนจะนำไปไถหว่าน เรียกพระราชพิธีนี้ว่า พระราชพิธีพืชมงคล เมื่อรวมพระราชพิธี 2 พระราชพิธี เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมา จัดการพระราชพิธี 2 วัน วันแรก คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้น คือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญเกษตรกร จึงได้กำหนดวันประกอบพระราชพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี โดยเลือกวันขึ้นแรมฤกษ์ยามอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ และอยู่ในระหว่างเดือน 6 ทางจันทรคติ พระราชพิธีนี้จึงไม่ได้กำหนดวันในแต่ละปีตามปฏิทินได้แน่นอน ตามปกติแล้ววันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะอยู่ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี การที่กำหนดในเดือน 6 ก็เพราะเป็นเดือนที่เริ่มเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร คือ ชาวนาจะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักของไทยมาแต่โบราณ เมื่อโหรหลวงคำนวณวันอุดมมงคลฤกษ์แล้ว สำนักพระราชวังจะลงพิมพ์ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันปีใหม่ทุกปี โดยกำหนดว่า วันใดเป็นพระราชพิธีพืชมงคล วันใดเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้กำหนดเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นวันหยุดราชการและประกาศให้มีการประดับธงชาติ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีสืบมาจนถึง พุทธศักราช 2479 แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมาพุทธศักราช 2483 รัฐบาลกำหนดให้มีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พระราชพิธีพืชมงคล ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ให้เรียกว่า รัฐพิธีพืชมงคล

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

พุทธศักราช ๒๕๐๓ เลขาธิการพระราชวังรับบรมราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าพระราชพิธีพืชมงคลแต่เดิมจัดเป็นการพระราชพิธี 2 วัน แล้วได้ระงับไปคงไว้แต่รัฐพิธีพืชมงคล รัฐบาลจึงสนองพระราชดำริให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลและรัฐพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อรักษาราชประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรสืบไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดการพระราชพิธีพืชมงคลและรัฐพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตั้งแต่พุทธศักราช 2503 เป็นต้นมา ครั้นพุทธศักราช 2506 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเคยจัดพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง ทุ่งพญาไท (บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ทุ่งส้มป่อย (บริเวณสนามม้าราชตฤณมัย) และที่อื่น ๆตามแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธี ครั้นเมื่อได้ฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งเคยเป็นที่จัดพระราชพิธีในรัชกาลที่ ๑ – ๓

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนา เริ่มแรกการฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นมาใหม่ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนา ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคัดเลือกจากข้าราชการสตรีในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้นต่อมามีการยุบกรมการข้าว จึงต้องเปลี่ยนผู้ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนา จากอธิบดีกรมการข้าวเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วนเทพีคัดเลือกจากข้าราชการสตรีระดับชำนาญการขึ้นไป ที่ยังมิได้สมรสจากกรมต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพระราชพิธีพืชมงคล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธี ทรงอธิษฐานขอความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารให้มีแก่ราชอาณาจักร นอกจากนี้มีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับปรุงพระราชพิธีให้เหมาะสมกับยุคสมัย กับได้ทรงปลูกพันธุ์ข้าวในแปลงนาสาธิตบริเวณสวนจิตรลดาซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงนาสาธิตแล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพันธุ์ข้าวประมาณ 40-50 กิโลกรัม เพื่อนำมาใช้ในการพระราชพิธี เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานมานี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แบ่งไปหว่านในมณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกร เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นการส่งเสริมการเกษตรตามพระราชประสงค์


พระราชพิธีพืชมงคล


ประกาศพระราชพิธีพืชมงคลนั้น เป็นคาถาภาษาบาลีพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๔ อ่านทำนองสรภัญญะ จบแล้วดำเนินความภาษาไทยเป็นคำร้อยแก้ว เนื้อความเป็นคำอธิษฐาน ๔ ข้อดังนี้

ข้อ 1 เป็นคำนมัสการสรรเสริญพระคุณพระพุทธเจ้าว่าทรงดับทุกข์ได้ มีพระหฤทัยคงที่ ทรงปลูกธรรมให้งอกงามจำรูญแก่บรรดาสาวกพุทธเวไนยสืบๆ มา แม้ว่าโลกจะเร่าร้อนด้วยเพลิงกิเลส พระสัทธรรมอันมีผลเป็นอมตะก็ยังงอกงามได้ด้วยเดชะพระบารมีของพระองค์ บัดนี้เราทั้งหลายบูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นกับพระธรรมและพระสงฆ์ แล้วจะปลูกพืช คือ บุญในพระรัตนตรัยอันเป็นเนื้อนาบุญอย่างดี พืชคือบุญนี้ เมล็ดผลเป็นญาณความรู้อันเป็นเครื่องถ่ายถอนทุกข์ในโลก สามารถส่งผลให้ได้ทั้งในปัจจุบันและในกาลภายหน้าสืบๆ ไป ตามกาลอันควรจะให้ผลเป็นอุปการะนานาประการ ขอให้พืชคือบุญที่เราหว่านแล้ว จงให้ผลตามความปรารถนา อนึ่งขอให้ข้าวกล้าและบรรดาพืชผลที่หว่านที่เพาะปลูกลงในที่นั้นๆ ทั่วราชอาณาเขต จงงอกงามจำรูญตามเวลา อย่าเสียหายโดยประการใดๆ

ข้อ 2 ยกพระคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงการทำนาของพระองค์แก่พราหมณ์ชาวนาผู้หนึ่งว่า "ศรัทธา-ความเชื่อเป็นพืชพันธุ์ข้าวปลูกของเรา ตบะ-ความเพียร เผาบาป เป็นเมล็ดฝน ปัญญา-ความรอบรู้เป็นแอกและไถ หิริ-ความละอายใจ เป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก สติ-ความระลึกได้ เป็นผาลและปฎัก เราจะระวังกายระวังวาจาและสำรวมระวังในอาหาร ทำความซื่อสัตย์ให้เป็นท่อไขน้ำ มีโสรัจจะ-ความสงบเสงี่ยมเป็นที่ปลดไถ มีวิริยะ-ความเพียรเป็นแรงงานชักแอกไถ เป็นพาหนะนำไปสู่ที่อันเกษมจากเครื่องผูกพันที่ไปไม่กลับ ที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถของเราเช่นนี้ มีผลเป็นอมตะ มิรู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์สิ้นทุกประการ” ดังนี้ มายกขึ้นเป็นคำอธิษฐานว่าที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ เป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจแห่งความสัตย์นี้ ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลที่หว่านที่เพาะปลูก จงงอกงามทั่วภูมิมณฑลอันเป็นราชอาณาเขต

ข้อ 3 ยกพระคาถาอันเป็นภาษิตของพระเตมีย์โพธิสัตว์ ความว่า "บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร โคย่อมจำรูญพูนเกิดแก่เขา พืชที่หว่านในนาของเขาย่อมงอกงามจำเริญ เขาย่อมได้รับบริโภคผลแห่งพืชพันธุ์ที่หว่านแล้ว” และว่า "บุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายมิตรอันศัตรูหมู่อมิตรไม่อาจย่ำยีได้ดุจไม้ไทรมีรากและย่านอันงอกงามพายุไม่อาจพัดพานให้ล้มไปได้ฉันนั้น” มาตั้งเป็นสัตยาธิษฐานว่าด้วยอำนาจสัจวาจานี้ ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลที่หว่านเพาะปลูกในภูมิมณฑลทั่วราชอาณาเขต จงงอกงามไพบูลย์

ข้อ 4 อ้างพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระเมตตากรุณาแก่ประชาราษฎร ตั้งพระราชหฤทัยจะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้าเป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจความสัตย์นี้ ขอให้ข้าวกล้าและพืชผลงอกงามบริบูรณ์ทั่วราชอาณาเขต

ต่อจากนั้น เป็นการกล่าวถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “พระคัณธาราษฎร์” ที่มีพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตก อันเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญในพระราชพิธีนี้ แสดงตำนานโดยลำดับจนรัชกาลที่ ๑ ได้ทอดพระเนตร และได้โปรดให้หล่อขึ้นใหม่สำหรับตั้งในพระราชพิธี และต่อนั้นไปว่าด้วยการพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญในพระราชพิธีนั้น ทรงพระราชอุทิศแก่ เทพยดาทั้งปวง แล้วอธิษฐานเพื่อให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ และฝนตกตามฤดูกาล พระสงฆ์จะสวดต่อท้ายการสวดมนต์ในพระราชพิธีพืชมงคล

ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) เป็นพิธีพราหมณ์นั้นจะได้ประกอบพิธีบริเวณมณฑลพิธีสนามหลวงโดยได้ตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ อาทิ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระอุมาภควดี พระมหาวิฆเนศวร์ พระลักษมี พระพลเทพ และพระโคอุศุภราช ซึ่งในตอนค่ำพระมหาราชครูจะทำพิธีบวงสรวงเพื่อความสวัสดีแก่พืชผลด้วย


วันพืชมงคล 2566 เปิดความเป็นมาของพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ภาพจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

คันไถ


คันไถที่ใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้ในพระราชพิธีดังกล่าวตลอดมานั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2539 โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอ โพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นคันไถที่ทำจากไม้สมอ ซึ่งชุดคันไถประกอบด้วย

1.คันไถ ขนาดความสูงวัดจากพื้นถึงเศียรนาค ๒.๒๖ เมตร และ ความยาวจากเศียรนาคถึงปลายไถ 6.59 เมตร ทาสีแดงชาดตลอดคันไถ ที่หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงลักปิดทอง ลวดลายประดับคันไถเป็นลายกระจังตาอ้อยลงลักปิดทองตลอดคัน ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ

2.แอกเทียมพระโค ยาว 1.55 เมตร ตรงกลางแอกประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองเหลืองลงลักปิดทองอยู่บนฐานบัว ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคลงลักปิดทอง ลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงลักปิดทองตลอดคัน ที่ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือกกระทาม

3.ฐานรอง เป็นที่สำหรับตั้งรองรับคันไถพร้อมแอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ทาด้วยสีแดงชาด มีลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงลักปิดทอง ทั้งด้านหัวไถและปลายไถ

4.ธงสามชาย เป็นธงประดับคันไถติดตั้งอยู่บนเศียรนาค ทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลายลงลักปิดทองประดับด้วยกระจกแวว มีพู่สีขาวประดับด้านบนเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่งเพื่อประดับพระเกียรติ ธงสามชายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ฐานยาว 41 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร และเสาธงยาว 72 เซนติเมตร


พระโคแรกนา

พระโค ในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแลซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์

ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานดำเนินการคัดเลือกโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี สังกัดสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์จะดำเนินการคัดเลือกโคเพื่อเป็นพระโคตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร

ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม





ที่มา royaloffice.th/ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภาพจาก royaloffice.th

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง