TNN online "มะเร็งช่องปาก" เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง เช็กสัญญาณอันตราย-วิธีป้องกัน

TNN ONLINE

Health

"มะเร็งช่องปาก" เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง เช็กสัญญาณอันตราย-วิธีป้องกัน

มะเร็งช่องปาก เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง เช็กสัญญาณอันตราย-วิธีป้องกัน

“มะเร็งช่องปาก” เป็นมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในช่องปาก เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก พื้นใต้ลิ้น และต่อมทอนซิล

“มะเร็งช่องปาก” เป็นมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต สามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในช่องปาก เช่น ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก พื้นใต้ลิ้น และต่อมทอนซิล 


นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งช่องปาก เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในคนไทย โดยเฉพาะในเพศชาย จากสถิติข้อมูลมะเร็งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 (Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018) รวบรวมโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 6 ของโรคมะเร็งในผู้ชายไทย ในแต่ละปีพบผู้ป่วยมะเร็งช่องปากรายใหม่เฉลี่ย 3,840 คนต่อปี หรือวันละ 11 คน 


ตำแหน่งในช่องปากที่พบเป็นมะเร็งบ่อยที่สุด


คือ ลิ้น รองลงมาคือบริเวณใต้ลิ้นและบริเวณเหงือก อาการของโรคมะเร็งช่องปากมีได้หลายอาการขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น ได้แก่ เป็นแผลเรื้อรังในช่องปากซึ่งไม่หายภายใน 2-3 สัปดาห์, เป็นก้อนนูนหรือฝ้าขาวหรือแดงในช่องปาก, ฟันหลุด ฟันโยก, ปวดใน ช่องปากหรือปวดหู, เคี้ยวหรือกลืนลำบาก และก้อนที่คอ


สาเหตุในการเกิดโรคมะเร็งช่องปากที่สำคัญ


นายแพทย์เอกภพ แสงอริยวนิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาโสต ศอ นาสิก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุในการเกิดโรคมะเร็งช่องปากที่สำคัญคือ การสูบบุหรี่ ยาสูบ ยาเส้น, การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเคี้ยวหมากพลู 


นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆที่พบได้ เช่น การเป็นแผลเรื้อรังในช่องปาก, การใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี, สุขภาพช่องปากไม่ดีหรือมีฟันผุมาก, มีฟันที่แหลมคม, ได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงเป็นประจำ(เสี่ยงต่อมะเร็งริมฝีปาก) สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งช่องปาก ทำโดยการตัดชิ้นเนื้อรอยโรคที่สงสัยเพื่อตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา และหลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อประเมินระยะของโรคเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป


การรักษามะเร็งช่องปาก 


ขึ้นอยู่กับระยะของโรครวมถึงสภาพร่างกาย โรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยพิจารณาการผ่าตัดเป็นหลัก และพิจาณาให้รังสีรักษาในผู้ป่วยบางราย สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้จะให้การรักษาด้วยวิธีรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด ซึ่งให้ผลการรักษาที่ใกล้เคียงกับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การป้องกันการเกิดโรคย่อมดีกว่าการรักษาเมื่อป่วยแล้ว 


สัญญาณอันตราย


- มีอาการเจ็บ หรือ มีก้อนติดอยู่ในช่องปาก
- มีแผลในช่องปากคล้ายแผลร้อนในเรื้อรัง
- มีอาการชา หรือ เจ็บบริเวณใบหน้า ปาก และ ลำคอ
- พบรอยโรคสีขาว สีแดง หรือสีขาวปนแดงในปาก
- พบก้อนเรื้อบวมโต หรือ มีเลือดออกผิดปกติในช่องปาก


วิธีการป้องกันโรคมะเร็งช่องปาก ได้แก่ 


งดสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่, งดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ไม่เคี้ยวหมาก, ใส่ฟันปลอมที่พอดี และการตรวจเช็คสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6 เดือน


เนื่องจากช่องปากเป็นตำแหน่งที่สามารถมองเห็นไม่ยาก ดังนั้นประชาชนทั่วไปสามารถตรวจหารอยโรคแผล หรือก้อนในช่องปากด้วยตนเองได้ ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้ หลังจากแปรงฟันแล้ว ให้ส่องกระจกตรวจบริเวณ 


1) ริมฝีปาก โดยสังเกตริมฝีปากด้านนอก ดึงริมฝีปากบนและล่างเพื่อตรวจดูเยื่อบุริมฝีปากด้านใน 

2) กระพุ้งแก้ม และเหงือก โดยใช้นิ้วดึงกระพุ้งแก้มออกไปด้านข้าง ตรวจดูบริเวณกระพุ้งแก้มและเหงือกบนล่าง 

3) ลิ้น ใต้ลิ้น และพื้นช่องปาก โดยอ้าปากแลบลิ้น ยื่นลิ้นหรือดึงลิ้นด้วยผ้ากอซหรือกระดาษทิชชูไปทางซ้ายและขวาเพื่อตรวจดูด้านข้างของลิ้น กระดกลิ้นขึ้น เพื่อตรวจดูบริเวณใต้ลิ้นและพื้นของช่องปาก รวมถึงเหงือกด้านล่าง 

4) เพดานปาก โดยอ้าปาก เงยหน้า ตรวจดูเพดานปาก รวมถึงบริเวณเหงือก


จะเห็นได้ว่ามะเร็งช่องปากเป็นมะเร็งที่ป้องกันและตรวจคัดกรองได้ด้วยตนเองได้ไม่ยาก หากท่านมีอาการผิดปกติ หรือตรวจช่องปากด้วยตนเองแล้ว สงสัยว่ามีความผิดปกติ ท่านควรไปปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง ท่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้เรื่องโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง https://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ และ Line : NCIรู้สู้มะเร็ง




มะเร็งช่องปาก เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง เช็กสัญญาณอันตราย-วิธีป้องกัน ภาพจาก กรมการแพทย์

 


แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง