TNN online รู้จัก "มะเร็งลำไส้" ไม่ไกลตัว! หลังคร่าชีวิตผู้ว่าฯ หมูป่า

TNN ONLINE

Health

รู้จัก "มะเร็งลำไส้" ไม่ไกลตัว! หลังคร่าชีวิตผู้ว่าฯ หมูป่า

รู้จัก มะเร็งลำไส้ ไม่ไกลตัว! หลังคร่าชีวิตผู้ว่าฯ หมูป่า

รู้จัก "มะเร็งลำไส้" ไม่ไกลตัว! พบป่วยเฉลี่ยวันละ 44 คน หลังคร่าชีวิตผู้ว่าฯ หมูป่า

มีรายงานว่า นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้เสียชีวิตอย่างสงบแล้ว ในวัย 58 ปี หลังเข้ารักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งทางลำไส้ มาระยะหนึ่ง ที่โรงพยาบาลศิริราช.


ด้าน นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผอ.รพ.ศิริราช กล่าวว่า ขอแสดงความเสียกับครอบครัวและญาติของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โดย นายณรงค์ศักดิ์ ได้จากไปอย่างสงบ เมื่อเวลา 17.45 น. ของวันที่ 21 มิ.ย.หลังรับการรักษาตัวที่รพ.ศิริราชมาหลายสัปดาห์ ด้วยโรคมะเร็ง กำหนดพิธีฌาปนกิจหรือเคลื่อนศพนั้นต้องรอญาติเป็นผู้ชี้แจง



ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับสามในเพศชาย และอันดับสองในเพศหญิง (จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ) ที่น่ากังวลคืออัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ วันมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้เฉลี่ยวันละ 15 คน (ปีละ 5,476 คน) และมีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 44 คน (ปีละ 15,939 คน) 


ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมีสาเหตุการเกิดโรคที่หลากหลาย แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเนื้อแดง ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมูที่ผ่านการแปรรูป หรือปรุงด้วยความร้อนสูงเป็นเวลานานเช่นการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม และมีมันสูง รับประทานอาหารกากใยน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ นอกจากนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงยังเกิดในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากการมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง คนที่เคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่แบบอะดีโนมา หรือทำการรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง 



โดยทั่วไปโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดนี้ในช่วงอายุดังกล่าวจึงสามารถป้องกัน หรือช่วยให้ตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มต้นได้มาก ปัจจุบันตรวจคัดกรองด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Fecal Immunochemical Test: FIT) เป็นวิธีการตรวจที่สะดวก ง่ายและปลอดภัย ประชาชนอายุ 50-70 ปี สามารถรับอุปกรณ์และน้ำยาเก็บตัวอย่างได้ที่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปเก็บอุจจาระด้วยตนเองที่บ้าน แล้วนำส่งเจ้าหน้าที่เพื่อทำการวิเคราะห์ผล กรณีที่ได้รับผลผิดปกติผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัยต่อด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพิ่มเติม ส่วนในกลุ่มที่มีอาการผิดปกติ อาทิ ระบบขับถ่ายแปรปรวนเช่นท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีดเรื้อรัง ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม



การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงแบ่งการรักษาตามระยะการดำเนินโรค โดยในกลุ่มผู้ป่วยระยะเริ่มแรกนั้นสามารถทำการรักษาโดยการส่องกล้องทางเดินอาหารแบบตัดติ่งเนื้องอกแบบชิ้นเดียว ผู้ป่วยไม่มีแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง ในกรณีที่มีการลุกลามมากขึ้นบางกรณีสามารถรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็กเพื่อทำการตัดลำไส้ใหญ่ไส้ตรงและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และทำการตัดต่อลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและเป็นมาตรฐาน ผู้ป่วยบางรายสามารถหลีกเลี่ยงการมีช่องถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง (ทวารเทียม) ถาวรได้ รวมถึงการรักษาร่วมได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง นำก่อนผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสการหายของโรคและลดอัตราการกลับเป็นซ้ำได้ ทั้งนี้แม้ตัวโรคมีการลุกลามหรือแพร่กระจายไป การรักษาโดยการให้ยาเคมีร่วมกับยาเคมีพุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัดช่วยชะลอการดำเนินของโรค ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีระดับหนึ่งได้ในระยะเวลานั้น 



ที่มา : กรมการแพทย์

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง