กอนช.เผยข้อมูลภาคไหนของไทยเสี่ยง “ภัยแล้ง” มากที่สุดจากเอลนีโญ
กอนช.เผยข้อมูลสถานการณ์น้ำภาคไหนของไทยเสี่ยง “ภัยแล้ง” มากที่สุด จากสถานการณ์เอลนีโญ รณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด
วันนี้ ( 12 ก.ค. 66 )นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยผลการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำว่า แม้ปัจจุบัน ประเทศไทยจะเข้าสู่เข้าสู่สภาวะเอลนีโญแล้ว แต่บางพื้นที่ยังคงมีแนวโน้มของปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. จึงมีข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์อุทกภัย และสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง โดยได้กำชับให้ สทนช.บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ เร่งแก้ไขปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา กอนช.ได้ออกประกาศแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก อย่างต่อเนื่อง
นายสุรสีห์ บอกว่า นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างวันที่ 15-19 กรกฎาคมนี้ มีโอกาสที่ฝนตกจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน บริเวณชายขอบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่วนภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 24 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว
เนื่องจากในระยะนี้ มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในบางพื้นที่ แต่เป็นลักษณะของน้ำท่วมขังในระยะเวลาไม่นานนัก และจากการประเมินสถานการณ์ฝนเบื้องต้น คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนมากกว่าค่าปกติร้อยละ 3 ส่วนเดือนกันยายน คาดว่าจะมีปริมาณฝนจะกลับมาน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 8 เมื่อนำมาประกอบกับการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง โดยแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA พบว่า ในช่วงตอนกลางของประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มีความเสี่ยงในการเกิดความแห้งแล้งค่อนข้างมาก
ส่วนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย มี 4 แห่ง เป็น คือ เขื่อนสิริกิติ์ บึงบอระเพ็ด เขื่อนจุฬาภรณ์ และ เขื่อนปราณบุรี และยังมีแหล่งน้ำอื่นๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยเช่นกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรณรงค์ให้ประชาชนมีการใช้น้ำอย่างประหยัด รวมถึงต้องเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และบริหารจัดการน้ำและดูแลความปลอดภัยของเขื่อนอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนด้านท้ายน้ำ
ภาพจาก : AFP