TNN online สหรัฐฯ ทุ่ม 1.7 แสนล้านบาท ซื้อยาเม็ดต้านโควิด "แพกซ์โลวิด" ของไฟเซอร์

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

สหรัฐฯ ทุ่ม 1.7 แสนล้านบาท ซื้อยาเม็ดต้านโควิด "แพกซ์โลวิด" ของไฟเซอร์

สหรัฐฯ ทุ่ม 1.7 แสนล้านบาท ซื้อยาเม็ดต้านโควิด แพกซ์โลวิด ของไฟเซอร์

รัฐบาลสหรัฐฯ ตกลงซื้อยาเม็ดต้านโควิด-19 "แพกซ์โลวิด" ของไฟเซอร์ 10 ล้านคอร์ส มูลค่ามหาศาล 5,290 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 170,000 ล้านบาท ด้าน ไฟเซอร์พร้อมผลิตให้ทันที หากผ่านการอนุมัติการใช้ฉุกเฉินจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ

วันนี้ (19 พ.ย.64) ไฟเซอร์ (Pfizer) บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ แถลงในวันพฤหัสบดีว่า ทางบริษัทได้ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 5,290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 170,000 ล้านบาท กับรัฐบาลสหรัฐฯ ผลิตยาเม็ดป้องกันไวรัสโควิด-19 “แพกซ์โลวิด” 10 ล้านคอร์ส ซึ่งยาเม็ดตัวนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลอง

ขณะที่ สหรัฐฯเร่งที่จะรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยยากิน โดยข้อตกลงดังกล่าว มีขนาดประมาณ 2 เท่าของสัญญาที่รัฐบาลสหรัฐฯทำกับบริษัทเมอร์คก่อนหน้านี้ ราคายาของไฟเซอร์ จะถูกกว่าอยู่ที่ประมาณ 530 ดอลลาร์ต่อคอร์ส เมื่อเทียบกับประมาณ 700 ดอลลาร์ของเมอร์ค

ทั้งนี้ ไฟเซอร์ยื่นขออนุมัติการใช้ยาเม็ด “แพกซ์โลวิด” เป็นกรณีฉุกเฉินแล้วในสัปดาห์นี้ หลังรายงานข้อมูลพบว่า ตัวยามีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 89 ในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงเข้าโรงพยาบาล หรือการเสียชีวิตในประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง

ไฟเซอร์ ระบุว่า จะเริ่มจัดส่งยาเร็วที่สุดในปีนี้หากได้รับอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ หรือเอฟดีเอ (FDA)

ซาเวียร์ เบเซอร์รา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐ แถลงว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ชาวอเมริกันจะสามารถใช้ยานี้ได้หลายล้านโดสหากได้รับอนุมัติ เบเซอร์รา ระบุด้วยว่า การฉีดวัคซีนโควิดยังเป็นความสำคัญอันดับแรก แต่ยาเม็ดก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้ชีวิตมีความปลอดภัยมากขึ้น

ไฟเซอร์ แถลงว่า ทางบริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตยาเม็ดแพกซ์โลวิดได้ 180,000 คอร์สภายในสิ้นเดือนนี้ และอย่างน้อย 50 ล้านคอร์สภายในสิ้นปี 2022 ทั้งนี้ หลายประเทศต่างแย่งกันสั่งซื้อยาเม็ดจากทั้งไฟเซอร์และเมอร์ค บนพื้นฐานการรายงานของทั้งสองบริษัท

ขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งซื้อยาเม็ดต้านโควิดของเมอร์คไปแล้ว 3.1 ล้านคอร์ส เป็นเงิน 2,200 ล้านดอลลาร์ และยังได้สิทธิพิเศษสั่งซื้อเพิ่มได้อีก 2 ล้านคอร์สในอนาคต 


ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง