TNN online ไทยติดโผรับวัคซีนโควิดจากสหรัฐฯ จัดสรรผ่าน COVAX

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ไทยติดโผรับวัคซีนโควิดจากสหรัฐฯ จัดสรรผ่าน COVAX

ไทยติดโผรับวัคซีนโควิดจากสหรัฐฯ จัดสรรผ่าน COVAX

สหรัฐฯ ประกาศแผนบริจาควัคซีนโควิด "จอห์นสันฯ - โมเดอร์นา - ไฟเซอร์" ไทยติดโผด้วย โดยจะจัดสรรผ่านโครงการ COVAX

วันนี้( 4 มิ.ย.64) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เผยแผนแบ่งปัน วัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศต่างๆที่ขาดแคลน โดยประเดิมส่งออก 25 ล้านโดส และเพิ่มเป็น 80 ล้านโดสในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ในจำนวน 25 ล้านโดสแรก เกือบ 19 ล้านโดสจะบริจาคผ่านโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO 

ทั้งนี้ วัคซีนราว 7 ล้านโดส จะส่งไปในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา อัฟกานิสถาน มัลดีฟส์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย สปป.ลาว ปาปัวนิวกินี ไต้หวัน และหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งวัคซีนล็อตแรกจะเป็นวัคซีนจาก 3 ยี่ห้อที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในสหรัฐ ได้แก่ Johnson & Johnson, Moderna และ Pfizer

ด้านไต้หวันออกแถลงการณ์ขอบคุณการสนับสนุนด้านวัคซีนจากญี่ปุ่น  หลังรัฐบาลโตเกียวมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า จำนวนประมาณ 1.24 ล้านโดสฟรีให้แก่ไต้หวัน เพื่อตอกย้ำการเป็นพันธมิตรที่จริงใจต่อกันในยามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเผชิญกับวิกฤต ปัจจุบันไต้หวันส่วนใหญ่พบ การระบาดของโควิดจากเชื้อสายพันธุ์อังกฤษหรือAlpha (B.1.1.7) ซึ่งแพร่เชื้อได้มากกว่า 43-90% และจะไม่แสดงอาการ โดยวันนี้ยอดติดเชื้อรายใหม่ 474 ราย เสียชีวิต 21 ราย ยอดป่วยสะสมทะลุหมื่นรายแล้ว

ขณะที่อังกฤษแถลงผลการประเมินสถานการณ์ของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า หรือ B.1.617.2 (พบแคมป์คนงานไทย) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) ซึ่งระบาดในอังกฤษ พบว่า เชื้อกลายพันธุ์เดลต้ามีความรุนแรงในด้าน ได้แก่ 1.ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อเร็ว 2. ความสามารถในการหนีวัคซีนของไวรัส และ3.มีความรุนแรงของเชื้อ

ก่อนหน้านี้ ยังไม่ชัดว่าเชื้อตัวนี้มีการหนีของวัคซีน แต่ทีม UCL ของอังกฤษ มีการทดสอบใช้ไวรัสโควิด3ชนิด ได้แก่ แอลฟ่า B 1.1.7 /เบต้า B.1.351 และ เดลต้า B.1.617.2 ตัวจริงมาทดสอบกับซีรั่มของอาสาสมัครที่ได้วัคซีน 2 เข็มจาก Pfizer ที่อายุต่างๆกัน ข้อมูลที่แสดงออกมาพบว่า ไวรัสเดลต้า(สายพันธุ์อินเดีย)หนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดีกว่าไวรัสเบต้า(แอฟริกาใต้) เล็กน้อยด้วยซ้ำ (ประมาณ4.9 กับ 5.8 เท่า)  การศึกษานี้ยังชี้อีกว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ฉีดเข็มเดียว (  Pfizer ) มีความเสี่ยงจากถูกไวรัสหนีภูมิได้สูง

ส่วนสาธารณสุขของรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย แถลงว่า มีการตรวจพบลำดับพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตา” เป็นครั้งแรกในกลุ่มผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกล่าสุดในเมลเบิร์น เมืองเอกของรัฐวิกตอเรีย โดยโควิดสายพันธุ์ เดลตา ระบาดรุนแรงอยู่ในอินเดีย สร้างความเสียหายอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ และยังพบเห็นมากขึ้นในสหราชอาณาจักร ถือเป็นไวรัสที่สร้างความวิตกกังวลอย่างมาก แต่ตอนนี้ยังพบเพียงเล็กน้อยเพียง 2 คนเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดระลอกล่าสุดซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 65 คนตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม หลังจากไม่พบผู้ติดเชื้อมานานกว่า 3 เดือน

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง