TNN online เตือนอีกรอบ! ติดเชื้อโควิดไม่เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ กระทบต่อระบบทั่วร่างกาย

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

เตือนอีกรอบ! ติดเชื้อโควิดไม่เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ กระทบต่อระบบทั่วร่างกาย

เตือนอีกรอบ! ติดเชื้อโควิดไม่เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ กระทบต่อระบบทั่วร่างกาย

"หมอธีระ" เปิดข้อมูลการติดเชื้อโควิด-19 ไม่เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ โควิดส่งผลต่อระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย ไม่ใช่แค่ระบบทางเดินหายใจ

การติดเชื้อโควิด-19 ไม่เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ โควิดส่งผลต่อระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย ไม่ใช่แค่ระบบทางเดินหายใจ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 22 ตุลาคม 2565... เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 258,966 คน ตายเพิ่ม 802 คน รวมแล้วติดไป 632,312,113 คน เสียชีวิตรวม 6,580,813 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส ไต้หวัน อิตาลี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.44 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 79.92

...การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น

Dr. Soumya Swaminathan ซึ่งเป็น Chief scientist ขององค์การอนามัยโลก ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในงานประชุมประจำปีของเครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (The annual general meeting of the Developing Countries Vaccine Manufacturers Network) ที่เมือง Pune ประเทศอินเดีย

โดยได้กล่าวว่า Omicron ในปัจจุบันมีมากกว่า 300 สายพันธุ์ย่อย โดย XBB เป็นสายพันธุ์ย่อยที่หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มาก และมีแนวโน้มจะนำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ในประเทศต่างๆ ได้

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักเสมอว่า แม้การฉีดวัคซีนไปนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรงและการป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล แต่การติดเชื้อแต่ละครั้งจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ 

Dr.Soumya ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การที่มีหลายคนพยายามอ้างว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั่วไปนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะข้อมูลวิชาการแพทย์มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่า เชื้อโรคโควิด-19 จะส่งผลต่อระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย ไม่ใช่แค่ระบบทางเดินหายใจ อาทิ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบ การเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานกว่าสองเท่า รวมถึงผลต่อสมองและระบบประสาทได้

ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ เป็นเรื่องจำเป็น ที่ทุกคนควรตระหนักและปฏิบัติ

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก



ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง