TNN online โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ส่งสัญญาณพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ฉีดวัคซีน3เข็มก็ไม่รอด!

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ส่งสัญญาณพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ฉีดวัคซีน3เข็มก็ไม่รอด!

โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ส่งสัญญาณพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ฉีดวัคซีน3เข็มก็ไม่รอด!

หมอธีระวัฒน์ เตือนโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 ส่งสัญญาณพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ฉีดวัคซีนมากถึง 3 เข็มไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

วันนี้ (4 ก.ค.65) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงกรณีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ปรับมาตรการการเฝ้าไข้และงดเยี่ยมผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังสถานการณ์การของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้ เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นพ.ธีระวัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ในขณะนี้ไม่ใช่การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ BA.1 หรือ BA.2 แต่กำลังเป็นการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนมากถึง 3 เข็ม หรือผู้ที่เคยได้รับการติดเชื้อ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์ดังกล่าวได้ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลต้องเพิ่มมาตรการออกมาป้องกัน เพราะอาจจะส่งผลกระทบ ได้ทั้งกับผู้ป่วยและบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ซึ่งถ้าหากปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดในผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการทำให้เกิดอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น 

นอกจากนี้ ในส่วนของอาการที่พบในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้น พบว่า สามารถพบเห็นอาการของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวได้ชัดเจนมากกว่าพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 แต่สำหรับผู้ได้รับวัคซีน 3 เข็มเป็นต้นไปนั้น ถึงแม้จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ไม่ดีนัก แต่ก็ลดความรุนแรงของอาการลงได้

ส่วนสิ่งที่ทั่วโลกกำลังกังวลอยู่ในขณะนี้ คือในโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้น มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน และสามารถเพิ่มจำนวนได้มากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์เดิม ซึ่งด้วยการเปิดประเทศ รวมถึงการลดมาตรการป้องกัน ก็อาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้การติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อในครั้งนี้ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ , ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือผู้ที่เคยติดเชื้อ ก็สามารถกลับมาติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ได้อีกครั้ง และยังคงมีความอันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และในเด็กเล็ก 

อย่างไรก็ตาม มองว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในแต่ละวันของประเทศไทย ที่มีผู้ติดเชื้ออยู่หลักพันคน มองว่าอาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง ที่ทำให้ดูเหมือนน้อย เพราะถ้าหากเปรียบเทียบกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้าน หรือสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อรอบตัว ก็เชื่อว่าอาจจะไม่ต่างกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีผู้ติดเชื้ออยู่หลักหมื่นคนต่อวัน หรือจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอังกฤษ ที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทย ซึ่งก็พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นถึงหลักแสนคนแล้วในขณะนี้ ซึ่งในประเทศอังกฤษพบว่า ผู้ติดเชื้อที่แม้จะไม่ได้เข้าไปรักษาในห้อง ICU แต่ก็ทำให้มีจำนวนของผู้เข้ารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น แต่แม้จะมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ก็มองว่าการเดินหน้าของภาคเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญในขณะนี้ เพราะการออกมาตรการป้องกันที่เข้มงวดกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แม้จะมีผลดีในด้านการป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็อาจจะส่งผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจ จึงเสนอแนะว่า อาจจะต้องดูสถานการณ์ของบุคลากรในด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ว่าสถานการณ์ในขณะนั้น ยังสามารถรับมือได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากว่าสถานการณ์เริ่มกลับมาตึงมือของบุคลากรทางการแพทย์ ก็อาจจะต้องกลับมาทบทวนมาตรการป้องกันให้เพิ่มขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง



ภาพจาก TNN ONLINE 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง