TNN online เปรียบเทียบ “วัณโรค-โควิด” มีความแตกต่างกันอย่างไร

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

เปรียบเทียบ “วัณโรค-โควิด” มีความแตกต่างกันอย่างไร

เปรียบเทียบ “วัณโรค-โควิด” มีความแตกต่างกันอย่างไร

เปิดข้อมูล “วัณโรค-โควิด” เปรียบเทียบกันแล้วมีความแตกต่างกันอย่างไร แม้มีอาการป่วยแรกเริ่มเกือบจะใกล้เคียงกัน

วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส  วัณโรคสามารถเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย และบริเวณที่พบการติดเชื้อวัณโรคมากที่สุดก็คือปอด เชื้อวัณโรคติดต่อผ่านทางระบบหายใจ โดยการแพร่เชื้อด้วยการไอ จาม ละอองฝอยเสมหะที่ออกมาจากผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรคในปอด กระจายอยู่ในอากาศและตกลงสู่พื้น โดยผู้ที่สูดหายใจรับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้ 

นอกจากการติดเชื้อที่ปอดแล้ว เชื้ออาจจะกระจายไปส่วนอื่นๆของร่างกายได้ เช่น สมอง กระดูก ต่อมน้ำเหลือง ไต ผิวหนัง อาการของวัณโรคจะมีอาการดังนี้

1.ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ อาจมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน 

2.อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ผอมลง

3. เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก  

4.ไอแห้งหรือมีเสมหะปนเลือด หากพบว่ามีอาการไอติดต่อกันนานเกิน 2-3 สัปดาห์ 

ทั้งนี้ถ้าผู้ป่วยหรืออาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคหรือเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง เช่น เบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยการเอ็กซเรย์ดูความผิดปกติของปอด ตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อวัณโรค ซักประวัติ และตรวจร่างกาย

 นายแพทย์เอนก  กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์  ระบุว่าผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้โดยการรับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่งอย่างน้อย 4 ชนิด เป็นระยะเวลา 6 เดือน มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ระหว่างรับประทานยารักษาวัณโรค โดยการรักษาด้วยการใช้ยาสามารถมีอาการข้างเคียงได้บ้าง เช่น เป็นตับอักเสบ มีผื่นขึ้นตามตัว ผิวหนังเป็นรอยช้ำ ตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน สายตา ฝ้าฟาง มองไม่ชัดเจน หูอื้อ เดินเซเสียการทรงตัว หากเกิดปัญหาจากการใช้ยาอย่าพึ่งหยุดยา  หรือควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรับการใช้ยา หรือปรับชนิดของยาเพื่อการใช้ยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม             

สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษาหรือพึ่งเริ่มรับประทานยาได้ 2 สัปดาห์ ควรแยกห้องนอน หลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาไอ จาม บริเวณที่อยู่อาศัยควรเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง ไม่บ้วนเสมหะ หรือน้ำลายลงพื้น รับประทานยาให้ครบทุกเม็ดทุกมื้อตามแผนการรักษาของแพทย์ และถ้าหากมีอาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ทันที 

สำหรับวัณโรคกับโรคโควิด-19มีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้

เชื้อก่อโรค 

วัณโรค :    เชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis  (M.Mycobacterium)

โควิด-19 : เชื้อไวรัส severe acute respiratory syndrome coronavirus 2  (SARS-Cov-2)

วิธีการแพร่กระจายเชื้อ

วัณโรค :    ติดต่อผ่านทางอากาศ

โควิด-19 : ติดต่อผ่านละอองฝอย หรือ ผ่านการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่ง 

ความสามารถในการติดต่อ

วัณโรค :    ผู้ป่วยวัณโรค 1 คน สามารถแพร่เชื้อได้ 10 คน 

โควิด-19 : ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 1 คน สามารถแพร่เชื้อได้ 2.2 คน

การดำเนินโรค

วัณโรค :    ส่วนใหญ่วัณโรคจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อนาน ผู้ติดเชื้อ 10% จะเป็นวัณโรค (5% จะป่วยในช่วง 2 ปีแรก และอีก5% จะป่วยหลังจากนั้น )

โควิด-19 : ผู้ป่วยมักแสดงอาหารใน 1-2 สัปดาห์หลักจากได้รับเชื้อ

อาการ

วัณโรค :   ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ เสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก มีไข้ เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน น้ำหนักลด 

โควิด-19 : มีไข้, ไอ มักเป็นไอแห้งๆในระยะแรก เจ็บคอ หายใจหอบ

การวินิจฉัย

วัณโรค :    ตรวจเสมหะ ส่งสิ่งตรวจอื่นๆขึ้นกับอวัยวะที่มีรอยโรค

โควิด-19 : การป้ายสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก หรือคอหอยหลังช่องปาก

การป้องกัน

วัณโรค :  มีการรักษาการติดเชื้อวัณโรค ระยะแฝงในผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค

โควิด-19 : ยังไม่มียาป้องกัน

การรักษา

วัณโรค :    มีสูตรยามาตรฐาน ในการรักษาวัณโรค 

โควิด-19 : ยังไม่มีสูตรยามาตรฐาน ยายังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย

วัคซีน

วัณโรค :   วัคซีนบีซีจีซึ่งการฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกเกิดช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นวัณโรค แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่ได้

โควิด-19 : อยู่ระหว่างการพัฒนาและเร่มมีการใช้ในกลุ่มเสี่ยงบางประเทศ 

เปรียบเทียบ “วัณโรค-โควิด” มีความแตกต่างกันอย่างไร


ข้อมูลจาก :  กรมควบคุมโรค

ภาพจาก : AFP

ข่าวแนะนำ