TNN online โควิดสายพันธุ์ลูกผสม "เดลต้าครอน" ไม่มีจริง แค่ปนเปื้อนสารพันธุกรรม

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

โควิดสายพันธุ์ลูกผสม "เดลต้าครอน" ไม่มีจริง แค่ปนเปื้อนสารพันธุกรรม

โควิดสายพันธุ์ลูกผสม เดลต้าครอน ไม่มีจริง แค่ปนเปื้อนสารพันธุกรรม

ปิดฉากดรามาระดับโลก ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ เผย GISAID หน่วยงานกลางระดับโลก ที่ตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของไวรัส พบว่า เป็นการปนเปื้อนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการวิเคราะห์สารพันธุกรรม

วันนี้ (19 ม.ค.65) ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความยืนยันความชัดเจน กรณีประเทศไซปรัสพบการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ลูกผสม ระหว่าง "เดลตา" กับ "โอไมครอน" โดยใช้ชื่อว่า "เดลตาครอน"

โดยระบุว่า จากกรณีนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยไซปรัส ได้ออกข่าวไปทั่วโลก ผ่านสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่งว่า ได้พบไวรัสก่อโรค "โควิดสายพันธุ์ใหม่" ล่าสุด และตั้งชื่อเรียบร้อยด้วยว่า "เดลตาครอน" (Deltacron) เพราะเชื่อว่าเป็นการผสมพันธุ์กันระหว่างไวรัสเดลตากับไวรัส "โอไมครอน"

ต่อมาสื่อของประเทศไทยบางแห่ง ก็ได้นำเสนอข่าวดังกล่าวด้วยเช่นกันทำให้เกิดเป็นประเด็นของความตื่นเต้นไปทั่วว่า มีไวรัสตัวใหม่เกิดขึ้น ขณะนี้มีความชัดเจนเรียบร้อยแล้ว 

GISAID หน่วยงานกลางระดับโลก ที่มีหน้าที่ทางวิชาการในการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิดมาตลอดสองปี โดยจะมีหน่วยงานของประเทศต่าง ๆ ส่งรหัสพันธุกรรมของไวรัสไปให้ GISAID ตรวจสอบ และทำการจัดหมวดหมู่ ก่อนจะประกาศรับรองต่อไป

สรุปได้ความถึงขณะนี้ว่า GISAID ได้ถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสจากไซปรัส 24 ตัวอย่าง ที่ได้ส่งมาให้ทำการตรวจสอบ ออกจากฐานข้อมูลแล้ว เนื่องจากพบว่า ตัวอย่างไวรัสดังกล่าว มีรหัสเกือบทั้งหมดเป็นของไวรัส "สายพันธุ์เดลตา" 

และมีเพียง 2 ตำแหน่งใน 30,000 ตำแหน่งที่เป็นของ "โอไมครอน" คือ A67V และ 69-70 Del ในสองตำแหน่งที่เป็นของ "โอไมครอน" นั้น จะพบเหมือนกันในทั้ง 24 ตัวอย่าง โดยที่รหัสพันธุกรรมของเดลตาในแต่ละตัวอย่าง มีความแตกต่างกันอยู่ ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว

ผู้เขียนเห็นว่า การตรวจสอบขององค์กรระหว่างประเทศคือ GISAID นั้นถูกต้องแล้ว คือไม่มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หากแต่เป็นไวรัสสายพันธุ์เดลตาเดิมนั่นเอง จึงไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ตั้งชื่อว่า Deltacron และค่อนข้างชัดเจนว่า น่าจะเป็นการปนเปื้อนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการวิเคราะห์สารพันธุกรรม 

โดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก และนักไวรัสวิทยาชาวอังกฤษ ก็ได้ออกมาให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เกิดการปนเปื้อนในขั้นตอนบางขั้นตอน เช่น น้ำยาถอดรหัสพันธุกรรม เป็นต้น เป็นอันจบเรื่องไวรัสสายพันธุ์ Deltacron ดรามาระดับโลกโดยสมบูรณ์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ลีออนดิออส คอสติคิส ศาตราจารย์ด้านชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งไซปรัส (University of Cyprus) หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาแถลงว่า พบโควิดสายพันธุ์ใหม่เรียกว่า "เดลตาครอน" มีภูมิหลังทางพันธุกรรมของสายพันธุ์เดลตาพร้อม ๆ กับการกลายพันธุ์บางลักษณะแบบเดียวกับสายพันธุ์ "โอไมครอน" จึงเรียกไวรัสสายพันธุ์ที่ค้นพบใหม่นี้ว่า "เดลตาครอน" โดยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 25 ราย

แต่หน่วยงานต่าง ๆ ยังคงไม่เชื่อว่า เป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่ชื่อว่า "เดลตาครอน" จริง แต่อาจเป็นการปนเปื้อนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการวิเคราะห์สารพันธุกรรม

ข้อมูลจาก ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง