TNN จีนสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านงานเทศกาลน้ำแข็ง (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

จีนสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านงานเทศกาลน้ำแข็ง (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านงานเทศกาลน้ำแข็ง (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านงานเทศกาลน้ำแข็ง (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

เราคุยกันต่อเลยครับ ... กระแสความนิยมที่ “แรงสุดๆ” ทำให้มีผู้คนหลั่งไหลไปเที่ยว “เมืองน้ำแข็ง” ที่ฮาร์บินในช่วงการเปิดงานอย่างไม่เป็นทางการมากเกินความคาดหมายมาก จนทำเอาหลายสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดว่าจัดเตรียมไว้เป็นอย่างดีแล้ว กลับไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนเกิด “ความชุลมุน” ในช่วงแรก


แต่หากมองในแง่บวก “ความวุ่นวาย” ดังกล่าว ก็ทำให้ผู้จัดงานมีเวลา “ปรับแผน” และ “ระดมสรรพกำลัง” อื่นมาเสริมเพื่อเตรียมรับมือกองทัพนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ “ล้นทะลัก” ในช่วงเปิดงานจริงได้


นอกจากเหตุผลที่ชาวจีนและผู้ที่ชื่นชอบอากาศเย็นยะเยือก “อั้น” ไม่ได้ไปเที่ยว “เมืองน้ำแข็ง” อันเนื่องจากวิกฤติโควิดมานานหลายปี และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาลจีนในช่วงหลังแล้ว “เมืองน้ําแข็ง” ที่ฮาร์บินในปีนี้ยังเต็มไปด้วยสีสันอย่างที่ผมเล่าไปเมื่อตอนก่อน


ยิ่งภายหลังการกล่าวคำอวยพรปีใหม่ของ สี จิ้นผิง ที่เน้นย้ำนโยบายการสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับ “อีสานจีน” ก็ดูเหมือนชาวจีนจะสนองตอบต่อนโยบายของผู้น้ำจีนเป็นอย่างดียิ่ง


จีนสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านงานเทศกาลน้ำแข็ง (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก AFP

 


ชาวจีนจำนวนมากแสดงถึงความกล้าหาญ ไม่กริ่งเกรงความหนาวเหน็บ และต่างหลั่งไหลไปเยี่ยมชมงานเทศกาลดังกล่าวมากเป็นประวัติการณ์


โดยในช่วงหยุดยาววันขึ้นปีใหม่ 3 วันมีนักท่องเที่ยวกว่า 6.6 ล้านคนไปเยือนฮาร์บิน เกือบ 3 เท่าของปีก่อน และมากกว่าจํานวนนักท่องเที่ยวยุคก่อนโควิดในปี 2019 เสียด้วยซ้ำ สร้างรายได้การท่องเที่ยวเกือบ 7,000 ล้านหยวน เกือบ 5 เท่าของปีที่แล้ว


อุปสงค์ที่พักและการจัดเลี้ยงภายในเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับของปี 2019 เฉพาะโลกน้ําแข็งและหิมะก็มีผู้เข้าเยี่ยมชมถึง 163,200 คนในช่วงวันหยุดปีใหม่ มากกว่าปีที่แล้วเกือบ 40% สร้างรายได้กว่า 46 ล้านหยวน สูงกว่าปีที่แล้วเกือบ 6 เท่าตัว


ความสำเร็จของการจัดงานที่เกิดขึ้นในปีนี้ต้องยกเครดิตให้กับหลายภาคส่วน จนกลายเป็น “ต้นแบบ” ที่หลายหัวเมืองในจีน และแม้กระทั่งไทยเราควรเรียนรู้และรับมาประยุกต์ใช้เป็นอย่างยิ่ง


นอกจากการเตรียมงานเป็นอย่างดีแล้ว รัฐบาลฮาร์บินยังพยายามกระตุ้นและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ อาทิ การประกาศให้วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเปิดงานอย่างเป็นทางการ เป็นวันหยุดงานพิเศษ “Ice and Snow Holiday” สำหรับคนท้องถิ่น ทำให้กลายเป็นวันหยุดยาวอีกช่วงหนึ่ง และลดปัญหาการจราจรในพื้นที่


ขณะเดียวกัน อิทธิพลของโลกอินเตอร์เน็ตในจีนก็นับว่าทรงพลังอย่างมาก เฉพาะภาพวิดีโอของนักท่องเที่ยวสวมหมวกและใส่ถุงมือเต้นรํากับดนตรีในฮาร์บินที่โพสต์โดย China Media Group ก็ดึงดูดผู้ชมเกือบ 100 ล้านครั้งบนเวยปั๋ว (Weibo)


ยิ่งคนที่ไปสัมผัสบรรยากาศของเทศกาลแชร์ภาพและเรื่องราวความประทับใจผ่านโลกอินเตอร์เน็ตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ชาวจีนจำนวนมากให้ความสนใจและตัดสินใจไปเยือนฮาร์บินกันมากขึ้น จนนำไปสู่เรื่องเล่าที่ “อบอุ่นใจ” และ “สนุกสนาน” มากมายตามมา


ชาวเน็ตหลายคนยกย่องว่ากระแสความนิยมด้านการท่องเที่ยวของฮาร์บินเป็นดั่ง “ปาฏิหาริย์” บางคนเอ่ยว่า “ฮาร์บินไม่ได้เป็นเพียงจุดหมายปลายทางของการเดินทางเท่านั้น แต่ยังเป็นรูปแบบใหม่ที่สะท้อนถึงความเป็นน้ําหนึ่งใจเดียวกันของชาติ”


จีนสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านงานเทศกาลน้ำแข็ง (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


โดยที่ชาวฮาร์บินต้องการแสดงถึงความเป็น "พี่ใหญ่" ที่มีการต้อนรับที่ดี ความจริงใจ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ผ่านความร่วมมืออันดียิ่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน


นอกเหนือจากการนำเสนอด้านการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ของเมืองแล้ว การตอบสนองที่รวดเร็วและรอบคอบของรัฐบาลท้องถิ่น และการมอบความอบอุ่นใจของคนท้องถิ่นแก่นักท่องเที่ยวยังช่วยขยาย “กระแส” ความนิยมเป็นอย่างมาก


ประการสำคัญ คนท้องถิ่นยังร่วมใจกันให้ขายสินค้าและบริการแก่นักท่องเที่ยวแบบ “ไม่เอาเปรียบ” ด้วยราคาที่เป็นธรรมอย่างพร้อมเพียง


โรงแรม ร้านอาหารและภัตตาคาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งร้านจำหน่ายของที่ระลึกน้อยใหญ่ต่างร่วมแรงร่วมใจกันจำหน่ายสินค้าในราคาปกติ หรือที่สูงกว่าราคาปกติเพียงเล็กน้อย แต่ต้องไม่สูงกว่าระดับราคาที่ตกลงกัน


และมีเรื่องเล่าว่า ร้านอาหารหนึ่งที่เผลอขยับราคา “หมูหมัก” อาหารจานโปรดของฮาร์บินไป 10 หยวน ถูกคนท้องถิ่นจำนวนมากถล่มยับภายหลังใบเสร็จค่าอาหารถูกนำไปโพสต์ในโลกโซเชียลไม่นาน


นอกจากนี้ ตัวอย่างสินค้าท้องถิ่นที่ผ่านการคัดสรรเป็นพิเศษยังถูกมอบแก่นักท่องเที่ยวเสมือนเป็นของที่ระลึกจากท้องถิ่น เช่น ข้าวอู่ชาง (Wuchang Rice) ซึ่งถือเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indicators) ของเมืองอู่ชาง ทางตอนใต้ของมณฑลเฮยหลงเจียง


เท่านั้นไม่พอ ครั้นพอนักท่องเที่ยวไปเยือนฮาร์บินอย่างล้นหลาม บริการขนส่งสาธารณะและรถแท๊กซี่ ทั้งที่เรียกผ่านแอพและเข้าคิวตามสนามบิน สถานีรถไฟความเร็วสูง และสถานที่ท่องเที่ยวก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นักท่องเที่ยวต้องยืนรอนานนับชั่วโมงท่ามกลางสภาพอากาศยามค่ำคืนที่ติดลบ 30 องศาเซลเซียส


พอข่าวนักท่องเที่ยวประสบปัญหาการเดินทางแพร่กระจายออกไป คนท้องถิ่นจำนวนมากก็พร้อมใจกันเอารถส่วนตัวออกมาส่งนักท่องเที่ยวต่างแดน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แถมยังเอาบัตรประชาชนออกมาแสดงจนเพื่อลดความกังวลใจแก่นักท่องเที่ยวว่าไม่ใช่มิจฉาชีพอีกด้วย


จีนสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านงานเทศกาลน้ำแข็ง (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


สิ่งนี้แสดงถึงความเป็นเจ้าบ้านที่ดี และมุ่งหวังประโยชน์ร่วมในระยะยาว เพราะความประทับใจดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวต่างโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ชาวจีนต่างชื่นชม รู้สึกอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูกจนอยากไปเยือนดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้


จึงไม่ต้องแปลกใจที่ท่านได้ยินข่าวผู้คนทั้งชาวจีนและต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศใกล้เคียง ไปเยือนฮาร์บินอย่างมากมายในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา


จนมีเรื่องตลกเล่ากันว่า ขณะที่คนจีนต่างโพสต์รูปภาพนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลไปเยือนฮาร์บินในสื่อสังคมออนไลน์ ก็มีชาวจีนคนหนึ่งเข้ามาโพสต์รูปภาพชายหาดของเมืองซานย่า มณฑลไฮ่หนาน ดินแดนใต้สุดของจีน ที่ไร้ผู้คนพร้อมกับคอมเม้นต์ว่า “ผมรู้แล้วว่า นักท่องเที่ยวไปไหนกันหมด”


ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่กลับจากการเยือนฮาร์บินในปีนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “จะกลับไปเที่ยวอีกในปีหน้า” ขณะที่คนที่คาดว่าจะพลาดโอกาสการไปเที่ยวในปีนี้ก็วางแผน “จะไปเยือนในปีหน้า”


จีนสร้างต้นแบบการท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านงานเทศกาลน้ำแข็ง (ตอน 2) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


ในด้านหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเมืองอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และด้วยเหตุนี้จึงมีความสําคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคและทั้งประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค


แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความสำเร็จที่รอบด้านดังกล่าวก็เกิด “ควันหลง” เพราะได้กลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของหลายมณฑลที่จะต้องจัดงานใหญ่ในพื้นที่ต่อไปในอนาคต ...



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง