TNN หางโจวในความทรงจำ ความงดงามที่ต้องไปสัมผัส โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

หางโจวในความทรงจำ ความงดงามที่ต้องไปสัมผัส โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

หางโจวในความทรงจำ ความงดงามที่ต้องไปสัมผัส โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

หางโจวในความทรงจำ ความงดงามที่ต้องไปสัมผัส โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

จบลงไปแล้วสำหรับหางโจวในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 และพาราเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 4 ผมเลยได้มีโอกาสไปส่องเมืองที่งดงามนี้ต่างกรรมต่างวาะในช่วง 2-3 เดือนหลัง และอยากนำเอาความประทับใจในความเจริญของหางโจวมาเล่าสู่กันฟังครับ ...


นครหางโจว เมือเอกของมณฑลเจ้อเจียง นับว่ามีความโดดเด่นในหลายด้าน นอกจากประวัติศาสตร์และธรรมชาติที่งดงามยิ่งแล้ว เมืองแห่งนี้ยังมีภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการคุณภาพสูงอย่างครบครัน


ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หังโจวเติบโตเร็วมากในทางเศรษฐกิจจนถูกจัดชั้นเป็นเมืองระดับหนึ่งที่มีศักยภาพ และกำลังขยายตัวอย่างกว้างขวาง จนมีเรื่องตลกเล่ากันในหมู่คนท้องถิ่นว่า “เรามีบ้านอยู่หังโจว ซึ่งอยู่ตีนภูเขาหวงซาน” แต่อันที่จริงแล้ว หังโจวและหวงซานอยู่ห่างกันหลายร้อยกิโลเมตร


แต่จุดแรกเลยที่ผมอยากจะพาไปส่องก็คือ “ท่าอากาศยานนานาชาติหางโจวเสี่ยวซาน” (Hangzhou Xiaoshan International Airport) ซึ่งเป็นสนามบินพลเรือนแห่งเดียวในเมืองหางโจว จัดอยู่ในอันดับที่ 2 ในภูมิภาคตะวันออกของจีน

หางโจวในความทรงจำ ความงดงามที่ต้องไปสัมผัส โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 


สนามบินแห่งนี้ถือเป็นท่าอากาศยานหลักที่ให้บริการผู้โดยสารในนครหางโจวและเมืองใกล้เคียงในมณฑลเจ้อเจียง รวมทั้งหัวเมืองในย่านสามเหลี่ยมปากแม่น้ําแยงซี โดยตั้งอยู่บนชายฝั่งทางใต้ของแม่น้ําเฉียวถัง (Qiantang) ในเขตเสี่ยวซาน (Xiaoshan) ห่างจากตัวเมืองหางโจวไปทางตะวันออกราว 27 กิโลเมตร


ปัจจุบัน สนามบินแห่งนี้มีอาคารผู้โดยสาร 4 ส่วนเพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศและต่างประเทศ โดยอาคาร T4 ซึ่งอยู่ในระยะที่ 3 ของโครงการโดยรวม ได้เปิดให้บริการเมื่อเดือนกันยายน 2022


อาคารผู้โดยสาร T4 มีทั้งสิ้น 7 ชั้น แยกเป็น 5 ชั้นเหนือพื้นดินและอีก 2 ชั้นใต้ดิน รวมเป็น 720,000 ตารางเมตร ขนาดพื้นที่คิดเป็น 2 เท่าของอาคาร T1, T2 และ T3 รวมกัน ทำให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคนเป็นถึง 90 ล้านคนต่อปี


สนามบินแห่งนี้ให้บริการกว่า 40 สายการบินเชื่อมโยงกับจุดหมายปลายทางรวมมากกว่า 130 แห่ง จำแนกเป็นหัวเมืองในจีนกว่า 100 แห่ง และจุดหมายปลายทางระหว่างประเทศอีกราว 30 แห่ง โดยมีจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง อาทิ ปักกิ่ง โตเกียว โซล กรุงเทพฯ อัมสเตอร์ดัม และลอสแองเจลิส


นอกจากนี้ หางโจวยังดําเนินนโยบายการเปลี่ยนเครื่องแบบปลอดวีซ่า 144 ชั่วโมงสําหรับผู้โดยสารต่างชาติจาก 53 ประเทศ/ภูมิภาค ซึ่งหมายความว่า ผู้โดยสารที่ผ่านการรับรองสามารถเข้าตัวเมืองและเมืองใกล้เคียงบางแห่งจากสนามบินได้นานถึง 144 ชั่วโมงโดยไม่ต้องขอวีซ่าจีน


สนามบินแห่งนี้ออกแบบโดยบริษัทเอดาส (Aedas) เป็นรูปดอกบัว ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำของหางโจว ภายในตกแต่งอย่างงดงาม สูงโปร่ง และเพียบพร้อมด้วยโครงข่ายการขนส่งและสื่อสาร


ตอนผมเดินทางไปเป็นช่วงที่หวงโจวเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ ภายในอาคารผู้โดยสารจึงถูกห่อหุ้มด้วยสติ๊กเกอร์โปรโมทเอเชี่ยนเกมส์ที่เต็มไปด้วยสีสันที่สะดุดตาหลากหลายรูปแบบ


หากผ่านไปใช้บริการสนามบินแห่งนี้ ท่านสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสนามบินและย่านใจกลางเมืองด้วยรถยนต์ส่วนตัว แท็กซี่ และรถไฟใต้ดิน

หางโจวในความทรงจำ ความงดงามที่ต้องไปสัมผัส โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 

ขณะเดียวกัน สนามบินแห่งนี้ยังมีห้องรับรองวีไอพี บริการฟรีไวไฟ ตู้เอทีเอ็ม บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา ร้านค้าปลอดภาษี ร้านอาหารและเครื่องดื่ม จุดรับฝากสัมภาระและตู้เก็บของ บริการห่อกระเป๋า บริการทางการแพทย์ และบริการนวดฝ่าเท้าและสปา รวมทั้งพื้นที่สูบบุหรี่ที่กั้นอย่างเป็นสัดส่วน เฉกเช่นเดียวกับสนามบินชั้นนำของโลก


นอกจากนี้ ผมยังสังเกตเห็นพื้นที่เล่นสําหรับเด็ก ซึ่งไม่ค่อยเห็นเวลาเดินทางผ่านสนามบินที่ไหน ขณะที่รถเข็นกระเป๋าเดินทางก็นุ่ม เบาสบาบ และไม่มีเสียงรบกวนเลย


นอกจากบริการแก่ผู้โดยสารแล้ว สนามบินแห่งนี้ยังมีบริการขนส่งสินค้าแบบเต็มรูปแบบ โดยให้บริการ “หางโจว-บิลลันด์” (ประเทศเดนมาร์ก) เป็นสายแรกในปี 2023 และขยายเส้นทางอื่นในเวลาต่อมา


และที่ผมชอบมากก็ได้แก่ การมีพื้นที่บริการสำหรับการเรียกรถออนไล/น์ (Online Car Hailing) เป็นการเฉพาะ ซึ่งช่องทางเดินจากตัวอาคารผู้โดยสารก็ตกแต่งด้วยสีม่วงเรืองแสงราวกับเดินเข้าดิสโก้เทค ทำให้เรารู้สึกได้ว่ากำลังเดินไปพื้นที่พิเศษ


ระหว่างทางที่เดินไปถึงพื้นที่รอรถ ก็มีป้ายบอกทางเดินไปยังจุดรับ K1-K2-K3-K4 และเมื่อถึงจุดรับรถ ก็มีพื้นที่พิเศษที่ออกแบบเป็นจุดนั่งพักที่มีโต๊ะและเก้าอี้โทนสีเขียว รวมทั้งยังตกแต่งด้วยต้นไม้ใบหญ้า ทำให้ดูร่มรื่นและสบายตาอย่างมาก


ผมเดินทางออกจากสนามบินไม่ไกล ก็เชื่อมเข้าสู่ทางด่วนที่มีฝั่งละ 4 ช่องทาง สองข้างทางมีอาคารสูงที่ติดสติ๊กเกอร์โปรโมทกีฬาเอเชี่ยนเกมส์เป็นระยะ (ทั่วเมือง) ขณะที่ห่างไปไม่ไกลก็สังเกตเห็นบ้านเรือนของชาวนาชาวไร่ที่ถูกปรับปรุงใหม่ และเทือกสวนไร่นาและแปลงผักและดอกไม้สลับกันไป


ระหว่างที่ใช้เวลาในหางโจว ผมสังเกตเห็นรถไฟฟ้าที่ออกมาวิ่งตามท้องถนนเยอะมาก ผมประเมินว่า รถไฟฟ้าที่สังเกตได้จากการใช้ป้ายทะเบียนเขียวขาวมีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 30% ของรถยนต์โดยรวมในปัจจุบัน


ทั้งนี้ ในช่วงที่หางโจวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์และพาราเอเชี่ยนเกมส์นั้น รัฐบาลได้พยายามควบคุมจำนวนรถยนต์บนท้องถนนเพื่อลดปัญหาการจราจร โดยกำหนดให้รถที่มีหมายเลขป้ายทะเบียนเลขคู่-เลขคี่ออกมาวิ่งบนท้องถนนตามวันที่ได้เท่านั้น หรือเท่ากับลดจำนวนรถยนต์ 50% ของทั้งหมด


ขณะเดียวกัน การเดินทางภายในเมืองก็มีรถไฟใต้ดินให้บริการอยู่ถึง 13 สายที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และปัจจุบันก็ยังขยายโครงข่ายกระจายไปยังเมืองใกล้เคียง ทำให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเดินทางระหว่างภายในและระหว่างเมืองได้ด้วยความสะดวกและประหยัดเงินและเวลา


อีกเรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมากก็คือ ตลอดเส้นทางจากสนามบินเข้าไปยังตัวเมือง ก็เต็มไปด้วยดอกไม้บานสีสันสดใสริมสองข้างทาง ดูแล้วสบายตาเป็นอย่างยิ่ง


ผมยังโชคดีที่ไปหางโจวช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงที่ดอกกุ้ยฮัว (Gui Hua) หรือที่บ้านเราเรียกว่า “ดอกหอมหมื่นลี้” กำลังบาน ทำให้มีกลิ่นหอมคละคลุ้งไปทั่วเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบซีหู (Xi Hu) ทะเลสาบที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของจีน


ท่านผู้อ่านที่ชอบบรรยากาศแบบชิลล์ๆ และร่มรื่น ก็ควรจัดเวลาไปนั่งจิบชาที่ไร่ชากันครับ ช่วงที่ไปหางโจวเมื่อคราวก่อน ผมสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวจากนอกพื้นที่จำนวนมากนิยมแวะเวียนไปพื้นที่ปลูกชา ซึ่งอยู่บนเนินเขา ยอมใช้เงิน 40-80 หยวนต่อคนเลือกซื้อชาคุณภาพที่ต้องการพร้อมกระติกน้ำร้อนที่ดื่มได้ไม่อั้น

หางโจวในความทรงจำ ความงดงามที่ต้องไปสัมผัส โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร ภาพจาก รอยเตอร์

 

ขณะที่คนท้องถิ่นต่างดำรงวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายในบ้านไม้ที่ตกแต่งด้วยรูปภาพ บทกวี และต้นไม้ขนาดเล็กที่ทรงคุณค่า คนเหล่านี้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ นั่งเพลินเพลินอยู่กับเก้าอี้ไม้ไผ่ตัวน้อยหน้าบ้าน บางคนยังอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำสะอาดที่ไหลผ่านหน้าบ้านเลี้ยงปลาเอาไว้


ประการสำคัญ คนเหล่านี้ไม่อยากละทิ้งถิ่นฐาน เพราะมีรายได้และทรัพย์สินที่ยั่งยืนจนผมเองก็แอบอิจฉากับความสุขของคนในพื้นที่ สำหรับคนเหล่านี้ ใบชาก็เปรียบเสมือน “ทองคำ” ที่มีราคาเพิ่มขึ้น ยิ่งรัฐบาลจีนโปรโมทธุรกิจชา ความเป็นท้องถิ่นกลับไต่สู่ระดับโลก ผมนึกต่อถึงโครงการ “ชุมชนนวัตวิถี” ที่รอการปรุงแต่งสู่ระดับสากล


อีกเรื่องหนึ่งที่ผมแวะไปส่องมาก็คือ “หุ่นยนต์เก็บใบชา” พลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นเสน่ห์ด้านเทคโนโลยีดิจิตัลของหางโจว แต่ผมก็ไม่รู้ว่า หุ่นยนต์เก็บใบชาจะทำให้เสน่ห์ของเรื่องราวที่ไกด์ทัวร์เล่าให้ลูกค้าฟังว่า ไร่ชานิยมใช้เด็กสาวพรหมจรรย์เด็ดใบชาในยามเช้าตรู่ ด้อยค่าลงไปหรือไม่ อย่างไร


จากนี้ไป นครหางโจวที่งดงามแห่งนี้จะเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่อีกหลายครั้ง และผมหวังว่า หางโจวจะได้มีโอกาสต้อนรับท่านในอนาคตอันใกล้ ...




ภาพจาก รอยเตอร์


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง