TNN รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน


ท่านผู้อ่านคงได้มีโอกาสไปทดลองใช้บริการรถไฟความเร็วสูงในจีนมาแล้วบ้าง แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมมีโอกาสไปใช้บริการพิเศษ“ตู้โดยสายเงียบ” (Quiet Carriage) เลยอยากเอามาแลกเปลี่ยนกันครับ ...


ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่คนไทยที่ไปท่องเที่ยวในจีนมักพูดถึง ก็คือ ระดับเสียงการพูดคุยในพื้นที่สาธารณะของคนจีนที่ดังกว่าของไทย หรืออาจมีอาการ “หูดับ” ชั่วขณะหลังฟังคนจีนพูดคุยกันทางโทรศัพท์ในลิฟท์


ในขบวนรถไฟความเร็วสูง เราก็อาจรำคาญที่ผู้โดยสารข้างเคียงท่องโลกออนไลน์หรือเพลิดเพลินกับความบันเทิงผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลด้วยเสียงอันดัง รวมไปถึงเสียงอีกทึกของเด็กวัยรุ่นชนิดว่า หลายคนอาจสะดุ้งตื่นหากกำลังงีบพักผ่อนอยู่


ผลการวิจัยในจีนพบว่า ผู้คนเบื่อหน่ายมากขึ้นกับประสบการณ์การเดินทางที่มีเสียงดัง ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากกระแสความนิยมของสมาร์ทโฟน และพฤติกรรมทางสังคมของคนจีน ทำให้ต่างมองหาการเดินทางที่ปราศจากความวุ่นวาย ส่งผลให้การรถไฟจีนพยายามเปิดบริการที่ตอบโจทย์ดังกล่าว 


ข้อมูลของการรถไฟจีนระบุว่า รถไฟความเร็วสูงของจีนเริ่ม “นำร่อง” บริการ “โบกี้สบายหู” มาตั้งแต่ปี 2020 โดยทดลองใช้ใน12 ขบวน ซึ่งส่วนหนึ่งเพื่อยกระดับบริการรูปแบบใหม่ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการใช้เสียงในพื้นที่สาธารณะ  


รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก reuters



ผู้โดยสารท่านใดที่ใช้บริการนี้สามารถสังเกตและรู้สึกถึงความสงบเรียบร้อยภายในห้องโดยสาร การเคารพสิทธิของผู้อื่น และการสร้างสภาพแวดล้อมการเดินทางที่มีอารยะได้ไม่มากก็น้อย


ขณะเดียวกัน ผมยังมองว่า ช่วงที่รถไฟฯ จีนนำร่องบริการนี้ก็เป็นจังหวะที่หลายหัวเมืองในจีนกำลังเผชิญวิกฤติโควิด ทางการจีนอาจต้องการใช้บริการนี้เพื่อลดการพูดคุยระหว่างผู้โดยสารที่นั่งใกล้ชิดกัน และหวังผลด้านการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิดก็เป็นได้


แน่นอนว่า ชาวจีนและชาวต่างชาติคงมีโอกาสใช้บริการนำร่องค่อนข้างจำกัด เพราะในด้านหนึ่ง การรถไฟจีนจำกัดบริการในไม่กี่ขบวน แต่ในอีกด้านหนึ่ง จีนเพิ่งปลดล็อกการเดินทางข้ามมณฑลโดยรวมและเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศในปีนี้เอง


ในเวลาต่อมา จีนก็ออกกฎหมายป้องกันและควบคุมมลพิษทางเสียงที่มีผลบังคับใช้นับแต่เดือนมิถุนายน 2022 เพื่อส่งเสริมการพัฒนา “พื้นที่เงียบสงบ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านที่อยู่อาศัยโรงเรียน โรงพยาบาล และบริการขนส่งสาธารณะ


ผลจากการนี้ ทำให้การรถไฟจีนได้ประกาศผ่านวีแชต (WeChat) ขยายบริการขบวนรถไฟเงียบกว่า 3 เท่าตัวเป็น 37 ขบวนนับแต่เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา โดยครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสำคัญ อาทิ ปักกิ่ง-กวางโจว ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ และเฉิงตู-ฉงชิ่ง 


ข้อมูลเงื่อนไขแนวปฏิบัติในการใช้บริการดังกล่าวระบุว่าผู้โดยสารต้องงดเว้นการวางอุปกรณ์ดิจิตัลบนลําโพง ปรับโทรศัพท์ให้อยู่ในโหมด “เงียบ” อาจสวมหูฟังขณะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และลดการสนทนากับเพื่อนผู้โดยสารหรือพูดคุยทางโทรศัพท์ 


ขณะเดียวกัน ระดับเสียงประกาศข้อมูลสำคัญภายในตู้โดยสารเงียบจะลดลงเหลือ 30-40% ของระดับปกติขณะที่บริกรที่เข็นสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายบนรถไฟก็จะต้องให้บริการอย่างสงบ 


นอกจากนี้ พนักงานประจำรถไฟยังจะช่วยตรวจสอบข้อมูลปลายทางของผู้โดยสารแต่ละคนผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและแจ้งเตือนเป็นรายบุคคล และใส่ใจกับการรักษา “เดซิเบล” ให้อยู่ในระดับต่ําสุดเท่าที่จะเป็นไปได้


ที่ผ่านมา ผมสังเกตว่า การรถไฟจีนมักจะเลือกโบกี้ที่ 3 ของขบวนรถไฟในการให้บริการ “ตู้โดยสารเงียบ” และแนะนําให้ผู้โดยสารที่เดินทางพร้อมกับทารกและเด็กเล็กหลีกเลี่ยงการจองที่นั่งในโบกี้เงียบนี้


ประการสำคัญ ในขบวนรถไฟหัวกระสุนจํานวนมากที่ไม่มีบริการ "ตู้โดยสารเงียบ" ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้โดยสารมีอิสระที่จะสร้างความปั่นป่วนบนรถไฟ 


แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะรักษาความเงียบทั้งหมดบนรถไฟ แต่ผู้คนจําเป็นต้องเคารพความต้องการของผู้โดยสารอื่นที่ร่วมเดินทาง โดยไม่รบกวนผู้อื่นด้วยวิธีอื่นใด 


ขณะที่ผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่ที่เดินทางไปกับเด็กก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีสําหรับผู้เยาว์โดยประพฤติ/ตนและปฏิบัติตามจรรยาบรรณในที่สาธารณะ


รถไฟความเร็วสูงจีนขยายบริการ “โบกี้เงียบ” ทางเลือกใหม่ที่สบายหู โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ภาพจาก reuters


ผมเองก็เพิ่งมีประสบการณ์ในการใช้บริการนี้เมื่อเดือนก่อนนี้เองผมจำความได้ว่า ผมอยู่ระหว่างการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงจากนครเซี่ยงไฮ้เพื่อไปพูดในงานสัมมนาที่เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเซี่ยงไฮ้-ปักกิ่ง และได้ซึมซับประสบการณ์ใหม่ของ “ตู้โดยสารเงียบ” โดยไม่รู้ตัว 


เพราะขณะเดินทางก็เผอิญมีโทรศัพท์เข้ามา ผมก็รับสายและคุยด้วยระดับเสียงปกติ ซึ่งกล่าวแบบไม่เข้าข้างตนเองว่า “ไม่ดัง” ในมาตรฐานการพูดคุยในสังคมจีน


สักพักก็มีบริกรสาวเดินมาเตือนให้พูดเบาๆ พร้อมชี้ไปที่สัญลักษณ์ “งดใช้เสียง” ที่แปะอยู่ ผมถึงได้รู้ว่ากำลังใช้บริการ “โบกี้สบายหู” อยู่ และสังเกตเห็นในเวลาต่อมาว่า ภายในห้องโดยสารมีแผ่นป้าย “งดใช้เสียง” ถูกแปะอยู่หลายจุดด้วยกัน


จำได้ว่า ระหว่างการเดินทางในวันนั้น ผมต้องเปลี่ยนมาใช้วีแชตและไลน์ในการติดต่อสื่อสารกับเครือข่าย และแก้ไขปัญหาเวลาที่ต้องใช้โทรศัพท์ด้วยการลุกออกจากที่นั่งไปคุยด้านนอกตู้โดยสารแทน


ผมยังได้รับแจ้งว่า ในตู้โดยสารเงียบบางเส้นทางอาจมีสิ่งอํานวยความสะดวกพิเศษให้ผู้โดยสารเพิ่มเติมอีกด้วย อาทิ หน้ากากป้องกันดวงตา หูฟัง และอุปกรณ์หยุดการกรน


ผมสอบถามเพื่อนร่วมงานถึงขั้นตอนและวิธีการซื้อตั๋วสําหรับบริการ “ตู้โดยสารเงียบ” ก็ได้รับคำตอบว่า ผู้จองต้องมองหาบริการรถไฟที่มีข้อความว่า “เงียบ” (ในภาษาจีน) และกดเลือกเพื่อจัดลําดับความสําคัญของตู้โดยสารเงียบเมื่อจองตั๋ว


อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ตั๋วที่มีบริการนี้มีจําหน่ายแล้วบนแอปและเว็บไซต์ 12306 แต่แพลตฟอร์มบุคคลที่3 ยังไม่รองรับการจองนี้


ภายหลังการขยายบริการนี้ก็พบว่า คนจีนทั้งที่เคยใช้และยังไม่เคยใช้บริการนี้ก็โต้เถียงกันอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นประเด็นที่มาแรงบนเหว่ยปั๋ว (Weibo) “Twitter (หรือ X) ของจีน”อยู่หลายวันต่อเนื่อง แต่โดยสรุป คนจีนส่วนใหญ่ชื่นชอบและพึงพอใจกับบริการนี้มาก 


จากประสบการณ์การใช้บริการ “ตู้โดยสารเงียบ” นึ้ ผมรู้สึกได้ว่า “สบายหูจริง” และมองว่า บริการนี้เหมาะสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางเพื่อธุรกิจ และกลุ่มคนที่ไม่ต้องการถูกรบกวนขณะเตรียมงานอะไรบางอย่าง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ


แต่สำหรับท่านที่ไม่คุ้นชิน ก็อาจทำให้เราหงุดหงิดได้เพราะขนาดผมนั่งพูดคุยกับเพื่อนร่วมทางด้วยเสียงอันเบา ก็ยังเคยถูกเตือนให้เบาเสียงมาแล้ว


นอกจากนี้ ชาวจีนยังเสนอแนะให้การรถไฟจีนกําหนดหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นเพื่อลงโทษการละเมิดสิทธิของผู้อื่น เช่น ผู้กระทําความผิดซ้ําจะถูกห้ามมิให้ซื้อตั๋วรถไฟเป็นระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่คนจีนบางส่วนก็เรียกร้องให้ขยายบริการไปยังรถไฟใต้ดิน รถเมล์ประจำทาง และสถานที่อื่นๆ อีกด้วย


สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ชอบความอีกทึกในระหว่างการเดินทางในจีน ท่านมี “ทางเลือก” แล้วครับ ...




ภาพ AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง