TNN จีนปรับปรุงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างไร จึงสร้างคนคุณภาพสูงได้ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

TNN

คอลัมนิสต์

จีนปรับปรุงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างไร จึงสร้างคนคุณภาพสูงได้ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนปรับปรุงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างไร จึงสร้างคนคุณภาพสูงได้ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

จีนปรับปรุงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างไร จึงสร้างคนคุณภาพสูงได้ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

จีนปรับปรุงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างไร จึงสร้างคนคุณภาพสูงได้ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน


มาคุยกันต่อเลยว่าจีนในช่วงหลายปีหลังปรับเปลี่ยนมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างไรกัน ...


ผมขอเรียนว่า ในช่วงราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนโดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาสถาบันการศึกษาของจีนไว้อย่างสร้างสรรค์ ผมจะขอนำเสนอ4 โครงการที่ผมชื่นชอบและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในจีนครับ ...


1. โครงการ 211ถือเป็นโครงการ “นำร่อง” การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาของจีนภายหลังการเปิดประเทศสู่โลกภายนอกในยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี 


โครงการนี้ริเริ่มเมื่อปี 1995 หรือเกือบ 30 ปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลในประเด็นการพัฒนาคนคุณภาพของรัฐบาลจีน โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยที่สําคัญจำนวน 100แห่งสําหรับศตวรรษที่21ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อโครงการนี้


ในทางปฏิบัติ รัฐบาลจีนมุ่งที่จะพัฒนาสถาบันการศึกษาในโครงการให้มีอุปกรณ์การสอนที่ดีผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีชื่อเสียงในระดับสูงทั้งในจีนและต่างประเทศ


ทั้งนี้ ในระหว่างปี 1996-2000 โครงการได้จัดสรรเงินสนับสนุนสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องเป็นเงินถึงราว 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษามาตรฐานดีมากกว่า2,000แห่ง หรือราว 6% ของจำนวนสถาบันอุดมศึกษาโดยรวมของจีนที่เข้าร่วมโครงการนี้


2. โครงการ 985ถูกออกแบบเพื่อสานต่อความสำเร็จในระยะแรกของโครงการ 211 โดยอาศัยจังหวะโอกาสที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งฉลองครบรอบ 100 ปี(เดือนพฤษภาคม 1998)ในการเปิดตัวโครงการนี้ 

คนจีนในวัยทำงานนิยมเรียกโครงการนี้กันจนติดปากว่า “985 กงเฉิง”ซึ่งผมแอบถามคนจีนว่าชื่อโครงการมีที่มาที่ไปอย่างไร และมีความหมายเชิงลึกซ่อนอยู่หรือไม่ 


ก็ได้รับคำตอบว่า ชื่อรหัส“985” เป็นคําพ้องเสียงในภาษาจีนที่มีความหมายว่า “มหาวิทยาลัยอันดับ1” ขณะที่ “กงเฉิง” แปลตรงตัวว่า “วิศวกรรมศาสตร์” แต่ในกรณีนี้น่าจะหมายถึง “โครงการ” นั่นเอง


ด้วยกระแสความสนใจและความมั่งมั่นของจีนในการพัฒนาคนคุณภาพที่กำลังมาแรงดังกล่าวทำให้กระทรวงศึกษาธิการจีนมาพร้อมกับแนวคิดและเป้าหมายใหม่ที่ต้องการจะ “ปั้น” สถาบันอุดมศึกษาระดับ “หัวกระทิ” ของจีนขึ้นสู่ระดับโลก


โครงการนี้เลือกใช้แนวทางการ “ต่อยอด” สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำจำนวนเกือบ 40 แห่งภายใต้โครงการ 211 ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศและดึงดูดนักศึกษาต่างชาติเข้าจีน


โดยในระยะแรก โครงการนี้อัดเงินทุนสนับสนุนจำนวนมากแก่สถาบันการศึกษาชั้นนำของจีนจำนวน 9 แห่ง เอ่ยชื่อไปท่านผู้อ่านที่เป็น “คอจีน” ก็คงคุ้นหูคุ้นตาและได้ยินชื่อเสียงมาแล้วบ้าง 

อาทิ มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง มหาวิทยาลัยเจียวทงเซี่ยงไฮ้ มหาวิทยาลัยเจียวทงซีอาน สถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น และมหาวิทยาลัยหนานจิง


สถาบันการศึกษา 9 แห่งดังกล่าวถือเป็นมหาวิทยาลัยระดับปริญญาเอกที่มีกิจกรรมการวิจัยระดับแนวหน้าของจีน และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในต่างประเทศในเวลาต่อมาซึ่งบ่งบอกถึงศักดิ์ศรีและอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการศึกษาจีนในวงการศึกษาระดับอุดมศึกษาโลก


เมื่อโครงการนี้ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2 สถาบันอุดมศึกษาในโครงการก็เพิ่มจำนวนขึ้นอีกถึง30 แห่งในปี 2004นอกจากนี้ ในปี 2006 กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลังจีนก็เป็นแกนหลักในการสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์แก่สถาบันอุดมศึกษาอีก 33 แห่งที่ไม่ได้รวมอยู่ในโครงการ 985 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนของรัฐ


ในเวลาต่อมาก็มีกระแสข่าวระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการจีนได้คลอดโครงการพัฒนาสถาบันการศึกษาใหม่ และส่งสัญญาณอย่างไม่เป็นทางการในปี 2011 ว่าโครงการเดิมเหล่านี้ใกล้ปิดตัวลง และหยุดการพิจารณารับเอาสถาบันการศึกษาใหม่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม


ทั้งนี้ ในปี 2014 สถาบันอุดมศึกษาบางแห่งของโครงการ 985 เปิดเผยว่าเงินทุนของโครงการได้หยุดลงนับแต่ปี 2013 กระแสข่าวดังกล่าวได้สร้างความสับสนปนเสียดายให้แก่สถาบันการศึกษาของจีนหลายแห่งที่ “เข้าคิว” เตรียมเข้าร่วมโครงการ


3. โครงการ C9 Leagueมีลักษณะเสมือน “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ที่เกิดขึ้นในปี 2009 โดยกระทรววงศึกษาจีนได้หยิบยกเอาสถาบันอุดมศึกษาก่อตั้ง 9 แห่งในโครงการ 985 ไปจัดตั้งเป็น “C9 League” 


การเกิดขึ้นของโครงการนี้สร้างผลกระทบในหลายด้าน ในด้านหนึ่ง โครงการนี้ทำให้สถาบันการศึกษาใน 2 โครงการก่อนหน้านี้ “อ่อนยวบ” ลง ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้สถาบันการศึกษาชั้นนำของจีนจำนวน9 แห่งในโครงการนี้ “โดดเด่น” ในเวทีการศึกษาจีนและต่างประเทศ


ส่งผลให้มหาวิทยาลัยทั้ง9 แห่งใน C9 Leagueดังกล่าวติดอันดับต้นๆ ของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น QS World, ARWU และ Times Higher Education ในเวลาต่อมา


ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาในโครงการนี้ก็ยังได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลกลางและท้องถิ่นของจีน C9 League มีคณาจารย์และห้องปฏิบัติการระดับโลก โดยประเมินว่า เป็นแหล่งรวบรวม 3% ของนักวิชาการวิจัยของจีน และได้รับ 10% ของงบประมาณการวิจัยและพัฒนาระดับชาติ ทำให้ผลิต 20% ของผลงานทางวิชาการโดยรวมของจีน


นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้ยังมีเครือข่ายศิษย์เก่าที่ทรงพลังมากมาย ทำให้ได้รับทุนการศึกษาและสามารถจัดสรรสิทธิพิเศษมากมายแก่นักศึกษา ซึ่งช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาดังกล่าวสามารถดึงดูดนักศึกษาที่มีความสามารถสูงจากทั่วโลกและแบ่งปันทรัพยากรด้านศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ


สถาบันเหล่านี้มีหลักสูตรที่มีการแข่งขันสูงและมุ่งผลิตคนที่มีความสามารถสูงสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในเชิงคุณภาพ ทำให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาเป็นที่ต้องการของตลาด 


คนจีนมักเล่าให้ผมฟังว่า ผู้ที่สอบเอ็นทรานซ์ “เกาเข่า” เข้าสู่ และจบการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเหล่านี้ ล้วนมีงานที่ดีรออยู่และได้รับเงินเดือนและสวัสดิการในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่จบจากสถาบันการศึกษาอื่นในจีน 


และเพื่อให้มั่นใจว่าจะ “ไม่ตกขบวน” สามารถรับรู้และเข้าถึงบุคลากร “คุณภาพสูง” ดังกล่าว กิจการชั้นนำของจีนและต่างชาติจึงต่างพยายามเข้าร่วมและสบับสนุนกิจกรรมและโครงการของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ในชิงรุกอย่างเต็มกำลัง


จีนปรับปรุงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างไร จึงสร้างคนคุณภาพสูงได้ (ตอนจบ) โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร


โครงการพัฒนาสถาบันการศึกษาที่สำคัญของจีน


1. โครงการ 221  

ปีเริ่มต้น 1995-2016  จำนวนสถาบัน  200 แห่ง จุดเด่น ปั้นมหาวิทยาลัยสําหรับศตวรรษที่21

2. โครงการ 985  

ปีเริ่มต้น 1998-2016 จำนวนสถาบัน 69 แห่ง จุดเด่น ปั้นสถาบันอุดมศึกษาสู่ระดับโลก

3. โครงการ C9 League 

ปีเริ่มต้น 2009-ปัจจุบัน จำนวนสถาบัน 9 แห่ง จุดเด่น ปั้นสถาบันฯ ระดับโลกในหลายมิติ

4. โครงการ Double 1st Class 

ปีเริ่มต้น 2016-ปัจจุบัน จำนวนสถาบัน 42 แห่ง จุดเด่น  ปั้นสถาบันฯ ระดับโลกภายในปี 2050


4. โครงการ Double First Class โครงการเกิดขึ้นในสมัยของสี จิ้นผิง ผู้นำคนปัจจุบันโดยในเดือนตุลาคม 2015 สภาประชาชนแห่งชาติจีนก็ให้ความเห็นชอบกับ “แผนส่งเสริมการพัฒนามหาวิทยาลัยชั้น1 ของโลกและสาขาวิชาชั้น 1 (Double First Class University Plan) เพื่อพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในจีนรูปแบบใหม่เพื่อหวังสร้างคนคุณภาพสูงของจีน


โครงการนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถาบันฯ ควบคู้ไปกับหลักสูตรการสอน โดยมีสถาบันการศึกษาชั้นนำจำนวน 42 แห่ง จำแนกเป็นสถาบันฯ เกรด A จำนวน 36 แห่ง และเกรด B จำนวน 6 แห่ง) ขณะเดียวกันก็ครอบคลุมถึง 465 สาขาวิชาชั้น1


การดำเนินโครงการDouble First Classนี้เป็นเสมือนเครื่องยืนยันว่าโครงการ 985 และโครงการ 211 ได้ถูกยกเลิกลงอย่างเป็นทางการในปี2016


จากการติดตามผลการดำเนินโครงการนี้ในช่วงหลายปีหลังก็พบว่า โครงการนี้ช่วยสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกแก่สถาบันอุดมศึกษาในโครงการเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลการดำเนินโครงการทั้ง 4 ดังกล่าวพอสรุปได้ว่า ความคิดของการแบ่งประเภทและจัดเกรดสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ “ผลิดอกออกผล” อย่างเป็นรูปธรรมโดยลำดับ 


โดยโครงการ211 และ 985 ที่ช่วย “กรุยทาง” และ “จุดประกาย” แห่งความหวังในการพัฒนาในยุคแรก ก็นับว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจีนในยุคหลังเราเห็นหลายสถาบันอุดมศึกษาของจีนได้รับการจัดระดับเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกมากขึ้นโดยลำดับ


ขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่า แม้ว่าจีนจะประสบความสำเร็จอย่างมากในการยกระดับสถาบันอุดมศึกษา แต่กระทรวงศึกษาธิการจีนก็ปรับปรุงและคลอดโครงการใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง


ผมจึงเชื่อมั่นเหลื่อเกินว่า จีนจะไม่หยุดที่จะผุดโครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา และจะมีอีกหลายสถาบันอุดมศึกษาของจีนเจริญรอยตามอย่างแน่นอนในอนาคต 

ถึงเวลาหรือยังที่ไทยต้อง “เอาจริงเอาจัง” กับการพัฒนาทรัพยามนุษย์ของเรา ... 



ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง