TNN online Exclusive Content : วางแผนลงทุน เมื่อ LTF ถูกยกเลิก

TNN ONLINE

TNN Exclusive

Exclusive Content : วางแผนลงทุน เมื่อ LTF ถูกยกเลิก

Exclusive Content : วางแผนลงทุน เมื่อ LTF ถูกยกเลิก

รัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการจัดตั้งกองทุนใหม่ เพื่อนำมาทดแทนของทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่คาดว่าจะยกเลิกไปในเร็วๆนี้

        นักลงทุนหรือแม้แต่มนุษย์เงินเดือนคงจะกังวลไม่น้อย เมื่อในปีนี้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF จะเป็นปีสุดท้ายของการให้สิทธิลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF หลังจากเมื่อสามปีก่อน ได้มีการต่ออายุโดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้ต้องถือครองยาวขึ้น จาก 5 ปี เป็น 7 ปี มาครั้งหนึ่งแล้ว  ซึ่งขณะนี้  บรรดาสถาบันจัดการกองทุนต่างๆก็ทยอยประกาศ หรือเร่งจัดโปรโมชั่นเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเร่งซื้อกองทุน LTF ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้กันแล้ว 

        สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้ระบุตัวเลขเงินลงทุนใน LTF ปัจจุบันมีตัวเลขสูงเกือบ 4  แสนล้านบาท โดยในแต่ละปีจะมีเม็ดเงินก้อนใหม่เข้ามาลงทุนใน LTF ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท  จึงทำให้เกิดความกังวลว่า หากเลิก LTF ไปแล้ว  เงินจำนวนนี้จะหายออกไปจากตลาดหุ้น

เร่งจัดทำกองทุนรูปแบบใหม่ ทดแทน  LTF  

        โดยหลักๆแล้ว การประกาศยกเลิกกองทุน LTF  รัฐบาลต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะที่ผ่านมากลุ่มคนที่ลงทุนในกองทุน คือกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลาง-สูง ถึงระดับสูง ที่ต้องการนำไปลดหย่อนภาษีจากรายได้จำนวนมากทั้งปี ในขณะที่ผู้มีรายได้ต่ำ-ปานกลางได้ประโยชน์น้อยกว่ามาก ขณะเดียวกันยังทำให้รัฐเสียรายได้ และเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น    อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็เตรียมจะจัดทำกองทุนรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการลดหย่อนภาษีให้กับประชาชน 

กองทุนใหม่ รูปแบบคล้าย RMF 

        ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ได้เปิดเผยเพิ่มเติม เกี่ยวกับแนวทางกองทุนรวม LTF ใหม่ ว่าจะมีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) คือ จะมีระยะเวลาการออมที่ยาว โดยอาจจะกำหนดอายุการลงทุนในระยะเวลา 10-15 ปี เพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาออมมากขึ้น ซึ่งจะแตกต่างจากกองทุน LTF ในปัจจุบัน ที่กำหนดระยะเวลาการออมที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทาง ภาษี 7 ปี แต่ก็จะไม่ยาวเหมือนกองทุน RMF ที่ถอนเงินได้เมื่ออายุ 55 ปี เพราะถ้าออมระยะยาวมากจนเกินไปจะไม่จูงใจให้คนรุ่นใหม่ให้ร่วมออม     ส่วนวงเงินลงทุนที่จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น กำหนดว่า จะมีวงเงินลงทุนเมื่อรวมกันกับการลงทุนในกองทุน RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี หรือไม่เกิน 30% ของรายได้ ขณะที่ด้านหลักการของการนำเงินออมดังกล่าวไปลงทุนนั้น จะไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องนำไปลงทุน ในหุ้นที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามแนวคิดเดิม ดังนั้น เงินออมดังกล่าวจะสามารถนำไปลงทุนในหุ้นหรือผลิตภัณฑ์การเงินที่สร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและแก่ผู้ลงทุนได้ โดยข้อเสนอต่างๆกระทรวงการคลังจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบภายในสิ้นปีนี้ 

Exclusive Content : วางแผนลงทุน เมื่อ LTF ถูกยกเลิก

รัฐบาลควรคงมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อจูงใจให้คนออมเงินระยะยาว 

        นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ระบุว่า กรณีที่มีข่าวว่ากระทรวงการคลังจะตั้งกองทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกองใหม่ เพื่อทดแทน  LTF  โดยให้วงเงินลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ซึ่งหากออกมาตามนั้น สภาธุรกิจตลาดทุนไทยไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไข ที่จะนำวงเงินของกองทุนใหม่ไปรวมกับ RMF ปัจจุบัน แล้วไม่ขยายวงเงินลงทุน   เนื่องจากเห็นว่า   วงเงินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ของ RMF อยู่ที่ 5 แสนบาทต่อหุ้น ซึ่งเท่ากับว่าให้วงเงินกองทุนใหม่ที่ได้รับสิทธิประโยชน์น้อยมาก และ วัตถุประสงค์ของ 2 กองทุน นั้นแตกต่างกัน  โดย RMF เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีการออมเพื่อการเกษียณอายุตอบโจทย์เรื่องสังคมสูงวัย  ส่วนกองทุน  LTF นั้น เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น  เพื่อพัฒนาตลาดทุนให้มีเม็ดเงินลงทุนระยะยาวเข้ามาลงทุน    ซึ่งหากจะออกกองทุนใหม่มาทดแทนกองทุน LTF นั้น ควรเป็นกองทุนที่เน้นการออมระยะยาวในตลาดหุ้นเพื่อการสร้างวัฒนธรรม การลงทุนในตลาดหุ้นในระยะยาว   ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังจำเป็นที่จะต้องใช้แรงจูงใจทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้มีการออม  เพราะ ปัจจุบัน ประชาชนคนไทยยังนิยมการลงทุนระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับนักลงทุนเอง และไม่เป็นผลดีตลาดหุ้นโดยรวม 

         อย่างไรก็ตาม ควรที่จะมีการสนับสนุนให้มีการออมใน ทั้ง 2 กองทุน  เพราะ วัตถุประสงค์การลงทุนต่างกัน    จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการนำวงเงินให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้ง 2 กองทุนมารวมกัน ’ นายไพบูลย์ กล่าว 

Exclusive Content : วางแผนลงทุน เมื่อ LTF ถูกยกเลิก

ไม่มี LTF ไว้ลดหย่อนแล้วทำอย่างไร 

        แม้กองทุน LTF จะถูกยกเลิกสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีไป แต่เรายังมีสิทธิ์อื่นๆในการลดหย่อนภาษีอยู่ เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ที่ยังสามารถใช้ได้ กรณีการออมเงินระยะยาว หรือต้องการเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ หรือ การซื้อประกันชีวิต ที่นอกจากเป็นการออมแล้วแถมยังได้รับความคุ้มครองด้วย  รวมไปถึงการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งปัจจุบันสถานประกอบการใหญ่ๆ หรือบริษัท จำกัด (มหาชน) มีให้สำหรับลูกจ้าง 

เมื่อออมแล้ว ลดหย่อนได้แค่ไหน 

        หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ออมเงินแต่ละอย่างสามารถลดหย่อนภาษีได้แค่ไหน ลดหย่อนได้จริงหรือไม่ ระหว่างยังรอความชัดเจนจากภาครัฐเกี่ยวกับกองทุนรูปแบบใหม่  โดยนอกจากการลดหย่อนกลุ่มรายได้ส่วนตัว ที่จะสามารถหักลดหย่อนได้ทันที  ก็จะมีการออมหรือรายการใช้จ่ายอื่นๆที่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีด้วยได้  ยกตัวอย่างเช่น 

- การออมในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ  RMF  ที่ปัจจุบันยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้นั้น เหมาะกับผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะยาวๆ หรือต้องการเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณ  ซึ่งค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เช่น ถ้าเรามีรายได้ 1 ล้านบาทต่อปี  ให้นำ 1 ล้านบาท คูณ 15% แสดงว่าซื้อได้สูงสุด 150,000 บาท เป็นต้น 

- ออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  หรือกองทุนที่นายจ้าง และลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมเก็บเอาไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ หรือออกจากงาน  โดยนอกจากจะได้ออมเงินในแต่ละเดือนแล้ว  เรายังได้เงินสบทบจากนายจ้างอีกด้วย คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับเงือนไขของแต่ละบริษัท   เช่น  บางบริษัทอาจกำหนดตายตัว ว่าจะมีการหักเงินจากรายได้แต่ละเดือนของลูกจ้าง ในอัตรา 7% ของเงินเดือนทุกเดือน และนายจ้างสมทบให้อีก 7% เป็นต้น   ซึ่งเงินออมของกองทุนนี้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทด้วย 

- ทำประกันชีวิต  ถือเป็นการออมในอีกรูปแบบหนึ่งที่หลายคนนิยม  นอกจากเป็นการออมแล้วแถมยังได้รับความคุ้มครองด้วย  และการซื้อกรมธรรม์ที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  จะสามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย   โดยจะแบ่งเบี้ยประกันชีวิตไว้ 2 ประเภท คือ  ประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท  และประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

 - การบริจาคเงินเพื่อการกุศล  เช่น บริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ นั้น  จะได้สิทธิ์หักลดหย่อน 2 เท่าของเงินบริจาคแต่จะไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน  ส่วนการบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน 

Exclusive Content : วางแผนลงทุน เมื่อ LTF ถูกยกเลิก

        จะเห็นได้ว่า นอกจากการซื้อกองทุน LTF ก็ยังมีทางเลือกอื่นที่สามารถออมเงินได้และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน  เพราะล่าสุดรัฐบาลเองก็ยังไม่ฟันธง ว่าจะให้กองทุนใหม่ออกมาในรูปแบบไหนถึงจะตอบโจทย์มากที่สุด  และยังต้องรอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป   แต่หากมีคำถามว่า สรุปแล้ว ปีนี้ยังซื้อ LTF ได้ไหม?  ยังซื้อได้ เพียงแต่หากจะซื้อปีนี้จะเป็นปีสุดท้าย ที่รัฐบาลจะให้สิทธิ์นำไปหักลดหย่อนภาษีได้เท่านั้นเอง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-Exclusive Content : "ชิมช้อปใช้"พลาดเฟส1 เฟส2 ต้องห้ามพลาด(มีคลิป)

-Exclusive Content : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 อะไรดี อะไรโดน

-Exclusive Content : แผนกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ปลดล็อกคนอยากมีบ้าน


เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง