Exclusive Content : แผนกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ปลดล็อกคนอยากมีบ้าน

มาตรการ LTV ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้สถาบันการเงินค่อนข้องมีข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อบ้าน ขณะที่ภาครัฐก็พยายามงัดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ต่างขยันขนโครงการใหม่ๆขึ้นมาเอาใจลูกค้า แต่ช่วงที่ผ่านมาหรือตั้งแต่ไตรมาส 2 สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างซบเซา ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือมาตรการ LTV ไปเมื่อต้นเดือนเมษายน 2562 เพื่อต้องการจะดูแลประชาชนที่อยากมีที่อยู่อาศัยให้สามารถซื้อบ้านในราคาที่เหมาะสม ยกระดับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤษฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนไปกระทบเศรษฐกิจในภาพรวม
โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) กล่าวว่า ปกติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเป็นสินเชื่อที่มีหนี้เสีย หรือ NPL อยู่ในระดับต่ำ แต่ช่วงที่ผ่านมาตัวเลข NPL ของสินเชื่อดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งเมื่อเข้าไปดูข้อมูลอย่างจริงจัง พบว่า มีการกู้เพื่อซื้อบ้านหลังที่ 2 หลังที่ 3 และหลังที่ 4 พร้อมกัน ในขณะที่หลังแรกยังผ่อนไม่หมด ซึ่งบ่งบอกได้ถึงการซื้อไปเพื่อเอาไปเก็งกำไรขายต่อ อีกทั้ง ยังมีการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน จนทำให้คุณภาพของการปล่อยสินเชื่อลดลง
ซึ่งการออกมาตรการ LTV ก็เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้ลุกลามบานปลายกลายเป็นอุปทานส่วนเกินขึ้น แปลว่าแม้จะมีที่อยู่อาศัยที่โอนแล้วก็ตาม แต่กลับไม่มีคนมาอาศัยอยู่จริงๆ เพิ่มขึ้น จนกลายเป็น "อุปสงค์เทียม" ทำให้ราคาบ้าน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้เราอาจจะซื้อบ้านในราคาที่ต้องการได้ยาก และหากสถานการณ์นี้สะสมเรื่อยๆ ก็อาจเกิดเป็นฟองสบู่ในภาคอสังหาฯขึ้น ซึ่งในความหมายของฟองสบู่เกิดจากการปรับราคาที่ผิดปกติ ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานต้นทุน ต่างจากโอเวอร์ซัพพลาย คือของมีเยอะ ทำให้ปรับราคาไม่ได้ โดยหากเลวร้ายจนฟองสบู่แตก ก็จะเกิดผลกระทบไปยังเศรษฐกิจทั้งหมด ตั้งแต่ผู้บริโภคไปจนถึงผู้ประกอบการ
และจากสาเหตุดังกล่าว ส่งผลกระทบไปยังผู้ประกอบการภคอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 จนมาถึงไตรมาส 3 จากภาพรวมโครงการอยู่อาศัยในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างเสร็จใหม่ลดลง การโอนกรรมสิทธิที่อยู่อาศัย ลดลง 16.47 % สอดคล้องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ลดลงเช่นเดียวกัน
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ หลังพบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยครึ่งปีแรก มีภาวะซบเซา และคาดว่า ปีนี้ตลาดจะติดลบ 5-7 % และมีแนวโน้มซบเซาไปถึงปี 2563
นายปิติพัฒน์ ปรีดานนท์ กรรมการบริหารสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวในงานเสวนาช่วง “วิเคราะห์ทิศทางและตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 2020” ว่า สิ้นปี 2562 ประเมินว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าจะติดลบ ที่ -10% แบ่งเป็นแนวราบ -3% คอนโดมิเนียม -11% ถ้าไม่มีมาตรการรัฐออกมาช่วยเหลือตลาดคอนโดฯก็น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการผ่อนปรนมาตรการ LTV เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภค สามารถมีบ้านหลังแรกและคอนโดฯหลังแรกได้ รวมถึง การจัดแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นอสังหาฯเพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงปลายปี 2562
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 ที่ผ่านมา เห็นชอบ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ พร้อมอนุมัติให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. จัดทำสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 50,000 ล้านบาท สำหรับกู้ซื้อบ้านได้ทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสองด้วย
โดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. สนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัย ในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ราคาพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรน ซึ่งนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านในโครงการนี้ จะคงที่ใน 3 ปีแรก 2.50% ต่อปี ปีที่ 4-5 คงที่ 4.625% ต่อปี ส่วนปีที่ 6 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้เงิน คิดเอ็มอาร์อาร์ลบ 0.75-1.00% โดยการขอกู้จะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือ ห้องชุดจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ หรือบ้านใหม่ ที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท และไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านหลังแรก ซึ่งลูกค้าบ้านมือสอง หรือรีไฟแนนซ์ จะเข้าร่วมไม่ได้
“โครงการนี้เป็นดอกเบี้ยต่ำสุดในตลาด และยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยในช่วง 3 ปีแรก เช่น กรณีกู้ 1 ล้านบาท ตลอด 3 ปี แรกจะผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 3,300 บาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้กู้ประหยัดเงินงวดได้ 3 ปี สูงถึง 80,400 บาท หรือหากเทียบกับ การผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติในช่วง 5 ปีแรก ผู้กู้สามารถประหยัดเงินงวดได้ถึง 123,600 บาท” นายฉัตรชัย กล่าว
สำหรับ มาตรการสินเชื่อนี้ จะมีไปจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง กลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้บุตรหลานหรือทายาท
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาแม้ภาพรวมตลาดเป็นช่วงขาลง แต่ยังมีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง อาทิ นักลงทุนญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ เห็นว่า ดีเวลอปเปอร์ไทยส่วนใหญ่ทำแต่บ้านกับคอนโดฯ แต่สไตล์ต่างชาติจะลงทุนโครงการมิกซ์ยูสเป็นหลัก ดังนั้น การปรับตัวของดีเวลอปเปอร์ไทยหากจะเน้นมาลงทุนมิกซ์ยูสโปรเจ็กต์มากขึ้น ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีให้กับผู้บริโภคและสร้างสีสันให้กับตลาดกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง แต่มาตรการจากภาครัฐจะสามารถกระตุ้นตลาดอสังหาฯได้มากน้อยเพียงได้ คงต้องดูกันต่อไป
- Unseen Job: แกร็บไบค์วิน ผู้บกพร่องการได้ยิน ให้บริการด้วยใจ ไม่ใช้เสียง
- Exclusive Content : เปิดศึก"เวนดิ้งแมชีน 2019"ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในไทย
- Exclusive Content :“Refun Machine”ตู้ขายขวดยุคใหม่ ผลตอบแทนมากกว่าเงิน
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

ติดตาม TNN ติดตามข่าว 24 ชั่วโมง
อัพเดทข่าวสารกัน นาทีต่อนาที