TNN ประธานาธิบดี “ธีโอดอร์ รูสเวลต์” ก่อนจะเป็นชื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน เคยเป็นชื่อ “ตุ๊กตาหมี” มาก่อน

TNN

TNN Exclusive

ประธานาธิบดี “ธีโอดอร์ รูสเวลต์” ก่อนจะเป็นชื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน เคยเป็นชื่อ “ตุ๊กตาหมี” มาก่อน

ประธานาธิบดี “ธีโอดอร์ รูสเวลต์”  ก่อนจะเป็นชื่อเรือบรรทุกเครื่องบิน เคยเป็นชื่อ “ตุ๊กตาหมี” มาก่อน

น้อยคนที่จะทราบว่า “ตุ๊กตาหมี” แบบที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอย่าง “เท็ดดี้แบร์” มีรอยทางมาจากชื่อของ "ธีโอดอร์ รูสเวลต์" อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา อย่างไม่น่าเชื่อ

นับเป็นสัญญาณอันดี ที่เรือบรรทุกเครื่องบิน “ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (USS Theodore Roosevelt)” ได้กลับเข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง นับเป็นการเยือนไทยอีกครั้งในรอบ 6 ปี 

หากพิจารณาไปที่ชื่อเรือนี้ ย่อมเข้าใจได้ในทันทีว่า เป็นการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติแก่ “ธีโอดอร์ รูสเวลต์” ประธานาธิบดีลำดับที่ 26 แห่งสหรัฐอเมริกา 1 ใน 4 ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ ที่ปรากฏเป็นใบหน้าแกะสลักที่ “ภูเขารัชมอร์ (The Mount Rushmore )” เลยทีเดียว

กระนั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่ท่านประธานาธิบดีท่านนี้ ได้รับเกียรตินำชื่อไปใช้ เพราะก่อนหน้านั้น น้อยคนที่จะทราบว่า “ตุ๊กตาหมี” แบบที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอย่าง “เท็ดดี้แบร์” มีรอยทางมาจากชื่อของท่านอย่างไม่น่าเชื่อ

ร่วมติดตามประวัติศาสตร์ของชื่อตุ๊กตาหมี จาก “ประธานาธิบดีหุ่นหมี” ณ บัดนี้

ปาณาติปาตา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ต้องย้อนรอยไปถึง “งานอดิเรก” ของท่านรูสเวลต์ คือท่านชอบ “กีฬาล่าสัตว์” อย่างมาก ซึ่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด 

วันหนึ่ง ในเดือนพฤศจิกายน 1902 ท่านและผู้ติดตามได้เดินทางไปยังมลรัฐ “มิสซิสซิปปี” เพื่อล่า “หมีดำ” ซึ่งเป็นสัตว์เลื่องชื่อที่นักกีฬาล่าสัตว์นิยมล่ากันในมลรัฐนี้ 

รูสเวลต์ถือว่า “มือไม่ขึ้น” เพราะยังไม่สามารถล่าได้ ผู้ติดตามเห็นดังนั้น กลัวท่านจะเสียหน้า จึงได้ทำการล่าหมีแก่ ๆ ใกล้ตาย นำมาขึงไว้กับต้นไม้ เพื่อให้ท่านปลิดชีวิต และได้สัตว์ที่ล่ามากลับทำเนียบขาว

แต่ท่านได้ปฏิเสธ และลั่นวาจาว่า “สำหรับสุภาพบุรุษที่เปี่ยมเกียรติยศ เราไม่ทำแบบนั้นกับสัตว์ที่หายใจรวยริน หาได้เป็นการกีฬาไม่”

ด้วยการแสดงจิตใจสุภาพบุรุษนักกีฬาของท่าน ทำให้เป็นประเด็นบนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างรวดเร็ว 

โดยเฉพาะ คลิฟฟอร์ด แบร์รีแมน (Clifford K. Berryman) บรรณาธิการการ์ตูนของ “วอชิงตันโพสต์” ที่ได้วาดภาพจำลองเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งในภาพนั้น เป็นการตอกย้ำความเป็นสุภาพบุรุษนักกีฬาของรูสเวลต์อย่างถึงที่สุด คือท่านทำท่าทางปฏิเสธการฆ่าหมีอย่างแน่วแน่ ส่วนหมีที่ถูกผูกเชือกไว้อย่างทารุณ แสดงสีหน้าแววตาสิ้นหวัง

แต่ใครเลยจะรู้ ว่าการสร้าง “Contrast” ในองค์ประกอบของภาพนี้ จะมีผู้ที่เล็งเห็นว่าจะสร้าง “Impact” ในกับการขายสินค้าของตนได้

จากหมีจริงสู่หมีของเล่น

มอร์ริส มิชทอม (Morris Michtom) เจ้าของกิจการลูกกวาดในบรู๊คลิน มลรัฐนิวยอร์ค เป็นผู้ที่เล็งเห็น “ช่องทางทำกำไร” จากการเป็นประเด็นของรูสเวลต์นี้ ด้วยเหตุที่ว่า หมีที่ได้รับความเมตตา อาจทำให้ผู้คนติดใจสินค้าของเราได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

มิชทอมจึงได้มอบหมายให้ภรรยาของเขา “เย็บตุ๊กตา” ขึ้นมาจำนวนหนึ่ง โดยทำให้มีลักษณะใกล้เคียงกับ “หมีดำ” มิสซิสซิปปีให้มากที่สุด 

แต่หลังจากที่วางขายหน้าร้าน ก็เป็นไปตามที่มิชทอมคาด คือขายหมดอย่างรวดเร็ว ถึงขนาดที่เขาและภรรยาต้องขยายกิจการ โดยทำการเปิดโรงงานผลิตเป็นกิจจะลักษณะ 

และเขาได้ตั้งชื่อตุ๊กตาหมีนี้ว่า “หมีของเท็ดดี้” ตามชื่อเล่นของรูสเวลต์ ที่ชื่อว่า “เท็ดดี้” แต่ภายหลัง เพื่อการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด และเรียกง่ายมากขึ้น จึงตัดทอนเหลือเพียง “หมีเท็ดดี้” 

มิชทอมไม่ได้มีการจดลิขสิทธิ์การใช้ชื่อในผลิตภัณฑ์ของเขา ทำให้ในเวลาต่อมา เท็ดดี้แบร์ได้รับการนำไปใช้เป็นชื่อตุ๊กตาหมีทั่วทุกมุมโลก

ที่น่าสนใจ นั่นคือ หากผู้ใดมีชื่อว่าเท็ดดี้ มักจะได้รับการแซวว่าเป็น “หมี” ไปเสียอย่างนั้น 

อย่างกรณีของ เอ็ดเวิร์ด พอล เชอร์ริงแฮม (Edward Paul Sheringham) หรือที่รู้จักกันในนาม “เท็ดดี้ เชอร์ริงแฮม” ก็ได้รับการแซวว่าเป็น “น้าหมี” เลยทีเดียว

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล

แหล่งอ้างอิง

https://www.nps.gov/thrb/learn/historyculture/storyofteddybear.htm
https://carnegiemnh.org/history-of-teddy-bears/
https://www.smithsonianmag.com/history/history-teddy-bear-once-seen-dangerous-influence-young-children-180983234/

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง