TNN online "Robot" กว่าจะเป็นนวัตกรรมล้ำยุค จุดกำเนิดเกิดจาก "ด้านมืด" มาก่อน

TNN ONLINE

Tech

"Robot" กว่าจะเป็นนวัตกรรมล้ำยุค จุดกำเนิดเกิดจาก "ด้านมืด" มาก่อน

Robot กว่าจะเป็นนวัตกรรมล้ำยุค จุดกำเนิดเกิดจาก ด้านมืด มาก่อน

รากศัพท์ของคำว่า โรบ็อต (Robot) มาจากคำว่า โรโบตา (Robota) ในภาษาสโลวานิกของคริสตจักรเก่า ซึ่งมีความหมายถึง ทาส แรงงานที่ถูกบังคับ งานหนักและงานที่ต่ำต้อย

เรามักจะรู้สึกทึ่งกับความสามารถของหุ่นยนต์ (Robot) ที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดในแต่ละวัน จุดประกายความใคร่รู้ที่ว่าวันหนึ่งหุ่นยนต์เหล่านี้อาจจะเข้ามาแย่งงาน หรือบางทีอาจจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ในบางมิติด้วยซ้ำ แต่จะมีใครฉุกคิดไหมว่าคำว่า “โรบ็อต (Robot)” นั้นมีต้นกำเนิดมาจากไหน ขอบอกเลยว่ามันน่าสนใจและมืดมนกว่าที่คิดเชียวล่ะ


รากศัพท์ของคำว่าโรบ็อตมาจากคำว่า “โรบ็อตนิก (Robotnik)” ในภาษาเช็ก แต่หากสืบสาวเนิ่นนานไปกว่านั้นสักหน่อย จนถึงภาษาสโลวานิกของคริสตจักรเก่า (Old Church Slavonic) ซึ่งเป็นภาษาทางศาสนา มันจะเป็นคำว่า “โรโบตา (Robota)” แต่ต่อให้มีการแปรแปลงรูปศัพท์ไปนิดหน่อยแล้ว ทว่าความหมายของมันล้วนตรงกันคือสื่อถึง ทาส แรงงานที่ถูกบังคับ งานหนักและงานที่ต่ำต้อย ซึ่งคำว่า โรโบตา ก็มีต้นกำเนิดมาจากระบบทาสในยุโรปกลาง ที่ผู้เช่าต้องจ่ายค่าเช่าเป็นแรงงานหรือบริการ


คำว่าโรบ็อตถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในงานนวนิยายต้นฉบับจากประเทศเช็กเรื่อง R.U.R. หรือ Rossumovi Univerzální Roboti แปลตรงตัวคือ “หุ่นยนต์สากลของรอสซัม” นิยายเรื่องนี้เขียนโดยคาเรล ชาเปก (Karel Čapek) ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 1920 มันอธิบายถึงรูปแบบสิ่งมีชีวิตที่สร้างขึ้นโดยวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นทางชีววิทยา เคมี หรือฟิสิกส์ เพื่อให้ทำงานแทนมนุษย์ มันทำทุกอย่างได้เหมือนมนุษย์ไม่ผิดเพี้ยน ขาดอย่างเดียวคือไม่มีจิตวิญญาณ


ในต้นฉบับของชาเปก ตัวละครเอกของเรื่องที่ชื่อแฮร์รี่ โดมิน (Harry Domin) ได้อธิบายถึงโรบ็อตไว้ว่า “โรบ็อตไม่ใช่มนุษย์ โดยกลไกแล้วพวกมันสมบูรณ์แบบมากกว่าพวกเรา พวกมันมีสติปัญญาที่พัฒนากว่าเราอย่างมาก ทว่าพวกมันไม่มีจิตวิญญาณ”

Robot กว่าจะเป็นนวัตกรรมล้ำยุค จุดกำเนิดเกิดจาก ด้านมืด มาก่อน

ภาพจาก Wikipedia



หลังจาก R.U.R. เผยแพร่ มันก็ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้คน รวมถึงได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียนและศิลปินสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวกับ “โรบ็อต” ออกมาอีกมากมาย จนคำนี้กลายเป็นคำเรียกที่ได้รับการยอมรับของรูปแบบสิ่งมีชีวิตที่สร้างขึ้นจากวิทยาศาสตร์สืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นที่น่าสังเกตว่า แรกเริ่มชาเปกจะใช้คำว่า “Labori” ซึ่งเป็นรากศัพท์ภาษาละตินของคำว่า Labor (แรงงาน) แต่น้องชายของเขาทักว่ามันเป็นคำศัพท์ที่ดูวิชาการมากไปสักหน่อย เขาจึงเปลี่ยนมาใช้ Roboti แทน ซึ่งหากชาเปกไม่เปลี่ยนคำศัพท์นี้ ไม่แน่ว่าในปัจจุบัน เราอาจเรียกหุ่นยนต์ในภาษาอังกฤษว่าเลเบอร์อยู่ก็ได้


ทั้งนี้ในต้นฉบับของชาเปก ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่ได้ลุกขึ้นต่อต้านมนุษย์ผู้สร้าง ซึ่งความขัดแย้งแบบนี้ก็ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านงานบันเทิงคดีอีกหลายเรื่องในยุคต่อมา ทั้งแฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) ไอโรบ็อต (i, Robot) 2001 จอมจักรวาล (2001: A Space Odyssey) เป็นต้น ในแต่ละเรื่องหุ่นยนต์ล้วนต่อสู้เพื่อปลดแอกการกดขี่จากมนุษย์ ซึ่งก็สะท้อนตัวตนของศิลปินที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี 


ไม่เพียงการนำแนวคิดไปสร้างสรรค์งานศิลป์เท่านั้น นักประดิษฐ์ยังได้สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาจริง ๆ หุ่นยนต์รุ่นแรกสุดที่เป็นระบบดิจิทัลและสามารถตั้งโปรแกรมได้ สร้างขึ้นในปี 1954 โดยนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันชื่อ จอร์จ ซี ดีวอล (George C. Devol) เขาได้จดสิทธิบัตรหุ่นยนต์ที่ชื่อ อัลติเมต (Ultimate) และตั้งใจจะขายในแก่อุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ดีวอลหวัง แต่ก็ถือว่าได้วางรากฐานให้กับการประดิษฐ์และพัฒนาหุ่นยนต์ในยุคต่อ ๆ มา


ในปัจจุบันมีการพัฒนาด้านหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุดองค์การนาซา (NASA) ก็กำลังสนใจและใช้ความรู้ด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่สั่งสมมาหลายสิบปี ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์อย่างแอปโทรนิก (Apptronik) เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์รูปร่างคล้ายมนุษย์ที่ชื่ออะพอลโล (Apollo) โดยหวังที่จะให้อะพอลโลไปเป็นผู้ช่วยนักบินอวกาศ และปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งจุดประสงค์ก็ไม่ต่างจากตอนที่แนวคิดเรื่องหุ่นยนต์ถือกำเนิดมาเลยด้วยซ้ำ นั่นคือการเป็นผู้รับใช้ และให้ทำงานในด้าน (มืด) ที่มนุษย์ไม่ต้องการทำนั่นเอง


ที่มาข้อมูล Sciencefriday, Roboticsacademy, Factzpedia, Huffpost

ที่มารูปภาพ Wikimedia1, Wikipedia2

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง