สหรัฐอเมริกาใช้เงินเท่าไหร่ ? เพื่อส่งเครื่องบิน "B-2" บินข้ามโลกทิ้งระเบิดโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน

สหรัฐอเมริกาใช้เงินเท่าไหร่ ? เพื่อส่งเครื่องบิน "B-2" บินข้ามโลกทิ้งระเบิดโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน

สหรัฐอเมริกา เปิดปฏิบัติการฆ้อนแห่งรัตติกาล หรือ Operation Midnight Hammer เพื่อทำลายโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา และนี่คือปฏิบัติการ ที่มีต้นทุนสูงระดับหลักหมื่นล้านบาท และ TNN Tech จะเจาะลึกข้อมูลในปฏิบัติการนี้

สรุปข่าว

สหรัฐอเมริกา เปิดปฏิบัติการฆ้อนแห่งรัตติกาล หรือ Operation Midnight Hammer เพื่อทำลายโโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่มีต้นทุนสูงระดับหลักหมื่นล้านบาท

ภาพรวมปฏิบัติการทิ้งระเบิดโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน

โดยปฏิบัติการครั้งนี้ ทางสหรัฐฯ แถลงว่า ได้ใช้เครื่องบิน B-2 Spirit จำนวน 7 ลำ บินจากฐานทัพอากาศในสหรัฐฯ ไปทำภารกิจที่มีระยะทางมากกว่า 11,000 กิโลเมตร ทิ้งระเบิด GBU-57 MOP ที่ Fordow และ Natanz รวม 14 ลูก จากนั้นจึงกลับสหรัฐฯ ซึ่งตลอดระยะเวลาภารกิจ B-2 Spirit ได้รับการสนับสนุนการบินแบบต่อเนื่องโดยไม่แวะลงจอดที่ใด ด้วยเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง KC-135 กับ KC-46A รวมกันอีกไม่น้อยกว่า 24 ลำ 

ในขณะเดียวกัน เรือดำน้ำซึ่งตั้งอยู่ในเขตทะเลอาหรับก็ยิงจรวดร่อนโจมตีภาคพื้นดินแบบ Tomahawk อีก 30 ลูก ไปยังโรงงานที่ Natanz และ Isfahan โดยใช้เรือดำน้ำเพียงลำเดียวในการยิง

โดยสรุปแล้ว ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า ได้ใช้เครื่องบินทางการทหารทุกประเภทรวมกันกว่า 125 ลำ ระเบิด GBU-57 MOP จำนวน 14 ลูก เรือดำน้ำ 1 ลำ และจรวดร่อน Tomahawk อีก 30 ลูก เพื่อปฏิบัติการนี้ ซึ่งรายละเอียดสามารถรับชมได้จากบันทึกการถ่ายทอดสดของกระทรวงกลาโหมที่อยู่ด้านล่างนี้

ภาพประกอบแผนการปฏิบัติการ Midnight Hammer โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ



(รายละเอียดปฏิบัติการทั้งหมดติดตามได้ในข่าวของ TNN World)  

ค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเครื่องบินข้ามโลกทิ้งระเบิดโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน

คำถามสำคัญคือปฏิบัติการ Midnight Hammer มีค่าใช้จ่ายเท่าใด ซึ่งคำตอบที่แน่ชัดนั้นยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่หากประเมินจากข้อมูลที่เปิดเผยได้ของปฏิบัติการนี้จากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เอง ร่วมกันกับข้อมูลต้นทุนการบินกับอาวุธที่ใช้ซึ่งค้นหาได้จากข้อมูลสาธารณะ จะได้ภาพรวมของต้นทุนปฏิบัติการนี้โดยสังเขป ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ต้นทุนการทิ้งระเบิด ต้นทุนการบินคุ้มกัน และต้นทุนการโจมตีจากเรือดำน้ำ

ต้นทุนการทิ้งระเบิด

สำนักข่าวเวิลด์วัน นิวส์ (World is One News: WION) ของอินเดีย รายงานข้อมูลว่า ใน 1 ภารกิจของเครื่องบินทิ้งระเบิด Northrop B-2 Spirit จะมีค่าบำรุงรักษาตัวเครื่อง และค่าน้ำมัน ค่าแรงต่าง ๆ ซึ่งกรณีการบินไปตะวันออกกลาง อาจใช้เงินไม่น้อยกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าลำละ 130 ล้านบาท และในปฏิบัติการครั้งนี้ ใช้ B-2 Spirit ทั้งหมด 7 ลำ จึงอาจคิดคร่าว ๆ เป็นเงินราว 910 ล้านบาท

นอกจากนี้ ระเบิด GBU-57 MOP มีรายงานว่า แต่ละลูกมีราคา 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตามการแถลงข่าวฯ นั้นใช้ทั้งหมด 14 ลูก คิดคร่าว ๆ เป็นเงิน 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9,230 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ เฉพาะการทิ้งระเบิด หากใช้ข้อมูลที่ได้จากแหล่งข่าวต่าง ๆ ในเรื่องของงบประมาณการบิน ค่าบำรุงรักษาตัวเครื่อง และข้อมูลราคาของระเบิด ที่ได้จากการรายงานของสื่อในต่างประเทศก่อนหน้าปฏิบัติการนี้ จะพบว่าภารกิจนี้อาจจะใช้ต้นทุนประมาณ 10,140 ล้านบาท จากการบินของ Northrop B-2 Spirit และการทิ้งระเบิด GBU-57 MOP ทั้งหมด 14 ลูก

ต้นทุนการบินคุ้มกัน

แต่ในปฏิบัติการนี้ยังมีรายงานว่าใช้เครื่องบินขับไล่ขึ้นบินคุ้มกัน B-2 เป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าประกอบไปด้วยเครื่องบินครองอากาศยุคที่ 5 อย่าง F-22 Raptor รวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบพหุภารกิจล่องหน F-35 Lightning II และเครื่องบินขับไล่พหุภารกิจแบบ F-16 Fighting Falcon

F-22 Raptor แต่ละลำมีต้นทุนการบินประมาณชั่วโมงละ 85,000 ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเวลาที่ F-22 ขึ้นบินคุ้มกันไม่แน่ชัด แต่จากภาพสรุปภารกิจประกอบการแถลงข่าวของกลาโหมสหรัฐ ที่ระบุว่า ช่วงเวลา B-2 รวมตัวกับฝูงบินภายใต้การบัญชาการของ CENTCOM อยู่ที่ 17.00 น. และออกจากน่านฟ้าอิหร่านเวลา 19.30 น. ตามเวลา EDT ซึ่งควรเป็นช่วงที่มีการบินคุ้มกัน จึงคิดเป็นเวลาอย่างน้อย 2.5 ชั่วโมง หรือเป็นต้นทุนลำละ 212,500 ดอลลาร์สหรัฐ 

และสำนักข่าวออนไลน์ The Aviationist คาดว่าจะใช้ F-22 ทั้งหมดในภารกิจคุ้มกัน B-2 Spirit รวม 10 ลำ จึงคิดเป็นเงิน 2.125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 70 ล้านบาท

ส่วน F-35 มีต้นทุนการบินชั่วโมงละ 42,000 ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่ามีการใช้ F-35 อีก 12 ลำ คิดเป็นเงิน 1.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 41 ล้านบาท และด้าน F-16 แต่ละลำอาจมีต้นทุนสูงสุดชั่วโมงละ 27,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่ามีการใช้ F-16 อีก 12 ลำ หรือคิดเป็นเงิน 810,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 26.7 ล้านบาท

ด้วยเหุตนี้ เฉพาะส่วนต้นทุนในการบินคุ้มกันจาก F-22 Raptor รวมถึง F-35 Lightning II และ F-16 Fighting Falcon นั้นต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 137.7 ล้านบาท

ต้นทุนการโจมตีจากเรือดำน้ำ

แต่ภารกิจนี้ยังมีการใช้จรวดร่อนแบบ Tomahawk อีกกว่า 30 ลูก แต่ละลูกมีราคา 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 2,000 ล้านบาท

และจรวดเหล่านี้ ทางการสหรัฐฯ ระบุว่ายิงโดยเรือดำน้ำลำเดียว ซึ่งสำนักข่าวออนไลน์ The War Zone เชื่อว่า เป็นผลงานของเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สำหรับยิงจรวดร่อนชั้นโอไฮโอ (Ohio-class SSGN, guided missile submarine) ที่มีค่าใช้จ่ายปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตกวันละเกือบ 140,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 4.6 ล้านบาท

ภาพรวมต้นทุนทิ้งระเบิดโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน

ดังนั้น หากใช้ข้อมูลตั้งต้นจากหลากหลายแหล่งข่าวคำนวณตามที่กล่าวมา ในปฏิบัติการนี้อาจจะใช้ต้นทุนการทิ้งระเบิด ต้นทุนการบินคุ้มกัน และต้นทุนการโจมตีจากเรือดำน้ำ รวมแล้วไม่น้อยกว่า 12,280 ล้านบาท 

แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวเลขคาดการณ์จากข้อมูลสาธาณะที่คำนวณได้เท่านั้น และยังไม่รวมต้นทุนการบินของเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงที่ใช้ในปฏิบัติการนี้มากกว่า 24 ลำ และเครื่องบินอื่น ๆ อีกเกือบครึ่งหนึ่งจาก 125 ลำ ซึ่งยังคงเป็นปริศนาต่อไป

Thailand Web Stat
ข่าวเด่นวันนี้
Icon