TNN online เช็กอาการ "ปวดหัว" รุนแรง-เฉียบพลัน เสี่ยงเส้นเลือดสมองโป่งพอง

TNN ONLINE

สังคม

เช็กอาการ "ปวดหัว" รุนแรง-เฉียบพลัน เสี่ยงเส้นเลือดสมองโป่งพอง

เช็กอาการ ปวดหัว รุนแรง-เฉียบพลัน เสี่ยงเส้นเลือดสมองโป่งพอง

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือน ปวดหัวอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หากไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่ทันเวลาอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

วันนี้ (23 ส.ค.64) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เส้นเลือดสมองโป่งพองเป็นภาวะของผนังหลอดเลือดอ่อนแรงลงจึงเกิดอาการโป่งพอง เกิดได้ทั้งหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำ โดยส่วนมากที่พบมักจะเป็นหลอดเลือดแดง เมื่อเส้นเลือดโป่งพองถึงจุดหนึ่งก็จะมีการแตก ซึ่งทำให้เกิดภาวะที่สำคัญ คือ เลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นอะแร็คนอยด์ ซึ่งภาวะนี้เป็นอันตรายถึงพิการหรือนำไปสู่การเสียชีวิตได้

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เส้นเลือดสมองโป่งพองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบยังไม่แตก ทำให้อาการที่ไปกดทับเส้นประสาทข้างเคียง หรือมีขนาดใหญ่มากกว่า 2.5 เซนติเมตร อาจทำให้เกิดอาการชักหรืออ่อนแรงได้

2.เส้นเลือดสมองโป่งพองแบบแตกแล้ว เมื่อมีการแตกเลือดที่ออกมาจะทำให้ความดันในกะโหลกสูงขึ้น ถ้าร่างกายหยุดเลือดไม่ได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที แต่ถ้าเลือดหยุดได้ ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยเลือดออกในชั้นต่างๆของสมอง เช่น เลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นอะแร็คนอยด์ หรือเลือดออกในเนื้อสมอง เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดโรค เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิด หรือโรคทางพันธุกรรม เส้นเลือดแข็งตัวและเสื่อม ภาวะการติดเชื้อ หรือมีการอักเสบในร่างกาย เนื้องอกบางชนิด และอุบัติเหตุ เป็นต้น

อาการ ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงมักเป็นทันทีทันใด คลื่นไส้อาเจียน หมดสติ หรือเสียชีวิต การถูกกดทับเส้นประสาท เช่น คอแข็ง หรือปวดร้าวบริเวณใบหน้า การอุดตันของหลอดเลือด และอาการชัก

การวินิจฉัยโรคแพทย์ จะส่งตรวจดังนี้

1.เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง

2.การตรวจหลอดเลือดในสมอง ซึ่งจะมี 3 ทางเลือก เพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือด ได้แก่ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (CTA) ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับการฉีดสารทึบแสง (MRA) การฉีดสารทึบแสงเข้าทางเส้นเลือด

3.การเจาะหลังใช้เมื่อต้องการพิสูจน์ภาวะเลือดออกมาช่องใต้เยื่อหุ้มสมองอะแร็คนอยด์ กรณีที่มองไม่เห็นใน CT Scan แพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วยโดยการผ่าตัด และรังสีร่วมรักษาโดยอุดหลอดเลือด ในบางกรณีต้องใช้การรักษาทั้ง 2 แบบร่วมกัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการโตหรือแตกของเส้นเลือดโป่งพอง

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ และปัจจัยต่างๆที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบทั้งร่างกาย โรคเส้นเลือดสมองโป่งพองเป็นภัยเงียบที่ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือถ้ามีอาการผิดปกติ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงที่สุด อย่ารอช้า ควรรีบมาพบแพทย์โดยทันที.

เช็กอาการ ปวดหัว รุนแรง-เฉียบพลัน เสี่ยงเส้นเลือดสมองโป่งพอง

ข้อมูลจาก กรมการแพทย์


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง