TNN online “ปวดหัว” เพราะไม่ได้กินกาแฟ คือภาวะขาดคาเฟอีนเฉียบพลัน!

TNN ONLINE

Health

“ปวดหัว” เพราะไม่ได้กินกาแฟ คือภาวะขาดคาเฟอีนเฉียบพลัน!

“ปวดหัว” เพราะไม่ได้กินกาแฟ คือภาวะขาดคาเฟอีนเฉียบพลัน!

“กาแฟ” จัดเป็นเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม ที่คนนิยมดื่มให้ร่างกายตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า แต่ใครที่ดื่มเป็นประจำอาจเกิดภาวะติดกาแฟ ทำไม่สามารถหยุดดื่มหรือลดปริมาณลงได้ เนื่องจากจะมี “อาการปวดหัว” ซึ่งเป็นผลจากการขาดคาเฟอีนฉับพลัน

ในกาแฟที่เราดื่มเข้าไปทุกวันนั้น มีสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า คาเฟอีน (Caffeine) มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า รู้สึกตื่นตัว ภาวะการขาดคาเฟอีนอย่างเฉียบพลัน มักเกิดในช่วง 12-24 ชั่วโมงหลังการบริโภคครั้งสุดท้าย อาการจะรุนแรงที่สุดในช่วง 20-48 ชั่วโมง และอาการนี้อาจคงอยู่ภายใน 7 วันเลยทีเดียว


อาการที่พบบ่อยมากที่สุด คือ “ปวดศีรษะ” นอกจากนี้แล้ว อาจเกิดภาวะอ่อนเพลีย ง่วงซึม หดหู่ ไม่มีสมาธิได้ แต่หากร่างกายได้รับคาเฟอีนเข้าไปก็จะค่อยๆ ดีขึ้นภายในครึ่งชั่วโมง


สำหรับใครที่ดื่มกาแฟทุกวันจนเป็นนิสัย หรืออาจถึงขั้นติดบริโภคการแฟไปแล้ว หากต้องการงด ลด หรือเลิก ควรค่อยๆ ปรับลงปริมาณลง ในช่วงระยะเวลา 7-14 วัน เพื่อป้องกันอาการขาดคาเฟอีน โดยจำกัดปริมาณในการดื่ม เช่น การลดขนาดของถ้วยกาแฟ และจํากัดจํานวนครั้งในการดื่มต่อวัน หรืออาจเปลี่ยนไปใช้เครื่องดื่มชนิดอื่นซึ่งมีส่วนผสมของคาเฟอีนในปริมาณที่ต่ำกว่า เช่น ชา โกโก้ เครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น


ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ 1 แก้ว จะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของผงกาแฟที่ใช้ รูปแบบการชงและความนิยมในการบริโภค โดยทั่วไปในปริมาตร 1 แก้ว ขนาด 240-250 มิลลิลิตร จะมีคาเฟอีน 60-200 มิลลิกรัม 


ทั้งนี้ คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองให้ตื่นตัวและรู้สึกกระปรี้กระเปร่า จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 


นอกจากนี้ ในกาแฟมีสารพวกแอนติออกซิแดนต์หลายอย่าง สารเหล่านี้ลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงลดปฏิกิริยาการอักเสบ ลดการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง และช่วยให้กระบวนการใช้กลูโคสและไขมันเกิดได้ดี


อย่างไรก็ตาม ในด้านผลเสียกาแฟอาจเพิ่มความเสี่ยง ต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ซึ่งเป็นผลมาจากคาเฟอีนและสารกลุ่มไดเทอร์พีน โดยคาเฟอีนเพิ่มการทำงานของหัวใจและทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ 


ส่วนสารกลุ่มไดเทอร์พีน รบกวนระดับไขมันในเลือด การดื่มกาแฟปริมาณมากในคราวเดียว จึงอาจทำให้เกิดใจสั่น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วขณะ กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับ ที่สำคัญคาเฟอีนยังต้านฤทธิ์อินซูลินได้ จึงอาจรบกวนการคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานได้เช่นกัน



ที่มา: 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

- รศ.ดร.เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ข่าวแนะนำ